KEY TAKEAWAYS
- ทิศทางเศรษฐกิจโลกจาก World Economic Forum 2023 โดย ท็อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 16-20 มกราคมที่ผ่านมา
- หัวข้อสนทนาร่วม ได้แก่ Climate Change, Sustainability, Sustainable Development Goals, Bio-Circular-Green Economy, Climate Technology
- ปี 2024 อาเซียนจะกลายเป็นพื้นที่ที่มีเงินทุนไหลเข้ามามากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ทั้งนี้ต้องมีการแข่งขันเพื่อเป็นศูนย์กลางของอาเซียนให้ได้
อินไซด์ทิศทางเศรษฐกิจโลกในอนาคตจาก World Economic Forum 2023 โดย ท็อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 16-20 มกราคมที่ผ่านมา ภายใต้ธีม ‘Cooperation in a Fragmented World’ หรือ ‘ความร่วมมือในโลกที่แตกแยก’
ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 3,000 คน เยอะสุดในประวัติศาสตร์ของการจัดมาทั้งหมด 53 ปี ซึ่ง 3,000 คนที่มานี้มีหุ้นของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกรวมกันเกิน 50% ของ Market Cap พูดง่ายๆ คือเป็นกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนทิศทางของโลก ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราทุกคนควรรู้ทิศทางเหล่านี้
.ประเทศไทยมีโอกาสไปร่วมทั้งหมด 11 ท่าน จากรัฐบาล 2 และเอกชน 9 ท่าน และคุณท็อป จิรายุส ก็เป็นหนึ่งในนั้น จึงได้นำมาแบ่งปันผ่านยูทูป ติดตามชมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=dmZcYR1QiDU&t=719s และ https://www.youtube.com/watch?v=30IG1IfSsYk ทิศทางโลกจะเป็นอย่างไรต่อไป มาดูกัน
EP.1 ทิศทางเศรษฐกิจโลกโดยรวม
หัวข้อสนทนาร่วมใน World Economic Forum 2023 ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่มากที่จะกระทบทุกส่วนของโลกเลย ได้แก่
- Climate Change การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- Sustainability ความยั่งยืน
- Sustainable Development Goals เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
- Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว
- Climate Technology เทคโนโลยีที่ควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
หัวข้อร่วมรองลงมาลำดับที่ 2
- Digital Wealth ความมั่งคั่งจากโลกดิจิทัล
- Digital Economy เศรษฐกิจดิจิทัล
- Digitization กระบวนการเปลี่ยนแปลงข้อมูลไปสู่รูปแบบดิจิทัล
- Sharing Economy ระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน
- Subscription Economy ระบบเศรษฐกิจแบบการสมัครสมาชิกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
- Just In Time Economy ระบบเศรษฐกิจการบริหารจัดการสินค้าแบบทันเวลาพอดี
- Physical Capital ทุนทางกายภาพ
หัวข้อร่วมรองลงมาลำดับที่ 3
- Digital Inclusion การเข้าถึงเทคโนโลยี
- Health Care การเข้าถึงบริการทางการแพทย์
- Financial Inclusion การเข้าถึงบริการทางการเงิน
หัวข้อร่วมรองลงมาลำดับที่ 4
- เงินเฟ้อ
- เศรษฐกิจ
หัวข้อร่วมรองลงมาลำดับที่ 5
- Web 3.0
- Metaverse
ส่วนเรื่องที่ได้มีการเจาะลึก
Session: What Next for Monetary Policy?
