KEY TAKEAWAYS
- นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย ได้ออกมาพูดถึงแนวคิดที่จะเปลี่ยนการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ จากแต่เดิมจ่ายเดือนละครั้ง เป็นจ่ายเงิน 2 ครั้งต่อเดือน โดยแบ่งจ่ายทุกวันที่ 15 กับสิ้นเดือน
- การจ่ายเงิน 2 ครั้งต่อเดือนอาจไม่ค่อยเป็นที่นิยมนักในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศนั้นจะใช้การจ่ายเงินเดือนแบบ 2 ครั้งต่อเดือนกันเป็นปกติ
- การจ่ายเงินแบบ 2 ครั้งต่อเดือน กับแบบเดือนละครั้ง ในมุมมองของผู้ได้รับเงิน จะมีความแตกต่างกันที่จำนวนเงินที่ได้รับในแต่ละครั้ง (แม้ยอดรวมจะเท่ากันก็ตาม) แต่ในส่วนของผู้จ่ายเงินอาจจะต้องดูเรื่องความยุ่งยากในการเบิกจ่ายเข้ามาด้วย
กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที กับการที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย ออกมาพูดถึงแนวคิดที่จะแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการออกเป็น 2 ครั้งต่อเดือน โดยแบ่งจ่ายทุกวันที่ 15 กับสิ้นเดือน โดยให้เหตุผลว่า เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระคนที่มีหนี้สิน จะได้นำไปแบ่งจ่ายหนี้ได้เร็วขึ้น แต่เป็นทางเลือกเท่านั้น สามารถเลือกรับแบบเดิมก็ได้
แล้วจะช่วยได้จริงหรือไม่?
การจ่ายเงินเดือนนั้นมีหลายแบบกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นจ่ายเดือนละครั้ง การเงิน 2 ครั้งต่อเดือน (Semi-monthly) จ่ายทุก 2 สัปดาห์ (biweekly) หรือแม้แต่จ่ายทุกสัปดาห์ (OMG!) แต่บางแบบอาจจะไม่เป็นที่นิยมในไทย
หากแบ่งตามภูมิภาคจะพบว่า ในทวีปอเมริกา จะมีความแตกต่างกันอยู่มาก โดยในสหรัฐจะมีความถี่และกฎการจ่ายเงินที้แตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ แต่ส่วนมากจะเป็นแบบจ่ายทุก 2 สัปดาห์ ขณะที่แคนาดาจะให้ลูกจ้างเลือกได้ ส่วนที่บราซิลนั้น ลูกจ้างต้องได้รับเงินเดือนอย่างน้อยเดือนละครั้ง และต้องได้รับโบนัส 1 เดือนตอนสิ้นปี
ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา จะขึ้นอยู่กับสถานะของลูกจ้าง เช่น ในเบลเยียม พนักงานออฟฟิศจะได้รับเงินเดือนละครั้ง ส่วนกลุ่มผู้ใช้แรงงานจะได้รับเงิน 2 ครั้งต่อเดือนเป็นอย่างน้อย ขณะที่แซมเบีย พนักงานจะเลือกได้ว่าต้องการรับเงินแบบใด คล้ายกับในสหราชอาณาจักร และที่กาตาร์ พนักงานจะได้รับเงินทุก 2 สัปดาห์ เว้นแต่จะระบุในสัญญาไว้
ส่วนในเอเชีย-แปซิฟิกนั้น ส่วนใหญ่จะจ่ายเงินเดือนพนักงานเดือนละครั้ง และมีการจ่ายโบนัสให้ เว้นแต่รัสเซียที่ใช้การจ่ายเงิน 2 ครั้งต่อเดือน
ในที่นี้จะกล่าวถึงแค่การจ่ายเงิน 2 ครั้งต่อเดือน (ตามที่ระบุไว้) และจ่ายแบบเดือนละครั้งตามเดิม โดยจะเป็นการใช้ข้อมูลจากประเทศที่ใช้การจ่ายเงิน 2 ครั้งต่อเดือนเป็นหลัก
การจ่ายเงิน 2 ครั้งต่อเดือน (ได้เงินปีละ 24 ครั้ง)
การจ่ายเงิน 2 ครั้งต่อเดือน คือจ่ายวันที่ 15 กับสิ้นเดือน (หรือบางที่อาจเป็นวันแรกของเดือนกับกลางเดือน) ก็คือพนักงานจะได้รับเดือนละ 2 ครั้ง แต่ในที่นี้จะเป็นวันที่ 15 และ 30 หรือ 31 การจ่ายแบบนี้จะเหมาะกับผู้ที่ได้รับเงินตามกำหนด
