เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เกิดข่าวใหญ่ที่กระทบกับตลาดคริปโต เมื่อ Pavel Durov ซีอีโอของ Telegram โดยจับที่สนามบิน Le Bourget ตามหมายที่ออกโดย OFIM ซึ่งเป็นหน่วยงานของตำรวจแห่งชาติฝรั่งเศส
หลังมีการเผยแพร่ข่าวดังกล่าวออกไป Toncoin (TON) ซึ่งเป็นเหรียญของบล็อกเชน The Open Network (TON) และมีความเกี่ยวข้องกับ Telegram อย่างลึกซึ้ง ก็ราคาร่วงทันทีเกือบ 20%
แน่นอนว่าคำถามแรก ๆ ก็คือ เกิดอะไรขึ้น ทำไม Durov ถึงโดนจับ แล้ว TON ล่ะ จะเป็นยังไงต่อไป
Pavel Durov คือใคร
Pavel Durov เป็นชาวรัสเซียโดยกำเนิด ปัจจุบันอายุ 39 ปี โดยเกิดที่เมือง St. Petersburg ก่อนจะย้ายไปอยู่ดูไบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Telegram ด้วย
Durov มีชื่อเสียงโด่งดังจากการก่อตั้งแอปพลิเคชัน Vkontakte (VK) ซึ่งเป็นแอปโซเชียลเน็ตเวิร์กคล้ายกับ Facebook เวอร์ชันรัสเซียในปี 2006 แต่เกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลรัสเซีย หลังปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลผู้นำการประท้วงชาวยูเครนแก่รัฐบาลรัสเซีย จนเจ้าตัวถูกไล่ออกจากบริษัทตัวเอง บริษัทถูกซื้อ (หรือถูกยึด) และต้องหลบหนีออกจากประเทศในปี 2014
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น ในปี 2013 Pavel Durov ได้ร่วมมือกับ Nikolai Durov ผู้เป็นพี่ชาย ก่อตั้งแอป Telegram ซึ่งเป็นบริการส่งข้อความแบบเข้ารหัสขึ้นมา
Telegram ดินแดนแห่งเสรีภาพ
Telegram ถูกสร้างขึ้นมาเป็นแอปที่ยึดมั่นในการปกป้องความเป็นส่วนตัวและสิทธิมนุษยชนของผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น เสรีภาพในการพูดและการชุมนุม รวมถึงให้ความสำคัญกับความปลอดภัย โดยทุกอย่างที่ส่งไปมาบน Telegram จะถูกเข้ารหัสอย่างปลอดภัย รวมถึงไม่เก็บข้อมูลของผู้ใช้ไว้เลย เก็บไว้แค่เบอร์โทรที่ต้องใช้เพื่อสมัครเท่านั้น
“ผมอยากมีอิสระมากกว่าจะรับคำสั่งจากคนอื่น” Durov เคยกล่าวไว้ แต่แน่นอนว่าเสรีภาพมีราคาที่ต้องจ่าย
Telegram เคยถูกรัฐบาลรัสเซียสั่งแบนมาแล้วในปี 2018 หลังปฏิเสธที่จะให้รัฐบาลรัสเซียเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ … หนังม้วนเดิมจากตอน VK เพียงแต่คราวนี้จบไม่เหมือนเดิม จะเพราะการประท้วงของผู้ใช้งาน หรือการที่เจ้าตัวไม่อยู่ในประเทศแล้วก็ตาม แต่สุดท้ายรัฐบาลรัสเซียก็ยกเลิกแบน Telegram ในอีก 2 ปีต่อมา
ความนิยมของ Telegram นั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ทำให้เกิดความกังวลในกลุ่มผู้บังคับใช้กฎหมายของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป เกี่ยวกับปัญหาด้านความปลอดภัยและการรั่วไหลของข้อมูล รวมถึงจุดยืนของ Telegram ที่แทบจะไม่จำกัดการเข้าถึงหรือปิดกั้นเนื้อหาเลย ถึงขนาดที่ครั้งหนึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN เมื่อปี 2016 ว่า
“เราไม่สามารถทำให้เทคโนโลยีการส่งข้อความปลอดภัยสำหรับทุกคนยกเว้นผู้ก่อการร้ายได้ มันมีเพียงแค่ปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัยเท่านั้น”
TON ร่วงหนัก หลัง Durov ถูกจับที่ฝรั่งเศส
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (25 สิงหาคม) ก็มีรายงานว่า Durov ซีอีโอของ Telegram โดนจับที่สนามบิน Le Bourget ตามหมายที่ออกโดย OFIM ซึ่งเป็นหน่วยงานของตำรวจแห่งชาติฝรั่งเศส
หมายจับดังกล่าวออกโดย OFIM โดยระบุว่า Telegram ขาดการกลั่นกรองข้อมูลและความร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในเรื่องของการค้ายา การก่อการร้าย การฟอกเงิน การแจกจ่ายสื่อการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก (CSAM) และการฉ้อโกง และ Durov ในฐานะซีอีโอของ Telegram มีส่วนรู้เห็น
TF1 ซึ่งเป็นสื่อฝรั่งเศสรายแรก ๆ ที่รายงานข่าวการจับกุมตัว Durov อ้างคำพูดจาก OFIM ว่า “แพลตฟอร์มของ Durov มีการก่ออาชญากรรมและความผิดมากมาย ซึ่ง Durov ไม่ได้ทำอะไรเพื่อควบคุมดูแลหรือให้ความร่วมมือเลย”
รายงานภายหลังระบุว่า หาก Durov ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง อาจโดนโทษจำคุกถึง 20 ปี
ข่าวดังกล่าวมีผลทำให้ TON ราคาร่วงอย่างรุนแรงในทันที โดยร่วงไปเกือบ 20%
