จินตนาการว่าคุณกำลังก้าวเข้าสู่โลกแห่งการลงทุน เป็นโลกที่เต็มไปด้วยหุ้นอายุหลายศตวรรษและสกุลเงินดิจิทัลอายุน้อยที่ล้ำสมัย และมันไม่มีสูตรลับสำหรับความสำเร็จ หากสูตรดังกล่าวมีอยู่จริง มันก็คงจะอยู่ในห้องใต้ดินของผู้บงการแห่ง Wall Street
สำหรับพวกเรานักลงทุน เรามีเครื่องมือและวิธีการที่หลากหลายอยู่ที่ปลายนิ้วสัมผัส เทคนิคเหล่านี้แบ่งออกเป็นสองเทคนิคหลักคือ การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis : FA) และการวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis :TA) วันนี้เราจะมาเรียนรู้การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานกัน
ไขปริศนาการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน
โดยพื้นฐานแล้ว การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเป็นเทคนิคที่นักลงทุนใช้ในการกำหนดมูลค่าโดยธรรมชาติของสินทรัพย์หรือบริษัท พวกเขาตรวจสอบปัจจัยทั้งภายในและภายนอกอย่างระมัดระวังเพื่อตัดสินใจว่าสินทรัพย์หรือธุรกิจมีราคาสูงเกินไปหรือต่ำเกินไป ข้อมูลที่รวบรวมได้จากวิธีนี้สามารถช่วยในการกำหนดกลยุทธ์ที่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลตอบแทนสูง
สมมุติว่าคุณสนใจบริษัทใดบริษัทหนึ่ง คุณจะเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์แง่มุมต่างๆ เช่น รายได้ของบริษัท, งบดุล, งบการเงิน และกระแสเงินสด เพื่อให้เข้าใจถึงสถานะทางการเงินของบริษัท จากนั้น คุณจะต้องออกมาดูภาพที่กว้างขึ้นด้วยการตรวจสอบตลาดหรืออุตสาหกรรมที่ดำเนินการอยู่ คำถามที่คุณอาจจะถาม ได้แก่ ใครคือคู่แข่ง, ลูกค้าเป้าหมาย และธุรกิจมันเติบโตหรือไม่? คุณสามารถขยายเลนส์ให้กว้างขึ้นเพื่อพิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น นโยบายของประเทศ, อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อ วิธีนี้เรียกว่าวิธีการจากล่างขึ้นบน
อีกทางหนึ่ง คุณอาจใช้วิธีจากบนลงล่าง โดยเริ่มจากมุมมองทางเศรษฐกิจแบบกว้างๆ แล้วจึงค่อยมองภาพให้แคบลง
เป้าหมายหลักของการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานคือการได้มาซึ่งราคาสินทรัพย์ที่คาดการณ์ไว้จากข้อมูล และเปรียบเทียบมันกับราคาปัจจุบัน หากราคาที่คำนวณได้ของคุณสูงกว่าราคาตลาด บริษัทอาจถูกประเมินมูลค่าต่ำเกินไป หากราคาที่คำนวณต่ำกว่าก็อาจหมายถึงบริษัทถูกประเมินมูลค่าสูงเกินไป ด้วยข้อมูลเหล่านี้ อาจช่วยให้คุณ สามารถตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาดว่าจะซื้อหรือขายหุ้นนั้นๆ
Fundamental analysis (FA) vs. technical analysis (TA)
สำหรับมือใหม่ในโลกของการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินดิจิทัล ฟอเร็กซ์ หรือตลาดหุ้น พวกเขามักจะไม่แน่ใจว่า พวกเขาควรเลือกใช้การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานหรือการวิเคราะห์ทางเทคนิคดี ทั้งสองสิ่งนี้เหมือนอยู่คนละขั้วกัน โดยแต่ละอันมีวิธีการและมีเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการลงทุน
โดยสรุป นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเชื่อว่าราคาหุ้นไม่ได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของมันเสมอไป ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยึดหลักการตัดสินใจลงทุนของพวกเขา ในทางกลับกัน นักวิเคราะห์ทางเทคนิคเชื่อว่าการเคลื่อนไหวของราคาในอดีต สามารถทำนายราคาในอนาคตได้ พวกเขามุ่งเน้นที่การอ่านกราฟ วิเคราะห์รูปแบบแท่งเทียน และสังเกตแนวโน้มของตลาด โดยมีเป้าหมายเพื่อระบุช่วงเวลาและจุดที่เหมาะสมในการเข้าลงทุน