ข้อดีต่อพนักงานและนายจ้าง
- พนักงานจะได้รับเงินในในเวลาที่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง
- ช่วงรอรับเงินไม่นานเท่าแบบได้เงินเดือนละครั้ง
- สามารถบริหารเงินได้ง่ายกว่าเพราะมีเงินสดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
- เพิ่มความพึงพอใจให้พนักงาน เพราะการได้รับเงินบ่อยขึ้นจะทำให้พนักงานรู้สึกว่าได้รับผลตอบแทนจากการทำงาน
ข้อเสียต่อพนักงานและนายจ้าง
- บริหารเงินยากเพราะไม่ใช่เงินก้อนใหญ่
- เป็นภาระกับฝ่ายเบิกจ่ายเงินเดือน
- เกิดความสับสนว่าเงินที่ได้เป็นของช่วงไหน
- ยุ่งยากในการจัดการเรื่องสวัสดิการ
- เกิดความซับซ้อนหากมีเรื่อง OT เข้ามาเกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ การจ่ายเงินแบบ 2 ครั้งต่อเดือนยังมีข้อดีต่อเศรษฐกิจ นั่นคือการที่พนักงานจะมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และนำไปใช้จ่ายให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบได้ตลอดเดือน
การจ่ายเงินเดือนแบบเดือนละครั้ง (ได้เงินปีละ 12 ครั้ง)
ปกติจะเป็นการจ่ายในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ส่วนวันที่กำหนดจะขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท โดยมากมักจะอยู่ระหว่างวันที่ 25-31 เหมาะกับพนักงานเต็มเวลาที่ได้เงินตามกำหนด
ข้อดีต่อพนักงานและนายจ้าง
- พนักงานจะได้รับเงินในเวลาที่แน่นอน
- สามารถบริหารเงินได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเพราะเป็นเงินก้อนใหญ่
- สามารถคำนวณ OT ได้ง่าย
- ลดงานให้ฝ่ายเบิกจ่ายเงินเดือน
ข้อเสียต่อพนักงานและนายจ้าง
- หมดแล้วหมดเลย ต้องรอเงินเดือนออกครั้งต่อไป
- พนักงานหมดใจทำงาน เฝ้ารอวันที่เงินเดือนจะออกครั้งต่อไป
ส่วนผลต่อเศรษฐกิจนั้น การจ่ายเงินเดือนละครั้งทำให้เกิดวันกิจกรรมอย่างศุกร์สิ้นเดือน หรือแคมเปญ PAYDAY ขึ้น ซึ่งจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนอย่างมหาศาลในช่วงดังกล่าว แต่จะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ และกลับไปสูงอีกครั้งในวันเงินเดือนออกครั้งต่อไป
จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะแบบใด ก็มีความยุ่งยากในการบริหารเงินทั้งคู่ เพียงแต่อาจจะแตกต่างกัน ซึ่งต้องดูที่พฤติกรรมการวางแผนเงินของพนักงาน การเปลี่ยนจากรับเงินเดือนละครั้งมาเป็นเดือนละ 2 ครั้ง อาจเป็นปัญหาได้สำหรับคนที่ปัจจุบันมีหนี้อยู่และมีความจำเป็นต้องหมุนเงิน
ส่วนที่นายกเศรษฐาระบุว่า เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระคนที่มีหนี้สิน จะได้นำไปแบ่งจ่ายหนี้ได้เร็วขึ้นนั้น เราอาจจะต้องไปดูตั้งแต่แรกว่า เพราะอะไรจึงเป็นหนี้ที่ใช้ไม่หมดมาตั้งแต่แรก รายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือไม่
#เงินเดือนข้าราชการ #ประชุมสภา
Reference: realcheckstubs, mrpaystubs, cloudpay, interviewkickstart, tutorialspoint, paystubsnow
Image Reference: Srettha Thavisin