เคยได้ยินผู้ใหญ่พูดไหม ว่าเมื่อก่อน บรรดาของกินของใช้ถูกกว่าสมัยนี้มาก อย่างเช่น สมัยพ่อนะ ก๋วยเตี๋ยวชามละไม่ถึง 3 บาทเลย หรือจะเป็น ทองคำเมื่อก่อนบาทละไม่กี่ร้อยเอง เป็นต้น
สิ่งที่ทำให้ราคาของสิ่งของเมื่อก่อนกับตอนนี้แตกต่างกันก็คือ เงินเฟ้อ ซึ่งเกิดจากความไม่สม่ำเสมอในการจัดหาและความต้องการสินค้าและบริการ ทำให้ราคาเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าหาว่าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นด้วยความเร็วที่มากจนเกินไป อาจทำให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจได้
แล้วคุณจะทำอย่างไรถ้าหากว่าเงินของคุณจะมีมูลค่าน้อยลงในวันพรุ่งนี้ ?
เงินเฟ้อคืออะไร
อธิบายอย่างง่ายๆ เงินเฟ้อคือการที่อำนาจในการซื้อสินค้าและบริการของสกุลเงินลดน้อยลง ซึ่งจะทำให้สินค้าและบริการมีราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุของเงินเฟ้อ
สาเหตุหลักๆ ของเงินเฟ้อคือ การที่มีจำนวนเงินในระบบเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือการที่ขาดความสามารถในการจัดหาสินค้าที่มีความต้องการสูงจนเกิดการขาดแคลน แต่จริงๆ เราสามารถแยกสาเหตุในการเกิดเงินเฟ้อได้มากกว่านั้น วันนี้เรามาดูกัน
เงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์ (Demand-Pull Inflation)
เงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยมากที่สุด โดยมีสาเหตุจากความต้องการในตัวสินค้าและบริการมีมากกว่าความสามารถในการจัดหา อย่างเช่นในช่วงวันวาเลนไทน์ ที่ผู้คนมีความต้องการดอกไม้เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาของดอกไม้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
เงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (Cost-Push Inflation)
เมื่อต้นทุนในการผลิตสินค้าหรือบริการเพิ่มสูงขึ้น ย่อมทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย การเพิ่มขึ้นของต้นทุนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล ราคาของปุ๋ยที่เพิ่มสูงขึ้น หรือราคาน้ำมันที่ปรับตัวทำให้ต้นทุนในการขนส่งแพงขึ้น
เงินเฟ้อที่เกิดจากความคาดหวัง (Built-In Inflation)
ปัจจัยนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องจากสองปัจจัยด้านบน ยกตัวอย่างเช่นเมื่อพนักงานเห็นว่าราคาของสินค้าเพิ่มขึ้นเนื่องจากปัยจัยข้างต้น ก็อยากที่จะได้เงินเดือนหรือค่าแรงเพิ่มขึ้น และเมื่อค่าแรงเพิ่ม ก็ทำให้มีเงินในระบบเข้ามาเพิ่ม และทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ไปผลักดันให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอีกต่อหนึ่ง
วิธีการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อที่ไม่ได้รับการแก้ไขหรือควบคุม อาจทำลายสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลจับตาดูอยู่เสมอ โดยรัฐบาลสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ด้วยควบคุมปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ ทำการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินและงบประมาณ
โดยการลดหรือเพิ่มปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบมักจะคุ้นหูกันในชื่อ Quantitative Easing (QE) และ Quantitative Tightening (QT) หรือที่เรียกกันในหมู่นักเทรดว่าการทำ QE และการทำ QT นั้นเอง
โดยวิธีในการลดอัตราเงินเฟ้อคือการทำ Quantitative Tightening (QT) ซึ่งเป็นการลดปริมาณเงินที่มีอยู่ในระบบ แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานที่รองรับว่า การทำ QT เป็นการลดอัตราเงินเฟ้อที่ดีเท่าไหร่นัก
