ย้อนดูประวัติศาสตร์ของ Metaverse และบทบาทของคริปโต
เราคงเคยได้ยินคำว่า Metaverse ผ่านหูผ่านตากันมาบ้างอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ แต่ แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมันมีมาตั้งแต่ช่วงยุค 90 แล้ว โดยส่วนใหญ่มักจะตามหนังสือหรือนิยายวิทยาศาสตร์
แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของเรา ทำให้ Metaverse ได้รับความสนใจมากขึ้น ผู้คนต่างตระหนักว่าสิ่งนี้สามารถเปลี่ยนวิธีการเข้าสังคมและการทำธุรกิจออนไลน์ของเราได้
แล้ว Metaverse จริงๆ มันคืออะไร ?
คุณอาจจะสงสัยว่าแล้วไอคำเท่ๆ อย่าง Metaverse นี้มันหมายถึงอะไรกันแน่ ลองคิดว่ามันเป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกดิจิทัลกับโลกแห่งความเป็นจริง ทำให้ประสบการณ์บนโลกออนไลน์ดูเกือบจะเหมือนของจริง ด้วยส่วนผสมของเทคโนโลยีต่างๆ เช่น อินเตอร์เน็ต,Virtual Reality (VR), Augmented Reality (AR), Artificial Intelligence (AI), เทคโนโลยี 3D และ IoT ทั้งหมดนี้ต่างมีส่วนที่ทำให้โลกดิจิทัลสมจริงมากยิ่งขึ้น
ในนิยายวิทยาศาสตร์ Metaverse มักจะเป็นโลกเสมือนจริงที่ดูสมบูรณ์แบบ เราเริ่มเห็นว่าแนวคิดนี้สามารถเกิดขึ้นจริงได้ ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัล ความก้าวหน้าของ Web3 ได้กระะตุ้นให้นักพัฒนาสร้าง dApps ที่ให้ความรู้สึกเหมือน Metaverse เล็กน้อย เกมอย่าง The SANDBOX และ Decentraland กำลังเริ่มทำให้เส้นแบ่งระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือนจริงค่อยๆ จางหายไป
ย้อนประวัติการเดินทางของ Metaverse
เป็นที่รู้กันว่า Metaverse ถูกพูดถึงในวงกว้างตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 1990 ลองมาทบทวนกันดูว่ามันผ่านอะไรมาบ้าง
ปี 1838 : เซอร์ Charles Wheatstone เปิดตัวแนวคิดของ “การมองเห็นด้วยสองตา” ซึ่งช่วยในการสร้างภาพ 3 มิติ นี่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่สำคัญของเทคโนโลยี VR
ปี 1935 : หนังสือ “Pygmalion’s Spectacles” ของ Stanley Weinbaum บอกใบ้ถึงศักยภาพของ VR ว่าตัวละครจะสามารถสัมผัสกับโลกเสมือนผ่านแว่นตาแบบพิเศษ
ปี 1938 : Antoine Artaud นักเขียนชาวฝรั่งเศสใช้คำว่า “Virtual Reality” เป็นครั้งแรก โดยนำเสนอว่าโรงละครหรือโรงหนัง สามารถสร้างโลกใบอื่นๆ ได้อย่างไร
ปี 1962 : ผู้กำกับหนังชาวอเมริกัน Morton Heilig ออกแบบอุปกรณ์ที่สร้างภาพลวงตาของการขี่มอเตอร์ไซค์ในสถานที่อื่น นับเป็นความพยายามในช่วงแรกของ VR
ปี 1984 : Jaron Lanier และ Thomas G. Zimmerman เปิดบริษัทแรกๆ ที่สร้างและขายผลิตภัณฑ์ VR
ปี 1989 : Tim Berners-Lee นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษเสนอแนวคิดของ World Wide Web (WWW) ซึ่งเป็นแนวคิดของเครื่องมือที่ใช้ในการแบ่งปันข้อมูลทั่วโลก
ปี 1992 : คำว่า “Metaverse” ปรากฏขึ้นครั้งแรกในนิยายแนว Sci-Fi ของ Neal Stephenson เรื่อง Snow Crash ซึ่งเป็นภาพอนาคตที่ผู้คนใช้ร่างอวตารดิจิทัลเพื่อไปโลดแล่นในโลกเสมือนจริง
ปี 1993 : นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์อย่าง Moni Naor และ Cynthia Dwork คิดค้นระบบ Algorithm แบบ Proof-of-Work (PoW) เพื่อป้องกันการใช้บริการคอมพิวเตอร์ในทางที่ผิด ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญที่ต่อยอดมาเป็นการพัฒนาคริปโตเคอร์เรนซีในตอนหลัง
