KEY TAKEAWAYS
- อีดี อามิน ดาดา ผู้นำจอมเผด็จการแห่งยูกันดา ซึ่งมีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของประชาชนร่วม 300,000 – 500,000 คน ในช่วงประมาณ 8 ปีที่ขึ้นสู่อำนาจ
- อามินมีวัยเด็กที่หัวช้า และมีเรื่องชกต่อยบ่อยครั้ง เรียนจบเพียงประมาณประถม 4 แต่ไต่เต้าขึ้นสู่จุดสูงสุดของกองทัพได้ แม้เริ่มต้นจากตำแหน่งผู้ช่วยพ่อครัว
- ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากเพื่อนตัวเอง และกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างป่าเถื่อน รวมถึงสร้างเสียงสนับสนุนด้วยการปล่อยตัวนักโทษการเมือง พร้อมคำสัญญา “จะจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมให้เร็วที่สุดหลังสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นปกติ”
- ขับไล่ชาวเอเชียออกนอกประเทศจนเศรษฐกิจยูกันดาพังพินาศ (จากที่พังอยู่แล้ว)
- หาเรื่องประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ จนถูกโต้กลับ จนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ก่อนจะเสียชีวิตอย่างสงบที่ซาอุดีอาระเบีย โดยไม่เคยได้กลับประเทศอีกเลย และไม่เคยต้องรับโทษที่ก่อด้วย
“คุณมีเสรีภาพที่จะพูดอะไรก็ได้ แต่ผมจะไม่รับประกันเสรีภาพของคุณหลังจากที่คุณได้พูดมันออกไป”
ประโยคข้างต้นมาจากอีดี อามิน ดาดา ผู้นำจอมเผด็จการแห่งยูกันดา ฮิตเลอร์แห่งแอฟริกา หรือที่เขาเรียกขานตัวเองว่า ‘ฯพณฯ ประธานาธิบดีตลอดชีพ จอมพล อัล หัจญี ดร.อีดี อามิน ดาดา, วีซี., ดีเอสโอ., เอ็มซี., ซีบีอี., ลอร์ดแห่งสัตว์ทั้งปวงบนโลก และปลาทั้งหลายในทะเล และผู้พิชิตจักรวรรดิอังกฤษในแอฟริกาโดยทั่วไป และโดยเฉพาะในยูกันดา’ และยังแต่งตั้งตัวเองเป็นกษัตริย์แห่งสกอตแลนด์อีกด้วย
ชายผู้มีสมญานามมากมายนี้ มีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของประชาชนร่วม 300,000 – 500,000 คน ในช่วงประมาณ 8 ปีที่ขึ้นสู่อำนาจ มีความเป็นมาอย่างไร ขอเชิญติดตามได้ในบทความนี้
วัยเด็กที่คลุมเครือจนขึ้นสู่อำนาจ
ไม่มีใครทราบปีเกิดที่แน่นอนของจอมเผด็จการผู้นี้ แต่คาดว่าอยู่ในช่วงปี 2466-2471 ซึ่งตอนนั้นยูกันดายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ นอกจากนี้ สถานที่เกิดก็ไม่แน่ชัดเช่นกัน บ้างก็ว่าตัวเขาเกิดที่กรุงกัมปาลา เมืองหลวงของยูกันดา บ้างก็ว่าตัวเขาเกิดที่เมืองโคโบโค ทางเหนือของประเทศ โดยบิดาเป็นชนเผ่าคาควา (Kakwa) และมารดาเป็นชนเผ่าลุคบารา (Lugbara)