การขึ้นอัตราดอกเบี้ย เป็นหนึ่งในวิธีที่รัฐบาลมักจะใช้ในการลดอัตราเงินเฟ้อ เพราะการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะทำให้ต้นทุนในการยืมเงินสูงขึ้น และทำให้สินเชื่อกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจอีกต่อไป ทั้งสำหรับผู้บริโภคและภาคธุรกิจ และส่งผลต่อเนื่องทำให้ความต้องการสินค้าและบริการลดลง
การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินก็เป็นอีกวิธีในการลดเงินเฟ้อ ทั้งการปรับปรุงนโยบายการใช้จ่ายของรัฐบาล และการปรับปรุงระบบภาษี
ซึ่งในทางทฤษฎี ถ้าหากว่ารัฐบาลเพิ่มอัตราการเก็บภาษี ประชาชนก็จะมีรายได้ลดลง ทำให้ความต้องการในการซื้อสินค้าและบริการลดลง นำไปสู่เงินเฟ้อที่ลดลงตามไปด้วย
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเพิ่มอัตราภาษี เป็นทางเลือกที่ค่อนข้างเสี่ยง เนื่องจากประชาชนอาจตอบสนองต่อนโยบายดังกล่าวไม่ดีนัก
การวัดอัตราเงินเฟ้อด้วยดัชนีราคา
เรารู้วิธีที่รัฐบาลใช้ในการจัดการกับเงินเฟ้อแล้ว แต่ว่า รัฐบาลจะรู้ได้ว่า เมื่อไหร่ที่ต้องใช้วิธีการเหล่านั้น
สิ่งที่ง่ายที่สุดคือการวัดผล โดยวิธีที่นิยมมากที่สุดและใช้กันแพร่หลายในเกือบทุกประเทศคือ การวัดดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index : CPI) ซึ่งเป็นการนำราคาของผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิดมาวัดผลด้วยวิธีค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก
โดยปกติแล้วจะใช้วัดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อย่างเช่น ปีต่อปี หรือ เดือนต่อเดือน
สมมุติว่า ปีที่แล้ว CPI อยู่ที่ 100 และในปีนี้ CPI อยู่ที่ 110 นั้นหมายความว่า ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อได้เพิ่มขึ้น 10%
ข้อดีและข้อเสียของเงินเฟ้อ
ถึงแม้จะดูเหมือนว่า เงินเฟ้อเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง แต่ในความเป็นจริงแล้ว โลกเศรษฐกิจสมัยใหม่อันซับซ้อน เงินเฟ้อเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมันเท่านั้น และมันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
เรามาดูข้อดีกันก่อน
เมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่พอดี ก็จะเกิดการใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งในด้านการบริโภค การลงทุน และการกู้ยืมเงิน ซึ่งมันก็ดูจะเป็นความคิดที่เข้าท่าดีเหมือนกัน ถ้าเรารู้ว่าในอนาคต สินค้าที่เราต้องการ จะต้องมีราคาสูงขึ้นอย่างแน่นอน สู้ซื้อไปเลยวันนี้ดีกว่า
มาถึงข้อเสียกันบ้าง
การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่รวดเร็วจนเกินไป จะทำให้สกุลเงินนั้นๆ อ่อนค่าลงอย่างมาก มากจนทำลายระบบเศรษฐกิจได้เลยทีเดียว
ลองนึกดูว่าประเทศไทยกำลังมีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 50% ต่อเดือน เดือนที่แล้วคุณต้องซื้อข้าววันละ 100 บาท ผ่านไปหนึ่งเดือน คุณต้องซื้อข้าววันละ 150 บาท แบบนั้นคงจะแย่แน่ๆ และเงินเดือนของเราก็ไม่ได้เพิ่มเดือนละ 50% เหมือนกันอัตราเงินเฟ้อซะด้วยสิ
การแทรกแซงของรัฐบาลกับอัตราเงินเฟ้อ
นักเศรษฐศาสตร์บางคนไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่ารัฐบาลจะต้องเข้ามาควบคุมเงินเฟ้อ โดยพวกเขาเชื่อในหลักเศรษฐศาสตร์เสรี ความสามารถของรัฐบาลในการสร้างเงินใหม่ ทำให้หลักการตามธรรมชาตินั้นเสื่อมถอยลง
ผลของเงินเฟ้อนั้นทำให้เราได้เห็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าและบริการ ทำให้ต้นทุนในการใช้ชีวิตของเราสูงขึ้น แต่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เรายอมรับได้ว่า มันเป็นประโยชน์ต่อสภาวะเศรษฐกิจถ้าเราสามารถควบคุมมันได้อย่างถูกต้อง