Grayscale บริษัทผู้จัดการสินทรัพย์รายใหญ่ของโลก ออกบทวิเคราะห์คริปโตในไตรมาส 3 ประจำปี 2024 เชื่อ Ethereum น่าจับตามอง ขณะกลุ่ม AI น่าจะไปต่อ
Grayscale Research เปิดเผยคาดการณ์ว่า ตลาดคริปโตในไตรมาส 3 ของปี 2024 นี้ จะได้รับผลกระทบจากการที่สหรัฐอนุมัติ spot Ether ETP หลังจากที่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) ได้อนุมัติแบบฟอร์ม 19b-4 จากผู้ยื่นขอจดทะเบียน spot Ether ETP หลายราย แม้เวลาในการอนุมัติให้ทำการซื้อขายจะยังไม่แน่นอน แต่ Grayscale Research ก็เชื่อว่าจะเริ่มเทรดได้ในไตรมาส 3 ของปีนี้
ทั้งนี้ Grayscale Research เชื่อว่าหาก spot Ether ETP เปิดทำการซื้อขาย ก็จะส่งผลคล้ายกับเมื่อตอนที่มีการเปิดตัว spot Bitcoin ETP ในเดือนมกราคม ที่มีเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก (แต่คาดว่า Ether ETP จะดึงดูดเม็ดเงินน้อยกว่า Bitcoin ETP) แต่อาจส่งเสริมให้ Ethereum และโทเคนภายใน Ethereum ecosystem มีมูลค่ามากขึ้น
Ethereum ecosystem มีฟีเจอร์พิเศษมากมาย และยังเป็นเชนที่อยู่ของ Decentralized finance (DeFi) ecosystem ที่ใหญ่ที่สุดในคริปโต รวมถึงโปรเจกต์ Tokenization รายสำคัญมากมาย หาก Ether ETP ช่วยกระตุ้นความสนใจและการปรับใช้ Ethereum ได้ ทาง Grayscale Research ก็เชื่อว่าจะมีการกิจกรรมต่างๆ บน Ethereum มากขึ้น และมูลค่าของโทเคน Layer 2 ที่คนเลือกใช้ (เช่น Mantle), โปรโตคอล Ethereum DeFi (เช่น Uniswap, Maker และ Aave) และสินทรัพย์อื่นๆ ที่ทำงานบนเครือข่าย Ethereum (เช่น staking protocol)
นอกเหนือจากเรื่องการอนุมัติ spot Ether ETP แล้ว Grayscale Research ยังคาดว่าธีมต่างๆ ในตอนนี้จะยังคงอยู่ในความสนใจของตลาดในไตรมาส 3 ต่อไป โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีบล็อกเชนและ AI
หนึ่งในเหรียญประเภทดังกล่าวคือ Near ที่ก่อตั้งโดยผู้ร่วมสร้าง “Transformer” ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ขับเคลื่อนระบบ AI ต่างๆ เช่น ChatGPT ทั้งนี้ Near เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์ม smart contract อันดับต้น ๆ เมื่อวัดจากจำนวนผู้ใช้งานรายวันและการนำไปใช้งานจริงในกรณีที่ไม่ใช่การเงิน แต่หลัง ๆ มานี้ Near ได้โดดเข้าร่วมวงตลาด AI ด้วย โดยตั้งเป้าพัฒนา AGI ที่ผู้ใช้เป็นเจ้าของ
ขณะเดียวกัน เหรียญกลุ่มตลาด GPU แบบ decentralized เช่น Render และ Akash ก็ได้รับประโยชน์จาก AI ด้วยเช่นกัน
นอกจากธีมตลาดสำคัญ ๆ แล้ว โปรเจกต์ต่าง ๆ ก็ได้ประโยชน์จากแนวโน้มการใช้งานที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือการรวมกับแพลตฟอร์มที่นำเสนอขอบเขตการเติบโตของผู้ใช้งาน ตัวอย่างสำคัญคือ Toncoin และ Pendle
TON blockchain เป็นแพลตฟอร์ม smart contract ที่ผูกอยู่กับแพลตฟอร์ม Telegram และมีผู้ใช้งาน, ปริมาณธุรกรรม และรายได้จากค่าธรรมเนียม เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วน Pendle Finance เป็นโปรโตคอล DeFi ที่ค่อนข้างใหม่ ที่ให้ผู้ใช้สามารถเลือกรูปแบบการรับผลตอบแทนได้ตามกลยุทธ์ของตัวเอง
นอกจากนี้ อีกตัวที่น่าสนใจคือเครือข่าย Solana ซึ่งแม้จะไม่ใช่เทรนด์ใหม่ แต่ก็มีผู้ใช้งานมากขึ้น เนื่องจากประสบการณ์ผู้ใช้ที่น่าดึงดูด
Reference: grayscale