KEY TAKEAWAYS
- นับตั้งแต่เข้าซื้อทวิตเตอร์ Elon Musk ก็แสดงจุดยืนสนับสนุนเสรีภาพทางการพูดมาโดยตลอด และออกกฎระเบียบที่ไม่เข้มงวดนัก เพื่อให้ผู้อ่านข้อมูลต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มแล้วตัดสินใจเอาเอง
- แต่ในช่วงเหตุการณ์ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ซึ่งมีการโพสต์และแชร์ภาพความรุนแรง รวมถึงถ้อยคำแสดงความเกลียดชังออกมาอย่างมาก ก็ทำให้ทวิตเตอร์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงอีกครั้ง
นับตั้งแต่เข้าซื้อทวิตเตอร์ (X) เมื่อเกือบปีก่อน Elon Musk ก็ชูจุดยืนด้านเสรีภาพทางการพูดมาโดยตลอด แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้จุดยืนดังกล่าวตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง นั่นคือสงครามระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังฮามาส
เกิดอะไรขึ้นบนทวิตเตอร์
เมื่อสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสเปิดฉากขึ้น ก็มีการโพสต์การแชร์รูปภาพและคลิปต่าง ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงในอิสราเอล ไม่ว่าจะเป็นการสังหารหมู่ การลักพาตัว ไปจนถึงคำพูดแสดงความเกลียดชังชาวยิว ซึ่งด้วยจุดยืนและกฎระเบียบที่ไม่เข้มงวดของทวิตเตอร์ ทำให้สิ่งที่ปรากฏบนทวิตเตอร์นั้นเยอะกว่าบนแพลตฟอร์มอื่นอย่างมาก
ด้วยความที่มีเนื้อหาความรุนแรงและอาจสร้างความเกลียดชัง รวมถึงนโยบายของแพลตฟอร์มที่ไม่เข้มงวด ทำให้ Thierry Breton คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ส่งคำเตือนถึง Musk ให้แก้ปัญหาเรื่องคอนเทนต์ของอิสราเอล-ฮามาสภายใน 24 ชั่วโมง แต่ Musk กลับแสดงท่าทีไม่สนใจมากนัก
กระแสสังคมเริ่มกระหน่ำทวิตเตอร์
ด้วยท่าทีการจัดการต่าง ๆ ที่ดูไม่เข้มงวดและไม่ค่อยใส่ใจเท่าใดนัก ทำให้ชุมชน โรงเรียน และองค์กรต่าง ๆ ของชาวยิวต่างแสดงความไม่พอใจนโยบายของทวิตเตอร์ และเสนอให้ลบทวิตเตอร์ออกจากมือถือของเด็ก ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้พบกับภาพความรุนแรง
ด้าน Ian Bremmer นักรัฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงกล่าวว่า ระบบอัลกอริทึมของทวิตเตอร์กำลังส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน
ทวิตเตอร์ไม่ทำอะไรจริง ๆ เหรอ
ที่จริงแล้ว ทวิตเตอร์ได้ทำการลบบัญชีที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มฮามาส รวมถึงโพสต์อีกจำนวนมาก และได้ตั้งตำแหน่งผู้ดูแล Community Notes หรือผู้ใช้ที่สามารถเพิ่มบริบทและการตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact-check) ในโพสต์ได้ อย่างไรก็ตาม Musk บอกว่า ผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงก็อาจเชื่อถือไม่ได้เสมอไป ควรปล่อยให้ทุกคนเห็นว่าข้อมูลบิดเบือนต่าง ๆ ที่ว่ามีอะไรบ้างแล้วตัดสินใจกันเอาเอง
นอกจากนี้ ทวิตเตอร์ยังได้จำกัดการมองเห็นโพสต์ของ Ayatollah Khamenei ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ซึ่งแสดงความต้องการกำจัดอิสราเอลให้สิ้นซาก และโพสต์ดังกล่าวมีผู้เข้าอ่าน 9.9 ล้านคน ณ วันพุธ (11 ตุลาคม)
อย่างไรก็ตาม Anti-Defamation League ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ได้ออกมากล่าวโจมตีทวิตเตอร์ถึงการที่ไม่ลบโพสต์ แต่ใช้วิธีจำกัดการมองเห็น
“ทวิตเตอร์รู้ว่าโพสต์ของ Ayatollah Khamenei ละเมิดนโยบายของแพลตฟอร์ม แต่กลับใช้วิธีจำกัดการมองเห็น โดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่เรามองว่าโพสต์ดังกล่าวมีเพื่อทำให้ความรุนแรงลุกลามกว่าเดิม และไม่มีประโยชน์ใด ๆ ที่จะเก็บไว้”
จากเหตุการณ์ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสนี้ เราจะเห็นได้ว่าทวิตเตอร์ยังมีปัญหากับการรักษาสมดุลระหว่างเสรีภาพในการพูดกับความปลอดภัยของผู้ใช้ รวมถึงการที่ทวิตเตอร์ยังไม่มีประธานฝ่ายความไว้วางใจและความปลอดภัย ซึ่งถูกไล่ออกหลัง Musk เข้าซื้อกิจการ ทำให้เกิดคำถามที่จำเป็นต้องตอบว่า ทวิตเตอร์จะรับผิดชอบต่อเนื้อหาบนแพลตฟอร์ม ความปลอดภัยของผู้ใช้งาน และรับผิดชอบอย่างไรเมื่อเกิดความขัดแย้งระดับโลกขึ้นอีก
Reference: fortune