อามิน เกิดในชุมชนอิสลาม โดยบิดาทิ้งครอบครัวไปตั้งแต่ยังเด็ก และโตมาโดยมีมารดาเป็นผู้เลี้ยงดู อามินถูกอธิบายว่าเป็นคนร่างใหญ่ หัวช้า มีเรื่องชกต่อยอยู่บ่อยครั้ง และได้รับการศึกษาเพียงขั้นพื้นฐาน บางแหล่งระบุว่าจบเพียงป.4
ต่อมา อามินได้สมัครเข้าเป็นผู้ช่วยพ่อครัวในกองทัพอาณานิคมบริเตน สังกัดกรมทหารปืนเล็กยาวแอฟริกา หรือ KAR (King’s African Rifles) ก่อนภายหลังจะได้เป็นทหาร และได้รับการเลื่อนยศอย่างรวดเร็ว
อามินได้เข้าร่วมในสงครามหลายครั้ง และได้รับเลื่อนยศเป็นเอฟเฟนดี (effendi) ซึ่งเป็นยศสูงสุดสำหรับทหารแอฟริกันใน KAR ในปี 2502
นอกจากนี้ ในระหว่างอยู่ในกองทัพ อามินยังเป็นแชมป์มวยสากลรุ่น light heavyweight ของยูกันดาถึง 9 ปี ในระหว่างปี 2494-2503
ต่อมายูกันดาได้รับเอกราชจากอังกฤษในวันที่ 9 ตุลาคม ปี 2505 โดยมีมิลตัน โอโบเต เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ก่อนที่สองปีให้หลัง โอโบเตกับอามินจะจับมือเป็นพันธมิตรกัน โดยอามินช่วยโอโบเตขยายอิทธิพลในกองทัพ และภายหลังโอโบเตได้แต่งตั้งอามินเป็นผู้นำทหารสูงสุด
ในปี 2509 โอโบเตกับอามินถูกกล่าวหาว่าลักลอบขนทองคำและงาช้างออกจากประเทศคองโกเพื่อไปแลกเป็นอาวุธ ทำให้โอโบเตฉีกรัฐธรรมนูญและตั้งตัวเป็นประธานาธิบดีเสียเลย พร้อมกับส่งอามินไปโค่นบัลลังก์กษัตริย์มูเตซาที่สอง (King Mutesa II) หรือกษัตริย์เฟรดดี้ (King Freddie) ผู้ปกครองชนเผ่าบูกันดา ทางตอนใต้ของยูกันดา
อามินทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ด้วยการขนกำลังพร้อมรถจิ๊บติดปืนกลหนักของรถถัง ยิงถล่มพระราชวังของกษัตริย์เฟรดดี้ จนต้องลี้ภัยไปยังอังกฤษ และเสียชีวิตในอีก 3 ปีต่อมา
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่นาน ก็เริ่มเกิดความขัดแย้งระหว่างอามินกับโอโบเตขึ้น หลังจากที่โอโบเตถูกลอบสังหาร 2 ครั้ง ทำให้โอโบเตเริ่มสงสัยในตัวอามิน จึงมีคำสั่งให้จับกุมตัวอามินขณะที่ตัวของโอโบเตเข้าร่วมการประชุมผู้นำเครือจักรภพอังกฤษที่สิงคโปร์ในปี 2514
แต่นั่นช้าไปแล้ว… เพราะอามินได้อาศัยเวลาที่โอโบเตไม่อยู่ ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากโอโบเต และสั่งเนรเทศโอโบเตไปจากยูกันดา
วีรกรรมเผด็จการสู่การเสื่อมความนิยม
หลังขึ้นสู่อำนาจ อามินได้จัดตั้งกองกำลังของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานสืบค้นข่าว (State Research Bureau – SRB) และหน่วยรักษาความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety Unity – PSU) เพื่อทำหน้าที่กวาดล้างฝ่ายตรงข้าม