หลายคนอาจสงสัยว่า แล้ว TON มาเกี่ยวกับอะไร
The Open Network (TON) เป็นเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแบบเปิดและ Decentralized สร้างโดย Community โดยใช้เทคโนโลยีที่ออกแบบโดย Telegram มีแอปให้บริการต่าง ๆ ที่ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าคริปโต, เครื่องมือพัฒนาแอป, NFT Service, NFT Marketplace, เกม, Staking, ชอปปิง และอื่น ๆ
หรือจะบอกว่า The Open Network เป็นบล็อกเชนของ Telegram ก็คงจะได้ ดังนั้นการที่ซีอีโอของ Telegram ถูกจับกุม ย่อมเป็นข่าวร้ายอย่างรุนแรงต่อ Toncoin ซึ่งเป็น Native Token ของ The Open Network
The Open Network และ Telegram ออกแถลงการณ์ ทั่วโลกลั่น #FreePavel #FreeDurov
หลังการจับกุมตัว Durov ทาง TON Community ได้ออกแถลงการณ์มีใจความว่า
TON Community ในฐานะ Community ที่ยึดมั่นในเสรีภาพทางการพูดและ Decentralization ขอยืนหยัดเคียงข้าง Pavel ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ Pavel สนับสนุนค่านิยมเหล่านี้มาตลอด และ TON Community เชื่อว่าความพยายามที่จะส่งเสริมโลกอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้างและ Decentralized ของ Pavel จะยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนนับล้านทั่วโลก
TON Community ยังคงมุ่งมั่นไปที่ภารกิจของเรา และจะยังคงทำงานเพื่อรักษาหลักการเหล่านี้ต่อไป
ส่วน Telegram ก็ออกมาแถลงการณ์ระบุว่า Telegram อยู่ภายใต้กฎหมายต่าง ๆ ของสหภาพยุโรป รวมถึง Digital Services Act การกำกับดูแลต่าง ๆ ก็เป็นไปตามมาตรฐานและมีการพัฒนาอยู่ตลอด การอ้างว่าแพลตฟอร์มหรือผู้ก่อตั้งต้องรับผิดชอบต่อการกระทำผิดของผู้ที่นำแพลตฟอร์มไปใช้ในทางที่ผิดนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ
ทางด้าน Elon Musk ได้ออกมาโพสต์คลิปการให้สัมภาษณ์ของ Durov กับ Tucker Carlson ซึ่งเป็นนักข่าวอิสระ พร้อมติด #FreePavel ส่วน Vitalik Buterin ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum ก็ได้ออกมาพิมพ์ใต้โพสต์เรื่องการจับกุมตัว Durov ว่า เคยวิจารณ์ว่า Telegram ไม่จริงจังในการเข้ารหัส แต่ข้อกล่าวหาที่ออกมาตอนนี้เป็นการ “ไม่ตรวจสอบ” และไม่เปิดเผยข้อมูลคนอื่น ซึ่งทำให้อนาคตของซอฟต์แวร์และเสรีภาพในการสื่อสารของยุโรปค่อนข้างน่าเป็นห่วง
นอกจากนี้ Robert F. Kennedy Jr ก็ได้ออกมาโพสต์ทาง X (Twitter เดิม) ว่า ฝรั่งเศสเพิ่งจับกุมตัว Pavel Durov ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Telegram แพลตฟอร์มเข้ารหัสและไม่เซ็นเซอร์ เราจำเป็นต้องปกป้องเสรีภาพในการพูดอย่างเร่งด่วนที่สุด
ส่วนเหล่าผู้ใช้งานบน X ต่างติด #FreePavel #FreeDurov และออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัว Pavel Durov ในทันที
.
.
.
ไม่ว่าจุดประสงค์ของ Durov ในการสร้าง Telegram ขึ้นมาจะเป็นอะไรก็ตาม เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เพราะการไม่มีการกำกับดูแลหรือปิดกั้นอย่างจริงจัง ทำให้ Telegram เป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันที่ให้อิสระแก่ผู้ใช้งานสูงมาก ดังจะเห็นได้จากการข่าวการประท้วงต่าง ๆ แม้แต่ที่ไทย ก็ใช้ Telegram เป็นช่องทางรวมตัว เพราะช่องทางอื่นโดนปิดกั้น หรือข่าวสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ก็มี Telegram เป็นช่องทางสำคัญในการกระจายข่าว
แต่อีกด้านหนึ่ง Telegram ก็เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่สามารถส่งสื่อลามกอนาจารได้โดยแทบจะไม่ถูกปิดกั้น และสถาบันวิจัยสื่อตะวันออกกลางเคยออกมาระบุว่า Telegram เป็นแอปที่เครือข่ายก่อการร้ายเลือกใช้ รวมถึงลิงก์สแกมใน Telegram ก็เคยทำได้ง่ายเพียงส่งคำสั่งไม่กี่บรรทัด
สุดท้ายทุกอย่างย่อมมีสองด้าน เมื่อมีคนใช้ให้เกิดประโยชน์ก็ย่อมมีคนนำไปใช้ในทางที่ผิด บางทีสิ่งที่ผิดอาจไม่ใช่ตัวแพลตฟอร์ม แต่ผู้กำหนดทิศทางของแพลตฟอร์มก็ต้องรับผลที่ตามมาอยู่ดี
ส่วนอนาคต TON จะเป็นยังไง จะได้รับผลกระทบหรือไม่ คงยังไม่มีใครตอบได้ในตอนนี้
Reference: coindesk, theblock, businessinsider, telegram, reuters, cointelegraph, cointelegraph