ปี 2003 : Linden Lab เปิดตัว Second Life ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม Multimedia ที่ผู้คนสามารถแบ่งปัน Virtual Space และเข้าไปสำรวจ, โต้ตอบระหว่างกัน และสร้างสิ่งต่างๆ ด้วยคอมพิวเตอร์ของตัวเอง
ปี 2006 : Roblox Corporation เปิดตัว Roblox ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเกมที่ผู้เล่นสามารถออกแบบเกมของตัวเองได้ และมีสกุลเงินเสมือนของตัวเองที่เรียกว่า Robux (ช่วงนี้เด็กๆ ฮิตกันสุดๆ)
ปี 2007 : Google ปรับปรุง Maps ของตัวเองด้วย Street View ทำให้แผนที่มีรูปลักษณ์เหมือนสถานที่จริง
ปี 2009 : Satoshi Nakamoto สร้างบล็อกเชน และ Cryptocurrency สกุลแรกของโลก อย่าง Bitcoin ขึ้นมา
ปี 2012 : Palmer Luckey เปิดตัว Oculus ซึ่งเป็นชุดหูฟังแบบ VR ที่เชื่อมต่อผู้ใช้กับโลกเสมือนจริงแบบ 3D
ปี 2014 : Kevin McCoy และ Anil Dash สร้าง Quantum ซึ่งเป็น Non-Fungible Token (NFT) ตัวแรกของโลก
ปี 2015 : Vitalik Buterin เปิดตัว Ethereum ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัล แบบ Decentralized ที่ทำงานด้วยระบบ Smart Contract และมี Algorithm แบบ Proof-of-Work
ปี 2016 : เกิด Decentralized Autonomous Organizations (DAOs) ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในชื่อ The DAO บนเครือข่าย Ethereum และในปีเดียวกันนั้นเอง Pokémon GO ซึ่งเป็นเกมที่ใช้เทคโนโลยี AR ก็ได้เปิดตัวสู่ท้องตลาดเช่นกัน
ปี 2021 : Facebook เปลี่ยนชื่อเป็น Meta ทำให้ Metaverse เป็นแนวคิดที่ดูจะเป็นไปได้จริง ไม่ใช่แค่แนวคิด Sci-Fi
ปี 2022 : Siemens และ NVIDIA ร่วมมือกันสร้าง Industrial Metaverse ซึ่งเป็นโครงการที่รวมซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์เพื่อสร้างโลกดิจิทัลที่สมจริง
ปี 2023 : Apple เปิดตัว Apple Vision Pro แว่นเทคโนโลยี AR ที่ผสมผสานโลกจริงและโลกเสมือนเข้าเอาไว้ด้วยกัน ทำให้โลก Metaverse ดูจะเป็นไปได้มากขึ้นไปอีก
แล้วคริปโตเหมาะสมกับ Metaverse ตรงไหน ?
บล็อกเชนและคริปโตมีความสำคัญต่อการส้ราง Metaverse บล็อกเชนสามารถช่วยสร้างธุรกรรมที่ปลอดภัย ในขณะที่คริปโตช่วยในการถ่ายโอนสิ่งต่างๆ ด้วยความรวดเร็ว ปลอดภัย และตรวจสอบได้ สินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ซ้ำกับของใครใน Metaverse สามารถแสดงผลได้ด้วย NFT ที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ
Decentralized Application (dApps) ยังช่วยให้ผู้ใช้สามารถควบคุมข้อมูลและสินทรัพย์ของตัวเองได้ ซึ่งปลอดภัยกว่าแอพแบบเดิมๆ ส่วนเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น VR, AR, AI และ Natural Language ช่วยให้ Metaverse สมจริงมากขึ้น
อนาคตของ Metaverse
แม้ว่าแนวคิดของ Metaverse จะไปไกลแล้ว แต่ก็ยังมีอะไรอีกมากที่ต้องทำ ทั้งความต้องการของเครือข่ายที่รวดเร็ว สามารถรองรับผู้ใช้งานได้หลายคน อีกทั้งเครื่องมือในการสร้างและแบ่งปันประสบการณ์ที่เสมือนจริง นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยอีกด้วย
ถึงแม้ Metaverse จะเริ่มจากแนวคิดแบบ Sci-Fi แต่เมื่อเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น ก็ทำให้แนวคิดดังกล่าวดูจะสามารถเป็นจริงได้ ด้วยความช่วยเหลือของบล็อกเชน และ Cryptocurrencies เราจะได้เห็นแพลตฟอร์มแบบ Decentralized ที่ปลอดภัยมากขึ้นสำหรับ Metaverse
ถึงแม้ Metaverse ยังคงอยู่ในช่วงตั้งไข่ แต่ใครจะไปรู้ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราอาจจะได้โลดแล่นในโลกที่เหมือนกับ Ready Player One ก็เป็นได้