ERC404 คืออะไร
ERC404 มาตรฐานโทเค็นที่กำลังทดสอบอยู่บน Ethereum blockchain เกิดจากการรวมฟีเจอร์ของทั้งมาตรฐาน ERC20 และ ERC721 เพื่อให้ได้ความสามารถของทั้ง ERC20 และ ERC721 โดยพยายามให้สูญเสียความสามารถอื่นให้น้อยที่สุด ทำให้ได้สภาพคล่องและการแยกส่วนได้ของ ERC20 และการเป็น NFT ของ ERC721
การเป็น NFT หรือ non-fungible token ของ ERC721 อาศัยการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของบนบล็อกเชน และโทเค็นแต่ละตัวจะไม่ซ้ำกัน ขณะที่ ERC20 สกุลเงินคริปโตทั่วไป แต่ละตัวจะเหมือนกัน เช่น หนึ่งโทเค็นของ ETH จะเหมือนกับโทเค็น ETH ตัวอื่น ๆ
Pandora เป็นโปรเจกต์แรกที่สร้างด้วย ERC404 โดยมี 10,000 PANDORA โทเค็น และ 10,000 NFT ซึ่งเรียกว่า Replicant แบ่งออกเป็น 5 tier ตามความหายาก ซึ่ง 1 PANDORA จะ mint เป็น 1 Replicant และ PANDORA สามารถซื้อขายแบบแยกส่วนได้ เช่น 0.4 PANDORA
หลักการทำงานอย่างไร
ERC404 เกิดขึ้นมาเพื่อลบข้อเสียของ NFT ที่มีสภาพคล่องและความยืดหยุ่นในการซื้อขายต่ำ ด้วยการเอาคุณสมบัติความเป็นโทเค็นของ ERC20 มารวมกับ NFT ของ ERC721 ทำให้สามารถขายส่วนแบ่ง NFT ได้ ซึ่งต่างกับการแยกส่วน NFT ออกเป็น NFT ชิ้นเล็ก ๆ แล้วขายทีละส่วน
ตัวอย่างเช่น เรามี NFT ภาพแมว (ที่ไม่ใช่ Quantum Cats) 1 ภาพ ถ้าเป็นการแบ่งส่วน เราจะเอาภาพดังกล่าวไปแบ่งส่วน สมมติว่าเป็น 24×24 ก็จะได้ภาพ NFT ขนาดเล็ก 576 ภาพ ที่เอาไปแบ่งขายได้ และเมื่อเอามาต่อกันก็จะได้ NFT ภาพแมวตัวเต็ม
แต่ถ้าเป็น ERC404 ก็จะอาศัยคุณสมบัติของโทเค็น ทำให้สามารถซื้อแยกตัวโทเค็นได้เลย และเมื่อซื้อโทเค็นได้ครบหน่วยที่กำหนด ก็จะสามารถ mint NFT ได้ แต่ถ้ามีการซื้อขายโทเค็นที่ผูกอยู่กับ NFT นั้นไปแม้แต่หน่วยเดียว NFT จะถูก burn ทิ้งทันที ทำให้เกิดภาพใหม่ขึ้นทุกครั้งที่มีการแลกเปลี่ยนโทเค็น โดยที่ token id จะเป็นเลขใหม่ อย่างไรก็ตาม ผู้ถือสามารถขายตัว NFT ตัวเต็มได้เลย
ตัวอย่างเช่น กรณีของ PANDORA ที่ 1 PANDORA จะ mint เป็น 1 NFT (Replicant) หากเราซื้อ 1 PANDORA ระบบจะ mint NFT เข้ากระเป๋าเราโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าเราขายออกไป 0.4 PANDORA ตัว NFT ที่เราถืออยู่จะถูก burn อัตโนมัติ และถ้าเราซื้อโทเค็นเพิ่มมา 0.4 PANDORA เราก็จะได้รับ NFT ตัวใหม่อัตโนมัติ ซึ่งแน่นอนว่าจะได้ token id ใหม่
ข้อแตกต่างหลัก ๆ ระหว่างทั้งสองแบบก็คือ ถ้าแบบแบ่งส่วน ไม่ว่าจะซื้อขายยังไง ตัว NFT ใหญ่ก็ยังเป็นตัวเดิม ทำให้ภาพ ๆ หนึ่งมีผู้ร่วมเป็นเจ้าของได้หลายคน แต่ถ้าแบบ ERC404 ทันทีที่เราซื้อขายโทเค็นบางส่วนของภาพนั้น ก็จะเกิดการเบิร์นภาพนั้นทิ้งทันที และเมื่อนำไปรวมกับโทเค็นอื่น (หรือแม้แต่กลับมารวมกับโทเค็นเดิมจนเป็น 10 หน่วย) ก็จะเกิดภาพใหม่ขึ้นมา
