ลองนึกภาพถึงโลกที่หมุนรอบการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน และผลิตสินค้า โลกนี้เรียกว่าเศรษฐกิจ เป็นระบบสำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชิวิตเรา ตั้งแต่การซื้อขนมยี่ห้อโปรด ไปจนถึงการชำระค่าสมัครสมาชิก Netflix รายเดือน
เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจ อาจหมายถึงพื้นที่ของการผลิต บริโภค และค้าขาย วันนี้เราจะมาเจาะลึกถึงสาระสำคัญของสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจทำงานได้ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากแบบจำลองของ Ray Dalio
ใครเป็นคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ?
ตัวคุณเอง เพื่อน พ่อแม่ เจ้าของร้านตามสั่ง ไปจนถึงรัฐบาล เราทุกคนต่างมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจ สิ่งนี้เกิดขึ้นทุกวันเมื่อเราซื้อของ และขายอง กิจกรรมเหล่านี้ครอบคลุมสามภาคส่วนหลัก
ภาคส่วนแรกคือ การหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่นการขุดทอง หรือการตัดไม้ วัตถุดิบพวกนี้จะย้ายไปยังภาคส่วนที่สอง ที่จะเปลี่ยนให้มันเป็นผลิตภัณฑ์ และภาคส่วนสุดท้าย ที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาหรือการจัดส่งสินค้า
ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังเพิ่มสองภาคส่วนให้กับโมเดลนี้ เพื่อแยกความแตกต่างที่เกิดขึ้นภายในภาคส่วนที่สาม
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเศรษฐกิจกำลังไปได้ดี ?
สุขภาพของเศรษฐกิจวัดได้จากเกณฑ์มาตรฐานที่เรียกว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) โดยจะคำนวณมูลค่ารวมของสินค้าและบริการที่ประเทศผลิตได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด
GDP ที่เพิ่มขึ้น บอกถึงการผลิต รายได้ และการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ GDP ที่ลดลง หมายถึงการชะลอตัวของกิจกรรมเหล่านี้ จำเอาไว้ว่า GDP ยังพิจารณาได้ถึงอัตราเงินเฟ้อ และเป็นสิ่งที่ใช้กันทั่วโลก เป็นมาตรวัดความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจของประเทศ
เครดิต หนี้ และอัตราดอกเบี้ย
ผู้ให้กู้และผู้กู้
ลองนึกภาพว่า คุณมีเงินสดอยู่กองใหญ่ที่ไม่ได้ใช้งาน คุณสามารถให้คนที่ต้องการยืม เช่น คนที่ต้องการซื้อเครื่องมือไปเปิดธุรกิจ เมื่อธุรกิจของพวกเขาเริ่มต้นขึ้น พวกเขาจะจ่ายเงินคืนให้คุณ
และเพื่อทำให้ข้อตกลงน่าสนใจมากขึ้น คุณต้องคิดค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ยในการให้ยืมเงินของคุณ ดังนั้น หากคุณให้ยืมเงิน $100,000 โดยมีอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน คุณจะได้รับเงิน $1,000 ทุกเดือนจนกว่าลูกหนี้จะชำระเงินกู้คืนให้กับคุณ ข้อตกลงที่คาดว่าคุณจะได้รับเงินคุณ ทำให้คุณสร้าง “เครดิต” หรือสินเชื่อให้กับตัวคุณเอง
แต่เครดิตก็มาพร้อมกับหนี้ ในฐานะผู้ให้กู้ เงินเป็นหนี้คุณ และในฐานะผู้ยืม คุณเป็นหนี้เงิน หนี้นี้จะหายไปเมื่อคุณชำระเงินกู้คืนพร้อมดอกเบี้ย
ธนาคารและอัตราดอกเบี้ย
ธนาคารเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปล่อยสินเชื่อ พวกเขาทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ให้กู้ และผู้กู้ จำเอาไว้ว่า ธนาคารเอาเงินที่เราฝากไว้ไปให้คนอื่นยืม
ธนาคารไม่ได้เก็บเงินที่เราฝากไว้ทั้งหมดไว้ในตู้เซฟ แต่พวกเขาใช้ระบบที่เรียกว่า ระบบเงินทุนสำรองเศษศ่วน (fractional reserve system) คือการที่พวกเขาเก็บเงินที่เราฝากไว้เพียงส่วนหนึ่ง และเอาส่วนที่เหลือไปลงทุนเพื่อให้เกิดผลกำไร การที่ธนาคารทำแบบนี้เพราะว่า สถานการณ์ที่ทุกคนจะมาถอนเงินพร้อมกันนั้นหายาก ทำให้พวกเขาสามารถนำเงินไปใช้ก่อนได้ เก็บไว้บางส่วนให้ถอนได้ก็พอ ยังไงพวกเราก็คงไม่มาถอนเงินพร้อมกันหมดหรอก แต่สิ่งนี้อาจนำไปสู่วิกฤตธนาคารได้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ
ธนาคารดึงดูดผู้คนให้มาฝากเงินด้วยอัตราดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยที่สูงจะดึงดูดให้ผู้คนฝากเงิน ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจะดึงดูดผู้กู้เงิน
