ลองนึกภาพว่าเรากำลังนั่งอยู่บนรถ โดยที่เท้าข้างหนึ่งของเราอยู่ที่คันเร่ง เพื่อเร่งความเร็วเมื่อรถเคลื่อนที่ช้า และมือของเราอยู่ที่เบรค เพื่อชะลอรถเมื่อมันวิ่งแรงเกินไป โดยปกติแล้วมันก็ควรจะทำงานได้อย่างปกติใช่มั้ย
แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากว่ารถที่เรานั่งอยู่ เริ่มเบรคและเร่งความเร็วไปพร้อมๆ กัน ? ยินดีต้อนรับเข้าสู่ Stagflation โลกของเศรษฐกิจอันแสนวุ่นวาย แต่ไม่ต้องกังวลไป วันนี้เรามาเรียนรู้เกี่ยวกับมันไปพร้อมๆ กัน
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Stagflation
Stagflation หรือภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน เป็นเหมือนแขกที่ไม่ได้รับเชิญในงานเลี้ยงทางเศรษฐกิจ มันเป็นส่วนผสมของสองสิ่งที่เราไม่ชอบเข้าด้วยกันคือ การเติบโตที่ซบเซา (Stagnant) และ ภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น (inflation)
คำนี้ถูกใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1965 โดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษนามว่า Lain Macleod โดยเขาพยายามอธิบายถึงสถานการณ์ที่เศรษฐกิจกำลังประสบปัญหาภาวะว่างงานสูง และมีการเติบโตที่ชะลอตัว ในขณะที่ราคาสินค้านั้นแพงมากขึ้น ซึ่งเขานิยามว่ามันเหมือนกับการเดินขึ้นภูเขาในตอนที่เกิดแผ่นดินถล่ม
ในสถานการณ์ปกติ เศรษฐกิจที่เติบโตช้าสามารถแก้ได้ด้วยการอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบมากขึ้น ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินของภาคธุรกิจต่ำลง ส่งสร้างการขยายตัวและการสร้างงาน ในทางกลับกัน เมื่อทุกอย่างโตเร็วเกินไป เราก็สามารถแก้ได้ด้วยการลดปริมาณเงินในระบบ โดยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมเงินสูงขึ้น เกิดการใช้จ่ายที่ช้าลง และราคาสินค้าก็จะหยุดเพิ่มขึ้น
แต่ในสถานกาณณ์ที่เรียกว่า Stagflation การใช้มาตรการเหล่านี้เพื่อรักษาด้านหนึ่ง อาจทำให้ปัญหาอีกด้านหนึ่งรุนแรงขึ้น กลายเป็นว่าทุกอย่างบานปลายและยากต่อการแก้ไข
Stagflation กับเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อก็เหมือนกับการที่ค่าครองชีพสูงขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งคือ การที่เงินในกระเป๋าของคุณ มีค่าน้อยลงกว่าเดิม เมื่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น มาเจอกับสภาวะเศรษฐกิจซบเซา มันก็จะกลายเป็น Stagflation ซึ่งเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่ซ้ำซ้อน
สาเหตุของการเกิด Stagflation
Stagflation ไม่ใช่อะไรที่เกิดขึ้นเป็นประจำ มันเหมือนกับพายุที่สมบูณ์แบบที่ก่อตัวขึ้นเมื่อภาวะเศรษฐกิจหลายบางอย่างมารวมกัน และนี้คือตัวอย่าง
นโยบายแบบผสมผสาน : ลองนึกถึงสถานการณ์ที่รัฐบาลขึ้นภาษี ปล่อยให้คนใช้จ่ายน้อยลง ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางก็อัดฉีดเงินเข้ามาในระบบ สิ่งนี้ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจช้าลง และสินค้าราคาแพงมากขึ้น
เกมการเงิน : ย้อนกลับไปสมัยก่อน สกุลเงินหลายสกุลมีมูลค่าผูกติดอยู่กับทองคำ ทำให้มีปริมาณเงินจำกัด แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องราวมันเปลี่ยนไปอีกแบบ เพราะเราได้มาใช้สิ่งที่เรียกว่า สกุลเงินเฟียต (Fiat Currency) ซึ่งเงินมีค่าเพราะรัฐบาลนั้นๆ บอกว่ามีค่า สิ่งนี้ทำให้ธนาคารกลางสามารถควบคุมเศรษฐกิจได้มากขึ้น แต่ก็สร้างความเสี่ยงและเป็นอันตรายต่ออัตราเงินเฟ้อ
ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นแบบกระทันหัน : โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น สินค้าใช้ต้นทุนในการผลิตมากขึ้น และผู้คนมีรายได้ในการจับจ่ายใช้สอยน้อยลงเพราะพลังงานแพง Stagflation ก็อาจกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้
แล้วเราจะรับมือกับ Stagflation ได้อย่างไร
จริงๆ วิธีการในการต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจชะงักงันนั้นมีหลากหลายมาก ขึ้นอยู่ว่าคุณเอาไปถามใคร