โดยในช่วงแรก ก็เริ่มจากการกวาดล้างชนเผ่าอาโชลี (Acholi) และแลงโก (Lango) ซึ่งเป็นชนเผ่าคริสต์ที่ภักดีต่อโอโบเต รวมถึงกลุ่มทหารและพลเรือนที่อยู่คนละฝ่ายกับเขา
หนึ่งในเหตุการณ์ที่แสดงความโหดร้ายของอามิน คือการสั่งจับกุมตัวนายพลสุไลมาน ฮุสเซน (Suleiman Hussein) ผู้บัญชาการทหารบกของยูกันดาในขณะนั้น และถูกนำตัวไปยังเรือนจำลูซิรา (Luzira Prison) ก่อนจะถูกทุบตีจนเสียชีวิต ขณะที่บางแหล่งระบุว่า อามินสั่งตัดหัวนายพลสุไลมาน และนำไปเก็บไว้ในตู้เย็นด้วย
ต่อมา นิโคลาส สโตร์ห (Nicholas Storh) นักข่าว กับโรเบิร์ต ไซด์เลอร์ (Robert Siedle) นักสังคมวิทยา ชาวอเมริกัน ได้เริ่มสืบสวนเรื่องการสังหารนักการเมืองในยูกันดา และได้เดินทางไปยังค่ายทหารอึมบารา (Mbara Army Barracks) ก่อนที่ทั้งสองจะถูกสังหารเพราะขุดคุ้ยในเรื่องไม่สมควร
ทางการสหรัฐได้สั่งสืบสวนเรื่องดังกล่าวอย่างรวดเร็ว และส่งเจ้าหน้าที่นามเดวิด เจฟฟรีส์ โจนส์ (David Jeffrys Jones) เข้าทำการสืบสวน ซึ่งการสืบสวนของโจนส์ออกมาอย่างรวดเร็วว่าทั้งคู่ถูกคนของอามินสังหาร อย่างไรก็ตาม โจนส์หลบหนีออกนอกยูกันดาก่อนที่จะสรุปผลการสืบสวน เนื่องจากกังวลความปลอดภัยในชีวิตของตัวเอง
นอกจากการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามแล้ว อามินยังสร้างเสียงสนับสนุน ด้วยการประกาศนำศพของกษัตริย์เฟรดดี้กลับประเทศและจัดพิธีให้อย่างเหมาะสม พร้อมกับปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง ซึ่งอยู่คนละฝ่ายกับโอโบเต
นอกจากนี้ อามินยังให้สัญญาด้วยว่า จะจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมให้เร็วที่สุดหลังสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นปกติ (คุ้น ๆ ไหมครับ)
และก็เป็นไปตามธรรมเนียมของเหล่าเผด็จการ ที่เมื่อขึ้นสู่อำนาจได้แล้วก็จะไม่ลง
หลังจากกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามแล้ว อามินก็แต่งตั้งคนของตัวเองเข้าไปยังตำแหน่งสำคัญ ๆ ต่าง ๆ โดยไม่สนใจเรื่องความสามารถ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศย่ำแย่ แต่นั่นยังแย่ไม่พอ อามินยังสั่งขับไล่ชาวเอเชียทั้งหมดในยูกันดาออกนอกประเทศด้วย
การขับไล่ชาวเอเชียนี้เป็นอีกครั้งที่อามินแสดงความโหดร้ายในการจัดการผู้เห็นต่างออกมา โดยเหยื่อในครั้งนี้คือรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เบเนดิกโต คิวานูกา (Benedicto Kiwanuaka) ที่ได้ออกมาวิจารณ์อามินในเรื่องดังกล่าว ส่งผลให้คิวานูกาโดนจับกุมในเดือนกันยายน 2515 และถูกประหารชีวิตในวันที่ 22 กันยายน 2515 ที่เรือนจำทหารมาคินเดีย (Makindye Military Prison) ด้วยวิธีการที่ไม่แน่ชัด ไม่ว่าจะคำบอกเล่าที่ว่าเขาถูกปีนยิง ถูกตัดหัว ถูกเอาค้อนทุบจนตาย หรือแม้แต่ถูกตัดหู จมูก ปาก อวัยวะเพศ ควักเครื่องใน และจุดไฟเผา แต่ไม่ว่าจะแบบใดก็ล้วนเป็นวิธีที่ป่าเถื่อน และปัจจุบันยังไม่มีใครพบศพของคิวานูกาเลย