ความสำคัญของสินเชื่อ
เครดิตทำหน้าที่เป็นน้ำมันหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ ช่วยให้บุคล ธุรกิจ และรัฐบาลสามารถใช้จ่ายเงินที่พวกเขาไม่มีได้ทันที การใช้จ่ายที่มากขึ้นอาจเป็นสัญญาณของเศรษฐกิจที่เฟื่องฟู ซึ่งนำไปสู่รายได้ที่มากขึ้น ซึ่งทำให้ธนาคารออกสินเชื่อได้มากขึ้น วัฏจักรของรายได้ เครดิต และการใช้จ่ายพวกนี้ก็จะดำเนินต่อไป
อย่างไรก็ตาม มันไม่ใช่ว่าวงจรเหล่านี้จะไม่มีที่สิ้นสุด การยืมเงินในวันนี้ หมายความว่าคุณเป็นหนี้ในวันพรุ่งนี้ ดังนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่ง คุณต้องลดการใช้จ่ายเพื่อชำระหนี้
Ray Dalio อธิบายแนวคิดนี้ว่าเป็นวงจรหนี้ระยะสั้น เขาประเมินว่ารูปแบบเหล่านี้จะเกิดขึ้นซ้ำๆ กันในช่วง 5-8 ปี ในชั้นต้น เครดิตหรือสินเชื่อช่วยให้รายได้เติบโต นำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ในที่สุดการเติบโตนี้ก็จะหยุดชะงัก ซึ่งนำไปสู่การหดตัวทางเศรษฐกิจ การออกสินเชื่อเริ่มน้อยลง การกู้ยืมยากขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นก็คืบคลานเข้ามา ทำให้รัฐบาลต้องเข้ามาแทรกซง
ธนาคารกลาง เงินเฟ้อ และเงินฝืด
เงินเฟ้อ
คุณเคยสังเกตไหมว่าราคาของอาหารตามสั่งค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทีละน้อย นั้นไม่ใช่เพราะเขาให้ปริมาณอาหารเพิ่มขึ้น แต่มันเป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า เงินเฟ้อ (Inflation) และมันทำให้เงินของคุณ มีมูลค่าน้อยลงเรื่อยๆ
ลองนึกภาพว่าถ้าจู่ๆ พวกเราทุกคนมีเงินกองโต (ในรูปแบบหนี้จากเครดิตหรือสินเชื่อ) มันจะเกิดอะไรขึ้น ? แน่นอน เราต้องออกไปใช้เงินซื้อของที่เราใฝ่ฝันอยากจะมี อาจจะดูเหมือนว่าดีใช่มั้ย ? ในขณะที่กำลังในการใช้จ่ายของเราเพิ่มขึ้น แต่จำนวนอาหารตามสั่ง เสื้อผ้า หรือบรรดาสินค้าในตลาดกลับไม่เพิ่มขึ้นตามมา นั้นหมายความว่าเรามีของเท่าเดิม แต่มีเงินจำนานมากขึ้นในการซื้อมัน ความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานนี้นำไปสู่อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งราคาสินค้าก็จะสูงขึ้น นักเศรษฐศาสตร์ใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index : CPI) เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคา
ธนาคารกลาง
จนถึงตรงนี้ เรามัวแต่พูดถึงธนาคารที่เป็นธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเราใช้บริการกันทุกวัน แต่มันมีอีกธนาคารหนึ่ง ที่เรียกว่า ธนาคารกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย และหน้าที่ของพวกเขาคือการจัดการเรื่องเงินของประเทศ
เครื่องมือหนึ่งที่พวกเขาใช้ในการจัดการเรื่องเงินของประเทศคือ อำนาจในการควบคุมอัตราดอกเบี้ย เมื่อเงินเฟ้อพุ่งสูงเกินไป ธนาคารกลางจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้น สิ่งนี้ทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมเงินมีราคาแพงขึ้น (เพราะเราต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น) ดังนั้นผู้คนจะยืมเงินน้อยลง และใช้จ่ายน้อยลง ทำให้อุปสงค์ลดลง และอัตราเงินเฟ้อก็จะลดลงในที่สุด
ในปัจจุบัน โลกเศรษฐกิจที่สมบูรณ์แบบ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทำให้ราคาสินค้าถูกลงเนื่องจากอุปสงค์น้อยลง อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งนี้อาจทำให้เกิดภาวะเงินฝืด ซึ่งก็เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจเหมือนกัน
เงินฝืด
หากภาวะเงินเฟ้อเกี่ยวกับราคาสินค้าที่สูงขึ้น ภาวะเงินฝืดก็จะตรงข้ามกัน ในช่วงนี้ราคาของสินค้าลดลง โดยปกติแล้วเป็นเพราะผู้คนใช้จ่ายน้อยลง การใช้จ่ายที่น้อยลงอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
แล้วเราจะจัดการกับภาวะเงินฝืดได้อย่างไร ? โดยทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราทำกับภาวะเงินเฟ้อ นั้นคือ การลดอัตราดอกเบี้ย ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง จะสนับสนุนให้ผู้คนใช้จ่ายและกู้ยืมเงินกันมากขึ้น
จะเกิดอะไรถ้าเศรษฐกิจเกิดฟองสบู่แตกขึ้นมา ?