- เงินเฟ้อต้องแบ่งเป็นสองประเภทคือ Headline Inflation กับ Core Inflation
- Headline Inflation เริ่มลดลงมาบ้างแล้ว เพราะราคาพลังงานเริ่มลดลงมา ส่วน Core Inflation เป็นตัวที่ลงมายากกว่า วางเป้าหมายไว้ที่ 2% แต่ตอนนี้ลงมาที่ 6.41% ซึ่งการจะลดลงมา 2% ยากกว่าตอนลด 8% ลงมา 5%
- เศรษฐกิจน่าจะเข้าสู่ Recession 1 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกจะเกิด Recession
- เมื่อเศรษฐกิจเลวร้าย ประเทศที่จะกระทบหนักที่สุดคือประเทศด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนา
- นโยบายการเงินต้องเข้มงวดขึ้นเพื่อคุมเงินเฟ้อ ส่วนใหญ่มองว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะถูกปรับขึ้นต่อ เป้าหมายที่ Fed กำหนดไว้คือ 2% ทั้งนี้ Larry Summer บอกว่าเมื่อพูดไว้แล้วต้องยึดตามนั้น ไม่งั้นจะส่งผลต่อความเชื่อมั่น
- แต่ Fiscal Spending Stimulus (การกระตุ้นการใช้จ่ายทางการคลัง) ยังคงดำเนินอยู่ ซึ่งจะทำให้นโยบายการเงินควบคุมได้ยากขึ้น
- คนตกงานมากกว่า 200,000 คนแล้วโดยเฉพาะบริษัทเทค รวมถึงในอนาคตเมื่อ AI พัฒนามากขึ้น จะยิ่งส่งผลต่ออาชีพ
ชาวไทยควรปรับตัวอย่างไร
- เก็บเงินสดให้ได้มากที่สุด
- อย่าใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น ควรซื้อของไม่จำเป็นหลังปี 2024
- รีบจัดการหนี้ หากมีหนี้ให้รีบปลด และอย่าสร้างหนี้เพิ่ม (ตอนนี้หนี้ครัวเรือนไทยสูง 90% ต่อ GDP ซึ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์)
- พัฒนาความสามารถของตัวเอง เช่น ด้านเทคโนโลยี (Do More With Less) การเอาชนะเงินเฟ้อได้ในระยะยาวคือต้องมี Productivity ให้สูงกว่าเงินเฟ้อ
- บริษัทต่างๆ ต้องบริหารจัดการเงินให้ดี หากจัดการไม่ดีอาจล่มได้เลย
Session: Global Economic Outlook และ Secretary-General of the United Nations
- ตอนนี้โลกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ตะวันออก ตะวันตก บน ล่าง (จีน, อเมริกา, Global North, Global South)
- ออก ตก: สองขั้วอำนาจจีนกับอเมริกาแยกออกจากกัน ทำให้มี 2 ระบบ (แยกหมดทั้งระบบ Internet, AI ฯลฯ) ส่งผลต่อ Global Supply Chain และระบบเศรษฐกิจโลกที่มันสัมพันธ์กัน คาดการณ์ว่าการแบ่งระบบโลกเหล่านี้อาจทำให้เสียหายกว่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์
- บน ล่าง: มีความเหลื่อมล้ำขึ้นเยอะมาก เช่นเรื่อง Climate ยุโรปกำลังเป็น Climate Tech Hub ของโลก เงินลงทุนขนาดใหญ่ไหลเข้า ซึ่งเทคโนโลยีก็จะไปไม่ถึงประเทศกำลังพัฒนา ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เกิดแรงกดดันจากความไม่เท่าเทียม
- สนธิสัญญา นโยบายต่างๆ ของโลกกำลังเปลี่ยนแปลง
ปัจจุบันโลกอยู่ในยุคที่เรียกว่า Perfect Storms ประกอบไปด้วย
- Climate Change: ทั้งนี้เป้าหมายคือปี 2030 ทั่วโลกต้อง Net Zero คือปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 0 (จากปัจจุบันปล่อยปีละ 2.5 หมื่นล้านตัน)
- สังคมผู้สูงอายุ: ทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ไทยเช่นกัน (ฟิลิปปินส์ อินโด อายุเฉลี่ยน้อย) ทำให้ Productivity ลดลง
- Digital Divide: คือความเหลื่อมล้ำของคนที่เข้าใจเทคโนโลยีและคนที่ไม่เข้าใจ คนเข้าใจได้รับประโยชน์อย่างก้าวกระโดด คนไม่เข้าใจก็ถูกทิ้งท้าย
- Food Security: ประชากรเพิ่มขึ้นถึง 8,000 ล้านคนแล้ว (เพิ่มขึ้น 1,000 ล้านทุกๆ 10 ปี) แต่มีอาหารที่เลี้ยงคนในโลกไม่พอ ซึ่งสัมพันธ์กับอุณหภูมิโลกด้วย อุณหภูมิโลกเพิ่ม 2.8 องศาเซลเซียส แต่ส่งผลเยอะ พื้นดินแห้ง ผลผลิตลดลง