ใช้ประโยชน์อะไร แก้ปัญหาอะไร
โดยทั่วไปนั้น NFT จะไม่สามารถแยกส่วนขายได้ ทำให้มีปัญหาสภาพคล่องอย่างมาก ซึ่ง ERC404 จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ เพราะเราสามารถแยกส่วน NFT และแยกขายโทเค็นได้ รวมถึงการที่ NFT จะถูกเบิร์นและถูกสร้างใหม่ทุกครั้งที่แยก/รวมโทเค็นจนครบหน่วย และทุกครั้งเป็นการ “สุ่มความหายาก” แปลว่าจะมีการทำธุรกรรมไปมาเพื่อหาของแรร์ และทำให้เกิดค่า gas ปริมาณมหาศาล
ข้อดีข้อเสีย
ข้อดี
- เพิ่มสภาพคล่องและความยืดหยุ่นให้กับการซื้อขาย NFT ทำให้สามารถโอนเข้าไปซื้อขายบน CEX ได้
- เพราะมีคุณสมบัติของโทเค็น จึงสามารถใช้ defi swap, stake, lend, borrow และอื่นๆ ได้เหมือนกับโทเค็นทั่วไป
- สามารถทำ GameFi โดยเมื่อเก็บ token ครบจำนวนจะสุ่ม item NFT ได้อัตโนมัติ
ข้อเสีย
- การ burn NFT จะเริ่มจากตัวล่าสุด ทำให้มีโอกาสเสียตัวแรร์ถ้าไม่ระวังให้ดี
- ปัจจุบันยังไม่มีวิธี snap token ID
- ยังไม่ถูกตรวจสอบ (unaudited) จึงอาจมีช่องโหว่มากมายให้โจมตี
โอกาสและการพัฒนาในอนาคต
ปัจจุบันนั้น ERC404 ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและจัดเป็นมาตรฐานโทเค็นที่ยังไม่ถูกตรวจสอบ (unaudited) ทำให้ต้องระวังช่องโหว่ต่าง ๆ ในระบบให้ดี เพราะอาจถูกโจมตีได้ทุกเมื่อ ดังนั้นผู้สนใจต้องใช้ความระมัดระวังในการเทรดให้มาก
ขณะเดียวกัน ด้วยความที่ยังเป็นระบบใหม่ ทำให้สามารถพัฒนาและปรับปรุงได้อีกมาก และแสดงให้เห็นถึงโอกาสมากมายในอนาคต โดยมูลค่าของ Pandora ซึ่งเป็นโปรเจกต์ ERC404 ตัวแรกนี้ พุ่งทะลุ 70 ล้านดอลลาร์ไปแล้ว และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็เริ่มรับ ERC404 มาใช้มากขึ้น
ในอนาคต โลกคริปโตอาจนำ ERC404 ไปใช้กับ เกม, กล่องสุ่ม, ล็อตเตอรี่ และอื่น ๆ และหากมีโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรองรับสภาพคล่องของ NFT คอลเลกชันที่มีอยู่เดิมในรูปแบบของ ERC404 wrapper ก็จะยิ่งดึงดูดผู้ใช้งานมากขึ้น โดยในอนาคต อาจจะมีคอลเลกชันที่ใหญ่กว่า Pandora เช่น 100,000 NFT และกำหนดหน่วยโทเค็นเพื่อ mint ต่ำกว่านี้
ขณะเดียวกัน ยังมีการพัฒนาที่น่าสนใจบน Solana ด้วย SPL20 โทเค็น ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับ ERC404 อย่างมาก โดย Tensor ตลาด NFT หลัก ก็ได้ลิสต์ SL20 ไว้ที่โฮมเพจแล้ว ซึ่งหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เร็ว ๆ นี้อาจจะได้เห็นเรื่องแบบเดียวกันเกิดขึ้นบนตลาด NFT อื่น ๆ ได้
Reference: blocmates