ผู้สนับสนุนทฤษฎีสมมุติฐานตลาดที่มีประสิทธิภาพ (Efficient Market Hypothesis : EMH) ให้เหตุผลว่าเป็นไปไม่ได้ที่นักลงทุนจะเอาชนะตลาดได้อย่างต่อเนื่องโดยใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคเพียงอย่างเดียว
และพวกเขาเชื่อว่าตลาดการเงินนั้นได้สะท้อนข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับสินทรัพย์ รวมถึงข้อมูลในอดีตออกมาแล้ว และถึงแม้ว่า การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานจะสมบูรณ์แบบแค่ไหน พวกมันก็ไม่สามารถเอาชนะตลาดได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ความจริงก็คือไม่มีกลยุทธ์ใดที่เหนือกว่า ทั้งสองสามารถนำเสนอข้อมูลเชิงลึกอันมีค่าในด้านต่างๆ ของการลงทุน บางคนอาจชอบการวิเคราะห์ทางเทคนิค บางคนอาจจะชอบการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน หรือบางคนใช้ทั้งสองอย่างผสมกันเพื่อให้ได้มุมมองที่ครอบคลุม
รู้จักเครื่องมือในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน
การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานไม่ได้ขึ้นอยู่เครื่องมืออย่างกราฟราคา, แท่งเทียน, MACD หรือ RSI แต่จะใช้ข้อมูลบางอย่างอย่างในการวิเคราะห์แทน เช่น
- กำไรต่อหุ้น (Earnings per Share : EPS) : EPS เป็นตัววัตรประสิทธิภาพในการทำกำไรของบริษัท โดยแสดงให้เห็นว่าหุ้น 1 หุ้น ให้ผลกำไรเท่าไหร่ คำนวณโดยใช้สูตรง่ายๆคือ : (รายได้สุทธิ – เงินปันผลที่ต้องการ) / จำนวนหุ้น ธุรกิจที่มี EPS สูงหรือกำลังเติบโตมักจะดึงดูดนักลงทุนมากกว่า
- อัตราส่วนราคาต่อกำไร (Price-to-Earnings : P/E) : อัตราส่วนนี้มีไว้ใช้ประเมินบริษัทโดยเปรียบเทียบราคาหุ้นกับกำไรต่อหุ้น อัตราส่วนที่สูอาจบ่งบอกว่าหุ้นมีราคาสูงเกินไป ในขณะที่อัตราส่วนที่ต่ำอาจบ่งบอกว่าราคาหุ้นนั้นต่ำเกินไป จำเป็นต้องเปรียบเทียบอัตราส่วนนี้กับบริษัทอื่นที่ดำเนินธุรกิจคล้ายกันเพื่อการประเมินที่แม่นยำยิ่งขึ้น
- อัตราส่วนราคาต่อบัญชี (Price-to-Book : P/B) : อัตราส่วนใช้บอกว่านักลงทุนให้ความสำคัญกับบริษัทอย่างไรเมื่อเทียบกับมูลค่าตามบัญชี (สินทรัพย์หักด้วยหนี้สิน) อัตราส่วน P/B ที่สูงกว่า 1 อาจบอกเป็นนัยว่าตลาดกำลังประเมินมูลค่าธุรกิจนี้สูงเกินไป อาจเป็นเพราะประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่สำคัญที่ได้คาดการณ์ไว้ หากอัตราส่วนน้อยกว่า 1 ธุรกิจอาจถูกประเมินมูลค่าต่ำเกินไป
- อัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อการเติบโต (Price/Earnings-to-Growth : PEG) : อัตราส่วน PEG นั้นขยายอัตราส่วน P/E โดยรวมอัตราการเติบโตเข้าไปด้วย โดยทั่วไปแล้ว อัตราส่วน PEG ที่น้อยกว่า 1 จะบ่งชี้ถึงบริษัทที่ประเมินมูลค่าต่ำเกินไป ในขณะที่อัตราส่วนที่สูงกว่าอาจหมายถึงการประเมินมูลค่าที่สูงเกินไป
โปรดจำไว้ว่า ตัวเลขพวกนี้ไม่ควรใช้แยกกัน แต่ควรใช้ร่วมกันเพื่อความเข้าใจที่ครอบคลุมเกี่ยวกับศักยภาพของการลงทุน
การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานในโลกคริปโต
สำหรับมือใหม่ที่เข้ามาลงทุนในคริปโตเป็นครั้งแรก จำเป็นต้องเข้าใจแนวคิดต่างๆ ในโลกของสกุลเงินดิจิทัล เดี๋ยวเราจะมาสอนถึงวิธีการในวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของโลกคริปโตที่แตกต่างจากตลาดทางการเงินแบบอื่นกัน
- อัตราส่วนมูลค่าต่อธุรกรรมของเครือข่าย (Network Value-to-Transactions : NVT) : คิดว่าอัตราส่วน NVT เป็นเหมือน P/E ที่ใช้ในตลาดหุ้น คำนวณด้วยสูตร : มูลค่าเครือข่าย / ปริมาณธุรกรรมรายวัน โดยพื้นฐานแล้วมันพยายามที่จะบอกคุณว่าคุณได้รับผลตอบแทนเท่าไร