- Perfect Storms เป็น No Point of Return คือถึงจุดที่แก้ไขไม่ได้แล้ว ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลต้องร่วมมือกัน และต้องร่วมมือกันทั้งโลก
สงครามรัสเซีย-ยูเครน
- สงครามจะจบไม่ใช่หลังจากฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่คือ Peace Negotiation Table คือการเจรจาข้อตกลงบนโต๊ะอาหาร ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น
- ไม่ใช่แค่สงครามระหว่างสองประเทศแล้ว แต่เป็นทั้งโลก และทั้งโลกต้องอยู่ฝั่งยูเครนเพราะถ้ารัสเซียชนะจะเป็นการทำลาย Basic Sovereignty (อำนาจอธิปไตยขั้นพื้นฐาน)
เกร็ด
- สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ตอนนี้ทั่วโลกเศรษฐกิจไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยตลาด แต่ขับเคลื่อนด้วยการเมือง นักการเมืองตัดสินใจระยะสั้น เพราะหวังผลโหวต เลยตั้งนโยบายที่อยู่ในเทรนด์ แต่อาจไม่ได้ประโยชน์จริงในระยะยาว
- Rule of Law แย่ลงเรื่อยๆ (การปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ) ต้องแก้ไขปัญหาโดยด่วน
- Algorithm ของบริษัทแพลตฟอร์มธุรกิจต่างๆ ต้องแก้ไข เพราะส่งผลต่อความเชื่อของมนุษย์ ทำให้เกิดสองขั้วที่แตกต่างกันแบบสุดโต่ง ใครเชื่อสิ่งใด ชอบอะไร อัลกอริธึมก็จะฟีดแต่สิ่งที่ชอบให้ดูทำให้ Reinforce Self-Belief (ยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ)
EP.2 ทิศทางอาเซียน
ในปี 2024 อาเซียนจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจาก EP ที่แล้วคือเมื่อโลกแบ่งแยก ความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้น นโยบายประชานิยมเกิดขึ้น ต้องเปลี่ยนข้อกำหนด สนธิสัญญาต่างๆ ใหม่ ดังนั้นอาเซียนมีข้อได้เปรียบคือ 1. Swing Vote คือคาดเดาไม่ได้ว่าจะลงคะแนนเสียงไปอยู่ฝั่งไหน 2. เป็นพื้นที่ที่ยังเป็นสังคมอายุน้อย (ยกเว้นไทย) มีแรงทำงาน มองว่าเป็น Growth Engine ในอนาคต 3. รวมถึงยังมีพื้นที่ (Ocean) ที่ยังไม่ได้สำรวจอีกเยอะมาก ซึ่งแปลว่ามีทรัพยากรอีกเยอะ
ภูมิภาคนี้จะก้าวเข้าสู่ยุคทองคำ มีเงินทุนไหลเข้ามาเยอะขึ้น มากที่สุดในประวัติศาสตร์ อนาคตสดใสมาก แต่ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือในภูมิภาคอาเซียนก็จะแย่งกันเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เป็นไข่แดงท่ามกลางไข่ขาว ทั้งนี้ในงานมีประธานาธิบดีฟิลิปปินส์และประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ที่ได้นำเสนอวิธีการเพื่อที่จะได้เป็นไข่แดงของอาเซียนให้ได้
การดำเนินการของฟิลิปปินส์
- ตั้งเป้าหมายเป็น Digital Economy Hub of ASEAN
- สิ่งที่ต้องทำคือ Digital Connectivity: MSMEs ต่างๆ จะเข้าถึงการเชื่อมต่อหมด ซึ่งตอนนี้ฟิลิปปินส์ใช้ Starlink เรียบร้อยแล้ว
- ข้อได้เปรียบต่างๆ ของฟิลิปปินส์ คือ แรงงานใช้ภาษาอังกฤษได้
- อายุเฉลี่ยของคนทำงาน 23.5 ปี กำลังไฟแรง
- เป็น Digital Native คือเกิดมาพร้อมเทคโนโลยี ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือสร้างพื้นฐานให้ประชาชน พวก Internet Connectivity, Digital ID, Reskill, Upskill เพื่อรองรับเม็ดเงินที่ไหลมา หากมีเงินทุนเข้ามาแต่ประชาชนไม่สามารถทำงานได้ ก็ไม่สามารถสานต่อได้
- ภาพรวมต่างๆ ของฟิลิปปินส์กำลังดีขึ้น อัตราหนี้ต่อ GDP ดีขึ้นจาก 63% เหลือ 61% (ไทย 90% สูงที่สุดในประวัติศาสตร์)
- มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมสำหรับ 5 ปี เป้าหมายคือเป็น Hub ของอาเซียนให้ได้
