KEY TAKEAWAYS
- การบริหารการเงินอาจเริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนวิธีคิด เช่นเชื่อว่า “เรา รวย ได้”
- อย่าเอาแต่เก็บเงินจนชีวิตเป็นทุกข์ ใช้เงินซื้อความสุขให้ตัวเองบ้าง
- ตั้งเป้าหมายการเก็บเงิน รวมถึงแบ่งเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน จะทำให้การเก็บเงินเป็นไปได้ง่ายขึ้น
- อย่าปล่อยเงินทิ้งไว้เฉย ๆ ควรนำไปลงทุนให้เงินงอกเงย แต่ให้แบ่งลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยง
เงิน… สามารถสร้างอารมณ์ที่แตกต่างกันให้เรา ไม่ว่าจะเป็นความสุขในเวลาเก็บเงิน ได้ใช้เงินซื้อสิ่งที่ชอบ หรือเราอาจจะมีความกังวลเมื่อต้องเผชิญช่วงเวลาที่เศรษฐกิจย่ำแย่ และเราไม่ได้มีเงินเก็บมากมายอะไร
ในบทความนี้ เราได้รวบรวมคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีบริหารเงินส่วนบุคคลกับการใช้จ่ายเงินอย่างเหมาะสมจากกลุ่มนักเขียนของ Harvard Business Review 5 ท่าน ที่จะช่วยให้คุณมีความมั่นคงทางการเงินได้ ดังนี้
1. เชื่อว่าเรารวยได้
Anne-Lyse Wealth นักเขียนด้านการเงินส่วนบุคคลจาก Harvard Business Review ระบุในบทความ “วิธีสร้างความมั่งคั่ง เมื่อคุณไม่ได้มาจากบ้านที่ฐานะร่ำรวย” ว่า ขั้นตอนแรกในการสร้างความร่ำรวยคือ ‘เชื่อว่าคุณสมควรที่จะร่ำรวย’ การสร้างชุดความคิดทางการเงินนั้นสำคัญ เราต้องเชื่อว่า เรา รวย ได้ และเชื่อว่าเราสมควรที่จะร่ำรวย แม้ระบบจะถูกออกแบบมาเพื่อกดเราไว้ก็ตาม หากเราไม่มีแรงขับเคลื่อนทางจิตใจ กลยุทธ์อื่น ๆ ก็แทบจะไร้ค่า
การสร้างชุดความคิดทางการเงินเริ่มต้นด้วยการตั้งใจเตือนตัวเองว่ามีโอกาสมากมายรอบตัวเรา ให้เตือนตัวเองทุกวันว่าคุณเหมาะที่จะร่ำรวย พยายามเปลี่ยนรูปแบบความคิดเชิงลบเกี่ยวกับเงินและแทนที่ด้วยความคิดเชิงบวก เราจะค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะคาดหวังเรื่องต่าง ๆ และเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรองรับการเติบโตของตนเอง
เมื่อทำแบบนั้น เราจะสามารถสมัครงาน ต่อรองค่าจ้าง ขอเพิ่มเงินเดือน หรือร้องขอสิ่งที่เชื่อว่าควรจะได้รับในที่ทำงานด้วยความชัดเจนและมั่นใจมากขึ้น
2. อย่าเก็บเงินจนไม่กล้าใช้
เราทุกคนต่างต้องเจอเหตุฉุกเฉินที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก แล้วเราจะรู้สึกมั่นคงทางการเงินได้อย่างไรในสถานการณ์นั้น ในบทความ “วิธีเอาตัวรอดจากเหตุฉุกเฉินทางการเงินที่ไม่คาดฝัน” ของ Alex Hemmer ได้ให้กลยุทธ์ 2 ข้อที่ช่วยจัดการเงินได้ดีขึ้น
- ขอความช่วยเหลือจากคนที่ไว้ใจ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว คนสำคัญ หรือเพื่อน แม้คนคนนั้นอาจไม่สามารถช่วยเราได้โดยตรง แต่การระบายปัญหาออกมาก็ช่วยให้เราเข้าใจความรู้สึกตัวเองได้ดีขึ้น รวมถึงได้มุมมองใหม่ ๆ จากคนอื่นด้วย
- ทำแผนการใช้จ่าย โดยยึดตามค่าใช้จ่ายประจำ ดูว่าควรจะจ่ายเงินทั้งหมดทันที หรือแบ่งจ่ายทีละน้อยไปก่อน รู้ว่าความเข้าใจทางการเงินไม่ใช่การปราศจากหนี้ แต่เป็นการเรียนรู้ที่จะจัดการค่าใช้จ่ายของตัวเอง แม้จะมีหนี้ก็ตาม
3. กำหนดเป้าหมายในการเก็บเงิน
เราจะบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้นถ้าเรากำหนดขอบเขตที่เป็นไปได้ ในบทความเรื่อง “ต้องย้ายกลับบ้านเหรอ ใช้เวลานี้ควบคุมเรื่องการเงินของคุณสิ” Bobbi Rebell ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินกล่าวว่า “ยิ่งเรากำหนดเป้าหมายเฉพาะที่ต้องการประสบความสำเร็จมากเท่าใด มันก็จะยิ่งง่ายที่จะยึดมั่นกับเป้าหมายได้เท่านั้น”
ขั้นตอนแรก เริ่มจากการถามตัวเองว่า ในสถานการณ์การเงินปัจจุบันของเรา เป้าหมายที่เรากำหนดนั้นเป็นไปได้จริงหรือไม่ ถ้าไม่ ก็ลองยืดเวลาออกไปหน่อย หรือหาวิธีสร้างรายได้เพิ่ม (เช่นงานเสริม)
4. เก็บเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน
หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดที่จะเริ่มเก็บเงินคือการแยกเงินไว้สำหรับใช้จ่ายยามฉุกเฉิน ในบทความ “5 วิธีง่าย ๆ ที่จะคุมการเงินส่วนบุคคล” โดย Kiara Taylor ระบุไว้ว่า เราควรจะตั้งเป้าหมายที่จะมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 30,000 บาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกำลังเริ่มเก็บเงินหรือยังมีหนี้อยู่
Taylor อธิบายว่า เงินฉุกเฉินช่วยลดความเครียดทางการเงินได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านจิตใจ ทำให้ยังมีสติในสถานการณ์ที่ตึงเครียด เช่น การเลิกจ้างครั้งใหญ่ หรือเศรษฐกิจโลกถดถอย อย่างที่สอง หากเจอสถานการณ์ฉุกเฉินส่วนตัว เช่น ค่าซ่อมรถหรือค่าผ่าตัด เราก็จะมีเรื่องให้กังวลน้อยลงไปหนึ่งเรื่อง และสุดท้าย มันจะช่วยให้เราสร้างวินัยที่จะจัดการเงินได้อย่างเป็นปกติ ช่วยให้รู้ถึงสถานการณ์ทางการเงินของตัวเองได้ดีขึ้น
5. ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย
เมื่อเราเก็บเงินในบัญชีธนาคาร อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำกว่าเงินเฟ้อจะทำให้เงินฝากของเรามีมูลค่าลดลง เพื่อแก้ปัญหานี้ Matthew Blume ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินได้แนะนำวิธีการลงทุนไว้ในบทความ “ทำการลงทุนที่ฉลาด: คู่มือสำหรับผู้เริ่มต้น” ว่า การลงทุนจะช่วยให้คุณรับมือกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากเงินเฟ้อได้ ผลประโยชน์สูงสุดของการลงทุนระยะยาวคือความเป็นไปได้ที่จะได้ดอกเบี้ยทบต้น
Blume แนะนำว่าควรทำการลงทุนที่หลากหลายเพื่อจัดการเงินของคุณให้มีประสิทธิภาพ เช่น ลงทุนในหุ้น พันธบัตร บริษัทร่วมทุน โลหะมีค่า อสังหาริมทรัพย์ (หรือคริปโต 🙂 – ผู้แปล) การลงทุนที่หลากหลายจะทำให้สินทรัพย์ของคุณไม่ไปรวมกันอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงได้ การลงทุนที่ดีควรจะลงทุนในสินทรัพย์ที่จะไม่เคลื่อนไหวไปทางเดียวกันเมื่อมีปัจจัยกระตุ้นเดียวกัน เช่น ลงในหุ้นคนละกลุ่ม ซึ่งจะลดความผันผวนของพอร์ตโดยไม่ลดโอกาสสร้างผลตอบแทน
คำแนะนำข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิธีบริหารเงินส่วนบุคคลที่นำไปปรับใช้ในแบบของตัวเองได้ไม่ยาก และเชื่อว่าถ้าทุกคนได้ลองทำแล้ว การเงินจะมั่นคงขึ้น และต่อยอดสู่ความมั่งคั่งได้อย่างแน่นอน
Reference: 5 Ways to Manage Your Personal Finances