ทีนี้มาดูเรื่องของสินเชื่อหรือเครดิตกันสักหน่อย ในแบบจำลองของ Ray Dalio มีวงจรหนี้ระยะสั้นและระยะยาว เมื่อเวลาผ่านไป ความพร้อมใช้งานของสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น และลดลงในรูปแบบต่างๆ โดยแต่ละรอบจะจบลงด้วยหนี้ที่มากกว่าเดิมเล็กน้อย แล้วในที่สุด จำนวนหนี้ที่มากเกินไปจะทำให้เกิดการกระบวนการลดภาระหนี้สินในระบบ ที่เรียกว่า Deleveraging
เมื่อการลดอัตราหนีสิ้นเริ่มต้นขึ้น รายได้ของผู้คนจะลดลง และเครดิตจะเริ่มขาดแคลน ผู้คนเริ่มขายสินทรัพย์เพื่อชำระหนี้ แต่เมื่อทุกคนขาย ราคาของมันก็ลดต่ำลง (เพราะมีแต่คนขาย ไม่มีคนซื้อ)
ในสถานการณ์นี้ หากอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่จุดต่ำสุดแล้ว ธนาครกลางไม่สามาถลดดอกเบี้ยได้อีกต่อไป อีกทางออกหนึ่งคือ การลดค่าใช้จ่ายและการปลดหนี้ แต่สิ่งนี้ก็มีผลตามมาเช่นกัน การใช้จ่ายที่ลดลงหมายถึงกำไรที่ลดลงสำหรับภาคธุรกิจ นำไปสู่การเลิกจ้างงาน ทำให้อัตราว่างงานสูงขึ้น
แล้วตอนนี้เป็นไง ? ธนาคารกลางสามารถเริ่มพิมพ์เงินออกมาได้ และจะใช้เงินจำนวนนี้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ถ้าจำกันได้ก่อนหน้านี้ที่เราพูดถึงเงินเฟ้อ ใช่แล้ว การสร้างเงินออกมาจากอากาศอาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ และในกรณีที่รุนแรงมาก อาจเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ทำให้สกุลเงินนั้นไร้ค่าในท้ายที่สุด
ดังนั้น ในโลกอันกว้างใหญ่ของเศรษฐกิจ เราได้เห็นแล้วว่าเครดิตสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตหรือตกต่ำได้อย่างไร อัตราดอกเบี้ยมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเรา ถ้าอัตราดอกเบี้ยสูง เราก็จะประหยัด และถ้าอัตราดอกเบี้ยต่ำ เราก็จะอยากที่จะใช้เงิน
เศรษฐกิจเหมือนเครื่องจักรขนาดยักษ์ที่สลับซับซ้อน แต่เมื่อเราลองมองดูดีๆ เราจะได้เห็นรูปแบบซ้ำๆ เมื่อผู้คนแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน สถานการณ์ระหว่างผู้ให้กู้และผู้กู้ บทบาทของเครดิตและหนี้ และขั้นตอนที่ธนาคารกลางดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดหายนะ แม้ว่าในตอนแรกอาจจะรู้สึกงงเล็กน้อย แต่การทำความเข้าใจหลักการทางเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ จะช่วยให้คุณตัดสินใจทางการเงินได้ดีขึ้น
ดังนั้น ครั้งต่อไปที่คุณสังเกตเห็นว่าราคาอาหารตามสั่งของป้าร้านประจำเพิ่มขึ้น คุณก็รู้แล้วว่ามันเพราะว่าอะไร
Reference : Binance