การหลอกลวงทางโทรศัพท์มีมากมายหลายรูปแบบ ที่ตกเป็นข่าวบ่อย ๆ ก็คือแก๊ง Call Center หรือที่ไม่เป็นข่าวแต่มาเกือบทุกวันอย่างไปรษณีย์ไทย ซึ่งถึงจะมาบ่อยและเป็นข่าวอยู่เป็นระยะ แต่ก็ยังมีผู้หลงเชื่ออยู่เรื่อย ๆ
แล้วทำไมเราถึงตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงทางโทรศัพท์นี้ล่ะ?
งานวิจัยทางจิตวิทยาที่วิเคราะห์การหลอกลวงทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตมากกว่า 580 ประเภท ชี้ว่ามิจฉาชีพมักใช้เทคนิคจิตวิทยาการโน้มน้าว 2 ประเภทหลัก ๆ คือ การอ้างอำนาจ (authority) และการกดดันโดยการจำกัดเวลาหรือจำนวนรางวัลตอบแทน (scarcity)
การอ้างอำนาจก็เช่น การบอกว่าตัวเองเป็นตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ บอกว่ามาจากองค์กรหรือหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้เหยื่อรู้สึกไว้วางใจ ส่วน scarcity ทำไปเพื่อสร้างแรงกดดันทางจิตใจให้เหยื่อต้องรีบตัดสินใจโดยปราศจากการคิดอย่างรอบคอบ
นอกจากนี้ ยังมีการหลอกลวงแบบอื่น ๆ เช่น การบอกว่าจะแจกของ แลกกับการที่เราต้องส่งข้อมูลส่วนตัวบางอย่างให้ ซึ่งเป็นการหลอกลวงโดยอาศัยความโลภของเหยื่อเป็นหลัก
รูปแบบของการหลอกลวงทางโทรศัพท์ที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง ได้แก่
- ไปรษณีย์ไทย: การหลอกว่ามีพัสดุหรือเอกสารสำคัญจากไปรษณีย์ไทย
- บัญชีม้า: การอ้างว่ามีการใช้บัญชีธนาคารของคุณเพื่อกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย
- Tiktok: อ้างว่าโทรมาจาก Tiktok ทำทีเสนองานพิเศษให้
- แจกของ ต้องเข้ากลุ่ม: การเชิญชวนเข้ากลุ่มเพื่อรับของฟรีที่อาจไม่มีจริง
- ปล่อยกู้: การนำเสนอข้อเสนอสินเชื่อที่ดูดีเกินจริง
- ชวนไปตรวจสุขภาพฟรี: อาจเป็นการหลอกลวงเพื่อเก็บข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลทางการเงิน
- นี่เราเอง: การอ้างว่าเป็นคนรู้จักหรือญาติเพื่อขอเงินหรือข้อมูล
ซึ่งหากแบ่งประเภทจะได้ว่า ไปรษณีย์ไทย กับบัญชีม้า จะจัดอยู่ในประเภทการอ้างอำนาจ ส่วน Tiktok แจกของ ปล่อยกู้ ตรวจสุขภาพฟรี เหล่านี้จะใช้ความโลภของเหยื่อรวมกับ scarcity เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ
ส่วน “นี่เราเอง” เป็นการหลอกลวงว่าเป็นคนรู้จัก อาศัยความสนิท ไม่ได้คิดอะไรของเหยื่อ คล้ายกับการแฮ็กบัญชีโซเชียลต่าง ๆ และทักไปขอยืมเงินคนรู้จัก เพียงแต่อันนี้จะง่ายกว่าเพราะแค่สุ่มโทรไปเบอร์มั่ว ๆ แล้วก็ด้นสดเอาเลย
แล้วเราจะป้องกันตัวอย่างไร
เนื่องจากบางคนอาจจะไม่เคยเจอการหลอกลวงทางโทรศัพท์บางอย่าง หรืออาจแค่เห็นตามข่าว เราจึงขอบอกรายละเอียดคร่าว ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่พี่มิจฯ จะทำ พร้อมวิธีป้องกันตัวอย่างง่าย ๆ ให้
ไปรษณีย์ไทย:
- สถานการณ์ การฉ้อโกงที่เก่าแก่และยังอยู่มาถึงปัจจุบัน เมื่อก่อนยังมีตั้งแต่เบอร์ธรรมดา จนล่าสุดกลายเป็นเบอร์แปลก ๆ ยาวเกิน 10 หลักเข้าไปแล้ว โดยจะเป็นเสียงอัตโนมัติโทรมาบอกว่า “ไปรษณีย์ไทย คุณมีพัสดุตกค้าง กด 9 เพื่อคุยกับพนักงาน”
- วิธีป้องกัน กดตัดสายทันที เนื่องจากทางไปรษณีย์ไทยเคยออกมาระบุว่า จะไม่มีการโทรแจ้งแล้วให้กด 9 แบบที่พี่มิจฯ ทำ
บัญชีม้า:
- สถานการณ์ เริ่มจากแนะนำตัวว่าโทรมาจากธนาคาร xxx มีคนใช้ใบมอบอำนาจจากเราไปเบิกเงินที่ธนาคาร มักจะเป็นเงินจำนวนมาก และเป็นต่างสาขา อาจมีการบอกเลขบัญชีมั่ว ๆ ขึ้นมา และเริ่มขู่เราว่าอาจมีคนเอาข้อมูลเราไปเปิดบัญชีม้า และเราต้องรีบแจ้งตำรวจ ไม่เช่นนั้นเราจะเป็นฝ่ายเดือนร้อน
*หมายเหตุ การฉ้อโกงวิธีนี้อาจมีการเตรียมการเป็นเวลานาน ด้วยการให้คนโทรมาก่อน 1 ครั้ง โดยบอกว่าโทรมาจากธนาคาร xxx เป็นการตรวจสอบเบื้องต้นว่าเหยื่อมีบัญชีธนาคารดังกล่าวหรือไม่ และข้อมูลถูกต้องหรือเปล่า
- วิธีป้องกัน ตั้งสติและตรวจสอบข้อมูล ว่าเรามีบัญชีธนาคารที่ระบุจริงมั้ย และที่สำคัญ พึงนึกไว้เสมอว่าทางธนาคารต่าง ๆ ไม่มีนโยบายให้พนักงานโทรติดต่อลูกค้าเพื่อแจ้งหรือขอข้อมูลสำคัญทางโทรศัพท์ (เราสามารถเช็กเบื้องต้นใน google ได้ว่าเป็นเบอร์มิจฉาชีพรึเปล่า)
การหลอกลวง Tiktok:
- สถานการณ์ โทรมาบอกว่าติดต่อมาจาก Tiktok มีงานพิเศษให้ทำ และมักจะจบลงที่บอกให้แอดไลน์เพื่อเข้ากลุ่ม
- วิธีป้องกัน ปฏิเสธและตัดสายทันที
แจกของ ต้องเข้ากลุ่ม:
- สถานการณ์ จะมีการโทรมาเสนอของรางวัลหรือสิทธิพิเศษ โดยเชิญชวนให้เพิ่มเพื่อนในไลน์และทำตามขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งมักจะมีการให้กดติดตามเพจหรือกลุ่มเฉพาะเพื่อได้รับของรางวัล บางครั้งยังรวมถึงการขอที่อยู่สำหรับจัดส่งของรางวัล
- วิธีป้องกัน ควรปฏิเสธและตัดสายทันที หากไม่เพิ่มเพื่อนหรือตอบรับ มิจฉาชีพจะพยายามติดต่อมาซ้ำ ๆ และหากตกลงเพิ่มเพื่อนแล้วทำตามขั้นตอนที่บอก ก็มักจะโทรมาเร่งให้ทำขั้นตอนต่อไป
ปล่อยกู้:
- สถานการณ์ จะมีคนโทรมาถามว่าเราต้องการกู้เงินหรือไม่ บางครั้งอาจอ้างชื่อบริษัทหรือหน่วยงานที่มีตัวตนจริงและน่าเชื่อถือ
- วิธีป้องกัน กดตัดสายทันที ไม่ว่าคุณจะกำลังต้องการกู้เงินอยู่หรือไม่ การกู้เงินกับอีกฝ่ายที่เป็นใครโทรจากไหนไม่รู้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรกระทำอยู่ดี
ชวนไปตรวจสุขภาพฟรี :
- สถานการณ์ มักจะอ้างว่าเป็นการทำโครงการร่วมกับโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยเราเป็นผู้ได้รับเลือกให้เข้ารับการตรวจสุขภาพฟรี และหากเรายอมไปตามนัด เราก็จะได้ตรวจจริงๆ แต่เป็นการตรวจด้วยการเจาะเลือด และบอกว่าเราเป็นหรือมีแนวโน้มจะเป็นโรคต่าง ๆ พร้อมเสนอคอร์สรักษาด้วยวิธี Chelation มาให้เรา
- วิธีป้องกัน ปฏิเสธอย่างจริงจังเท่านั้น
นี่เราเอง:
- สถานการณ์ เป็นการหลอกลวงที่เหมือนจะมีแต่ในการ์ตูน โดยผู้ที่โทรมาจะเริ่มจากบอกว่า “นี่เราเองนะ พอดีเพิ่งเปลี่ยนเบอร์ เลยโทรมาบอก” … ว่าแต่เราไหนล่ะ? ซึ่งบทสนทนาก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ อ้างตัวเป็นคนรู้จัก แต่ไม่ยอมบอกชื่อตัวเอง ทำทีว่าลำบากและขอยืมเงิน
- วิธีป้องกัน ถ้าเจอเบอร์ไม่คุ้น เสียงไม่คุ้น ให้สงสัยไว้ก่อน ยิ่งถ้าเปิดมาแบบ “นี่เราเอง” ก็ตีเป็นพี่มิจฯ ไปก่อนเลย
จะเห็นได้ว่า วิธีแก้ส่วนใหญ่ที่แนะนำคงเป็นการ ตัดสายไปเลย เพราะอีกฝ่ายที่โทรมาก็ไม่ได้รู้จักทั้งชื่อทั้งหน้าเราด้วยซ้ำ ดังนั้นถ้าสงสัยหรือไม่สบายใจให้ตัดสายไปก่อน แล้วค่อยเอาเบอร์ไปเช็กใน google ว่าเป็นเบอร์จากไหน เพราะถ้าเป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ เค้าก็จะโทรกลับมาอีก หรือเราโทรกลับไปเค้าก็รับสายอยู่ดี
Reference: psy.chula