ถ้าคุณถามนักการเงิน เขาก็จะบอกให้ทำการควบคุมอัตราเงินเฟ้อก่อน ด้วยการลดจำนวนเงินในระบบ โดยกลยุทธ์นี้มีแนวโน้มที่จะลดการใช้จ่าย ทำให้ราคาสินคาลดลง แต่มีข้อเสียคือ วิธีนี้ไม่ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งต้องไปแก้กันอีกตอนหลัง
ถ้าคุณไปถามนักเศรษฐศาสตร์ เขาก็จะบอกให้คุณเพิ่มอุปทาน ด้วยการลดต้นทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต มาตรการดังกล่าวอาจรวมถึงการควบคุมราคาพลังงาน การลงทุนเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการอุดหนุนการผลิต
และถ้าคุณไปถามนักการตลาดเสรี เขาก็จะบอกว่าให้เชื่อมั่นในความสามารถในการแก้ไขต้นเองของตลาด พวกเขาเชื่อว่า ราคาของสินค้าที่สูง จะทำให้ความต้องการของผู้บริโภคน้อยลง และราคาก็จะลดลงในท้ายที่สุด อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้อาจใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล โดยประชาชนอาจต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปก่อน
Stagflation และ Cryptocurrency
คุณอาจจะกำลังสงสัยว่า แล้ว Stagflation ส่งผลต่อ Bitcoin และคริปโตสกุลอื่นๆ ยังไง
ในช่วงที่เกิด Stagflation ผู้คนมีเงินลงทุนน้อยลง ทำให้ความต้องการในสกุลเงินดิจิทัลลดลง นอกจากนี้ บรรดานักลงทุนรายใหญ่อาจหลีกเลี่ยงการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเช่นคริปโต
ในตอนแรกรัฐบาล อาจจะพยายามควบคุมเงินเฟ้อด้วยการลดปริมาณเงินในระบบลง ขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลต่อความต้องการในตัวสกุลเงินดิจิทัล แต่เมื่ออัตราเงินเฟ้ออยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว นโยบายที่กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ อาจส่งผลเชิงบวกกับตลาดคริปโต
บางคนอาจจะมองว่า Bitcoin เป็นเครื่องมือป้องกันเงินเฟ้อ เมื่อราคาสินค้าสูงขึ้น มูลค่าของเงินในธนาคารก็จะลดลง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ บางคนอาจหันไปถือ Bitcoin แทน เพราะมีความคิดว่า Bitcoin เป็นแหล่งเก็บมูลค่าที่ดีเนื่องจากมีปริมาณจำกัด อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจใช้ไม่ได้ผลในระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง Stagflation
Stagflation ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
ไม่ใช่ว่าเราจะไม่เคยเจอกับ Stagflation มาก่อน โดยวิกฤตการณ์น้ำมันในปี 1973 เมื่อกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันแห่งอาหรับ หรือ OPEC (The Organization of Arab Petroleum Exporting Countries) ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตร ทำการขายน้ำมันให้กับเฉพาะบางประเทศเท่านั้น เพื่อเป็นตอบโต้ประเทศที่ประกาศเป็นพันธมิตรกับประเทศอิสราเอลในสงครามยมคิปปูร์ (Yom Kippur War)
ธนาคารกลางทั้งในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ได้พยายามลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำทำให้การกู้เงินมีต้นทุนถูกลง และเป็นแรงจูงใจให้เกิดการใช้จ่ายมากกว่าการออมเงินเอาไว อย่างไรก็ตาม กลไกทั่วไปในการลดอัตราเงินเฟ้อคือการเพิ่มดอกเบี้ย
แต่เนื่องจากต้นทุนน้ำมันและพลังงาน เป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของผู้บริโภค และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไม่สามารถกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจได้มากพอ ทำให้ประเทศฝั่งตะวันตก ประสบกับภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน หรือ Stagflation
Stagflation เป็นปรากฏการณ์ที่ซับซ้อน เป็นปริศนาสำหรับนักเศรษฐศาสตร์และรัฐบาลที่คอยออกนโยบาย เป็นสถานการณ์ที่แปลกประหลาด เมื่อกลยุทธ์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจไม่สำเร็จและนำไปสู่เงินเฟ้อ หรืออะไรที่เลวร้ายกว่านั้น ในช่วงเวลาของ Stagflation การเข้าใจภาพรวมของเศรษฐกิจทั้งหมดเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งปริมาณเงินในระบบ อัตราดอกเบี้ย อุปสงค์และอุปทาน และอัตราการจ้างงาน ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถเข้าใจสัตว์ร้ายที่ควบคุมได้ยากในโลกเศรษฐกิจอย่าง Stagflation ได้
Reference : Binance