ชาวเอเชียในยูกันดาตอนนั้นมีประมาณ 50,000-70,000 คน ส่วนมากเป็นชาวอินเดียที่เข้ามาอยู่ตั้งแต่สมัยยูกันดายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ บางส่วนเกิดและเติบโตที่ยูกันดาเสียด้วยซ้ำ แต่ที่แย่ที่สุดก็คือ ชาวเอเชียเป็นกลุ่มผู้เสียภาษีถึง 90% ของยูกันดา ทำให้เมื่อไม่มีชาวเอเชียที่เป็นผู้ขับเคลื่อนทางการเงินของประเทศแล้ว เศรษฐกิจของยูกันดาก็พังพินาศลงในพริบตา
หลังเหตุการณ์ขับไล่ชาวเอเชียนี่ อามินได้ตัดสัมพันธ์ทั้งหมดกับอังกฤษ อิสราเอล รวมถึงอินเดียก็ตัดสัมพันธ์กับยูกันดาด้วย ซึ่งนั่นทำให้อามินหันไปหาสหภาพโซเวียด ซึ่งต้องการยูกันดาไว้เป็นตัวคานอำนาจในภูมิภาค สู้กับอิทธิพลของจีนในแทนซาเนีย และอิทธิพลของชาติตะวันตกในเคนยา
เศรษฐกิจที่ตกต่ำมีผลให้ความนิยมและผู้ภักดีต่ออามินลดน้อยลงไปด้วย
จุดจบจอมเผด็จการ
ในปี 2520 อามินได้แต่งตั้งนายพลมุสตาฟา อาดริซี ขึ้นเป็นรองประธานาธิบดี และต่อมาก็เริ่มกังวลอิทธิพลของนายพลอาดริซี และปลดนายพลอาดริซีออกจากตำแหน่ง ทำให้ผู้สนับสนุนของนายพลอาดริซีไม่พอใจ และก่อกบฏขึ้น
ในเดือนพฤศจิกายน 2521 อามินได้ส่งกองกำลังไปปราบปรามกบฏ ซึ่งบางส่วนหลบหนีเข้าไปในแทนซาเนีย และทำให้กองทหารของอามินรุกรานแทนซาเนีย และยึดพื้นที่บางส่วนของแทนซาเนียได้โดยไม่ตั้งใจ พร้อมกล่าวหาว่า ประธานาธิบดีจูเลียส เนียเรเร ของแทนซาเนีย เป็นผู้ยุยงให้เกิดความไม่สงบ
สองสัปดาห์ให้หลัง ปธน.เนียเรเร ได้บุกกลับ และตีโต้ทหารของยูกันดากลับไปจนถึงกรุงกัมปาลาในวันที่ 11 เมษายน 2522 โดยได้แรงสนับสนุนจากผู้ที่ลี้ภัยจากยูกันดา
อามินหลบหนีไปยังลิเบีย และบินต่อไปยังซาอุดีอาระเบีย โดยได้รับการดูแลจากกษัตริย์ซาอุดีอาระเบีย โดยมีข้อแม้ว่าห้ามเคลื่อนไหวใด ๆ
อามินแก่ตายอย่างสงบที่ซาอุดีอาระเบีย จากอวัยวะภายในล้มเหลวเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2546 ศพของอีดี อามิน ถูกฝังอยู่ในสุสานที่เมืองเจดดาห์ โดยไม่เคยได้กลับประเทศอีกเลย
คาดกันว่า ภายใต้การปกครองของอีดี อามิน อาจมีผู้เสียชีวิตถึง 300,000 – 500,000 คน สมฉายา “นักเชือดแห่งยูกันดา”
Reference: history, britannica, biography, victorytale, thecollector, PeopleProfiles, worldhistory, lonesomebabe, newvision