ตัวอย่างเช่น มี เหรียญ A และเหรียญ B ทั้งคู่มีมูลค่าตลาด 1,000,000 ดอลลาร์ แต่เหรียญ A มีปริมาณธุรกรรมรายวันอยู่ที่ 50,000 ดอลลาร์ ในขณะที่ปริมาณของเหรียญ B อยู่ที่ 10,000 ดอลลาร์เท่านั้น อัตราส่วน NVT ของเหรียญ A คือ 20 และ NVT ของเหรียญ B คือ 100 โดยทั่วไปอัตราส่วนที่ต่ำจะบ่งบอกถึงเหรียญดังกล่าวมีมูลค่าที่ต่ำไป ดังนั้นจากตัวอย่าง เหรียญ A น่าลงทุนกว่าเหรียญ B
- ที่อยู่กระเป๋าที่มีการใช้งานอยู่ (Active Addresses) : Active Addresses แสดงให้เห็นว่ามีผู้ที่ใช้แพลตฟอร์มหรือโปรเจกต์มากเพียงใด ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความนิยมของโปรเจกต์นั้นๆ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้อาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะมันสามารถถูกสร้างขึ้นมาได้ง่ายๆ
- จุดคุ้มทุนสำหรับการขุด (Price-to-Mining-Breakeven) : ตัวชี้วัดนี้ใช้สำหรับประเมินเหรียญแบบ Proof of Work จุดคุ้มทุนสำหรับการขุดจะพิจารณาต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการขุด – โดยพื้นฐานแล้วคือค่าไฟฟ้าและบรรดาอุปกรณ์ต่างๆ
สมมุติเหรียญ A และเหรียญ B อีกครั้ง แต่คราวนี้มีจุดคุ้มทุนที่ 10,000 ดอลลาร์ และราคาซื้อขายของเหรียญ A อยู่ที่ 5,000 ดอลลาร์ และเหรียญ B อยู่ที่ 20,000 ดอลลาร์ อัตราส่วนของพวกมันจะเท่ากับ 0.5 และ 2 ตามลำดับ อัตราส่วนที่ต่ำกว่า 1 หมายความว่านักขุดกำลังขาดทุน ในขณะที่อัตราส่วนที่มากกว่า 1 บอกว่านักขุดกำลังกำไร
- Whitepaper, ทีม และ Roadmap : ในส่วนนี้คุณจะต้องทำตัวเหมือนเป็นนักสืบมองหาโปรเจกต์น้ำดี การอ่าน Whitepaper สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโปรเจกต์นั้นๆ ได้ ประวัติของทีมงานสามารถบอกใบ้ถึงศักยภาพในการดำเนินการตามสัญญาที่ให้ไว้ และการตรวจสอบ Roadmap จะช่วยให้คุณเห็นว่าโปรเจกต์มีความคืบหน้าตามแผนที่วางเอาไว้หรือไม่
ข้อดีและข้อเสียของการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน
เช่นเดียวกับทุกสิ่ง การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อดี : เป็นวิธีการที่เข้มงวดในการเจาะลึกคุณภาพและธุรกิจหรือโปรเจกต์นั้นๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถหาได้จากการวิเคราะห์ทางเทคนิค ทุกคนสามารถทำการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานโดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่ และมันสามารถเป็นรากฐานที่เชื่อถือได้สำหรับการประเมินมูลค่าสินทรัพย์
ข้อเสีย : แม้ว่าการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานจะทำได้ง่าย แต่การทำได้ดีนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การพิจารณาข้อมูลและปัจจัยหลายด้านอาจใช้เวลานาน และอาจไม่เหมาะสำหรับการเทรดระยะสั้น นอกจากนี้ ในบางครั้ง อาจจะพลาดโอกาสดีๆ ที่การวิเคราะห์ทางเทคนิคแสดงออกมา และโปรดจำไว้ว่าแม้ว่าสกุลเงินดิจิทัลจะดูมีมูลค่าต่ำ แต่ก็ไม่รับประกันว่ามันจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอนาคต
การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเป็นกลยุทธ์ที่ต้องใช้เวลา และนักลงทุนประสบความสำเร็จไว้วางใจ ช่วยให้นักลงทุนประเมินมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น สกุลเงินดิจิตอล และสินทรัพย์อื่นๆ ได้ การใช้ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ทางเทคนิค สามารถมีความเข้าใจอย่างรอบด้านเกี่ยวกับสินทรัพย์ที่มีศักยภาพในการทำกำไร
แต่โปรดจำไว้ว่า ในโลกที่กำลังเติบโตของสกุลเงินดิจิทัล การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานอาจไม่สร้างผลกำไรให้กับเราเสมอไป การวิเคราะห์ด้วยตัวเอง และมีกลยุทธ์การจัดการความเสี่ยงที่มั่นคงเป็นสิ่งสำคัญเสมอ
Reference : Binance