- รัฐบาลไม่ทำงานแบบรวมศูนย์ แต่ Cohesive (ทำงานร่วมกัน) มี KPI เดียวกัน แต่ละหน่วยงานมีเป้าหมายต่างกันแต่สัมพันธ์กันหมด
- ตั้งเป้าหมายเป็น South East ASEAN Market สำหรับ Digital Economy
- สิ่งที่ต้องทำคือ “Make use of what we already have: ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว” แต่พัฒนาให้ดีขึ้น
- แต่ฟิลิปปินส์ขาดแคลน Cyber Security
การดำเนินการของอินโดนีเซีย
- ตั้งเป้าเป็น Sustainability Hub
- ในอดีตอินโดนีเซียส่งออกวัตถุดิบเยอะมาก แต่ไม่ได้สร้างมูลค่า ดังนั้นตอนนี้กำลังปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจจากปฐมภูมิไปขั้นต่อไปเพื่อสร้างมูลค่า เช่น จากแต่ก่อนส่งออกแร่ Nickel แต่ปัจจุบันจะดึงนักลงทุนมาสร้างรถ EV เพื่อสร้างมูลค่ามากขึ้น
- เน้นเรื่อง Local Community และความยั่งยืน วิธีการที่ทำสิ่งใหม่ให้มีความสมดุลที่สุด
- ตอนนี้ 77% ของการส่งออกของอินโดนีเซีย มาจากการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์
- เปิด 8 หมวดหมู่การลงทุนภายในปี 2035 เพื่อดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาภายในประเทศ
- แร่ที่อินโดนีเซียยังไม่มีคือ Lithium
- อินโดนีเซียจะเน้นผลประโยชน์ของคนในชาติก่อน อะไร
- คนชนชั้นกลางของอินโดนีเซียเติบโตเร็วมากๆ แต่ก่อนกระจุกที่ชวา (Java) ตอนนี้กระจายไปทั่วประเทศแล้ว
- ข้อผูกมัด (Commitment) ในอีก 10 ปีข้างหน้า คือ GDP ต่อหัวของประเทศต้องเพิ่มขึ้นสองเท่า ดึง Standard of Living ให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ตอนนี้ GDP ต่อหัวอยู่ที่ 4,500 ดอลลาร์ต่อปี จะต้องเพิ่มเป็น 10,000 ดอลลาร์ต่อปีในอีก 10 ปีข้างหน้า แปลว่าต้องรักษาให้ GDP ต่อหัวโต 6% ต่อปีทุกปี
หลายคน (รวมถึงประธานาธิบดีของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์) มองเป็นภาพเดียวกันว่าในปี 2024 อาเซียนจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นยุคทอง หลายประเทศแย่งกันเพื่อเป็นศูนย์กลางเพื่อให้ได้เงินลงทุนมามากที่สุด แต่ทั้งนี้อาเซียนต้องมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน นักลงทุนจะได้เชื่อมั่นว่าภูมิภาคนี้มั่นคง อาเซียนแต่ละประเทศมีจุดเด่นตัวเอง ต้องหาให้เจอ เน้นจุดนั้น อย่า Copy กัน จับมือกันให้แข็งแรงเพื่อดึงเม็ดเงินเข้ามาในภูมิภาค
สิ่งที่ไทยต้องทำเพื่อแย่งชิงเป็นศูนย์กลางของอาเซียนคือต้องมีความสม่ำเสมอของนโยบาย ต้องมี Road Map ที่ดี ไม่อย่างนั้นเงินทุนก็จะไหลไปอยู่ประเทศอื่น ตอนนี้ไทยมีอุตสาหกรรม 2 ส่วนที่พยุง GDP คือ รถสันดาปและการท่องเที่ยว ซึ่งก็อาจสามารถก้าวผ่านช่องเศรษฐกิจถดถอยในระยะสั้นได้ แต่ในระยะยาวต้องมองหาความสามารถใหม่ได้ ทั้งนี้ต้องมองประเทศเพื่อบ้านที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วย ทั้งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ รวมถึงเวียดนามที่คาดการณ์ว่าอาจมี GDP แซงไทยในอีก 2 ปีข้างหน้า
หน่วยงานหลักที่จะมีบทบาทสำคัญในอนาคตคือกระทรวงดิจิทัลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ไทยเป็นประเทศที่มีต้นทุนดีอยู่แล้ว ขาดเพียงนโยบายและแรงจูงใจที่จะดึงเม็ดเงินเข้ามา
ทั้งนี้ไทยถือเป็นประเทศที่เล็กเกินกว่าจะสร้างอิมแพคให้โลกได้ แต่แม้เราจะเปลี่ยนทิศทางโลกไม่ได้ แต่อย่างน้อยการรู้ว่าโลกกำลังดำเนินไปในทิศทางไหนนั้น มันจะทำให้เราเตรียมตัวได้แต่เนิ่นๆ และเตรียมพร้อมที่จะคว้าโอกาสที่อาจเกิดขึ้นได้
References: Youtube(1), Youtube(2)