KEY TAKEAWAYS
- สิ่งที่โดดเด่นมากๆ ในการเงินแบบฝังตัวคือ ‘ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง’ Globaldata คาดการณ์ว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นจาก 1.2 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2021 ไปเป็น 5.76 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2026
- ธนาคารมักมองว่าธุรกิจใหม่ๆ และธุรกิจออนไลน์มีความเสี่ยงสูง จึงปฏิเสธที่จะให้สินเชื่อ ผู้ประกอบการจึงหันไปพึ่งการเงินทางเลือกจนมันได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
- ปี 2022 เป็นปีที่ผู้เล่นรายใหญ่ในวงการคริปโตล่มสลายไปหลายราย แต่เทคโนโลยีบล็อกเชนยังดำเนินการต่อไปได้ และมีแนวโน้มการใช้งานที่ดี โดยเฉพาะ CBDC
- ยังมีผู้คนกว่า 1.7 พันล้านคนทั่วโลกที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ดังนั้นการลงทุนในภาคส่วนนี้จึงยังคงมีแนวโน้มเติบโต
ปี 2022 นับว่าไม่ใช่ปีที่สดใสนักในด้านการเงินและเศรษฐกิจ โดยมีผลกระทบมาจากหลายอย่าง ทั้งวิกฤติพลังงานที่เกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 อัตราเงินเฟ้อที่มากขึ้นจนทำให้เกิดนโยบายการเงินที่เข้มงวด แม้กระทั่งการล่มสลายของผู้เล่นรายใหญ่หลายรายในแวดวงคริปโต ธุรกิจและทุกภาคส่วนต่างพากันปรับตัวกันจ้าละหวั่น
แต่ทั้งนี้ แวดวงการเงินก็ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การเติบโตของเทคโนโลยีก็ค่อยๆ ก้าวเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน รูปแบบการเงินผ่านธนาคารแบบดั้งเดิมค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยโซลูชั่นดิจิทัล จนทำให้การใช้งานเร็วขึ้น ง่ายขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น จนทำให้เราคาดหวังว่าปีต่อไปจะเป็นปีที่ดีในแวดวงการเงิน
เอาล่ะ เปิดมุมมองให้กว้างขึ้น แล้วจับตามองดูฟินเทค (FinTech: Financial Technology) ที่น่าสนใจในปี 2023 กัน
Embedded Finance | การเงินแบบฝังตัว
การเงินแบบฝังตัวคือ บริษัท (ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน) ที่ให้บริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องในหลายส่วนของการใช้ชีวิตประจำวันของเรา บางทีอาจจะเป็นการฝังบริการทางการเงินเข้าไปในโครงสร้างของธุรกิจเลยโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องยุ่งเกี่ยวกับสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม อย่างเช่นแอปพลิเคชั่นของร้านกาแฟที่ให้ชำระเงินได้ หรือบัตรเครดิตที่เป็นแบรนด์ของห้างสรรพสินค้านั้นๆ ไปจนถึงการปล่อยกู้ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
โดยคาดว่าการเงินแบบฝังตัวนี้จะเติบโตอย่างมากในปี 2023 มีการค้นหาคำนี้เพิ่มขึ้นถึง 488% ภายใน 5 ปี
บริการที่โดดเด่นมากในการเงินแบบฝังตัวก็คือ บริการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (buy now pay later: BNPL) อย่างที่เราหลายคนก็เคยใช้กันมาแล้ว
ผลการสำรวจของ The Ascent ที่สำรวจวัยรุ่นอเมริกัน 2,000 คน พบว่าคนรุ่น Millennial และ Gen-Z ใช้ BNPL เยอะมาก จนทำให้เกิดปัญหาหนี้สิน นอกจากนี้ Globaldata ยังคาดการณ์ว่ามูลค่าของ BNPL จะเพิ่มขึ้นจาก 1.2 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2021 ไปเป็น 5.76 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2026
Alternative Financing | การเงินทางเลือก
ช่วงวิกฤติโควิด ธนาคารเองก็ได้รับผลกระทบ จนส่งมาถึงผู้ใช้บริการอย่างเราๆ ด้วย ทำให้การเงินทางเลือกได้รับความนิยมมากขึ้นทุกขณะ
แล้วการเงินทางเลือกมันคืออะไร มันก็คือการที่บริษัทที่ไม่ใช่ธนาคาร ให้บริการเงินทุนสำหรับทำธุรกิจ เช่น คุณทำธุรกิจมาสักพักหนึ่งแล้ว บริษัทกำลังเติบโต แต่ขาดเงินทุนในการโฆษณา ซึ่งถ้าหากได้โฆษณาก็จะทำให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งเจ้าของธุรกิจสามารถที่จะเข้าไปขอยืมเงินจากแพลตฟอร์มในรูปแบบการ ‘จัดหาเงินทุนตามรายได้’ (Revenue-based financing: RBF) ได้
อันที่จริงเรื่องการเงินทางเลือกมีมานานแล้ว แต่เพิ่งมาบูมเอาเมื่อช่วงอีคอมเมิร์ซกับธุรกิจสตาร์ทอัพเฟื่องฟูเมื่อไม่มานมานี้เอง เพราะธนาคารมักมองว่าธุรกิจใหม่ๆ และธุรกิจออนไลน์มีความเสี่ยงสูง จึงปฏิเสธที่จะให้สินเชื่อ ในจุดนี้เองที่การเงินทางเลือกเข้ามามีบทบาท
ปัจจุบันการเงินทางเลือกมีมูลค่า 6.62 พันล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) อยู่ที่ 6.3% จากปี 2022 – 2028 ถือว่ามีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก และในอนาคตน่าจะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญต่อระบบนิเวศธุรกิจ
Blockchain Technology and Cryptocurrency | เทคโนโลยีบล็อกเชนและคริปโตเคอร์เรนซี
ปี 2021 เป็นปีที่สดใสมากๆ สำหรับวงการคริปโต เหรียญต่างๆ พากันทำราคา New All Time High กันเป็นว่าเล่น แต่พอเข้าปี 2022 เหตุการณ์ก็เกิดตาลปัตร ทั้งจากวิกฤติเศรษฐกิจ การล่มสลายของผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Luna-Terra หรือกระทั่งล่าสุดแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง FTX ทำให้มูลค่าของวงการคริปโตลดลงประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์จากช่วงพีคๆ ของปีที่แล้ว
แม้สถานการณ์คริปโตจะยังไม่ค่อยดี แต่เทคโนโลยีบล็อกเชนยังคงดำเนินต่อไป และก็ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การสำรวจจาก Stellar Development Foundation ชี้ว่าผู้ร่วมแบบสำรวจ 52% มองว่าคริปโตเคอร์เรนซีถือเป็นทางเลือกในการชำระเงินที่ดี
ส่วนที่โดดเด่นมากๆ ในเทคโนโลยีบล็อกเชนก็คือการชำระเงินข้ามพรมแดน เพราะการโอนเงินระหว่างประเทศด้วยช่องทางแบบเดิมๆ นั้นมีค่าใช้จ่ายสูง และดำเนินการช้า เทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้
ปัจจุบันประเทศต่างๆ ก็มีการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) กันบ้างแล้ว เช่น หยวนดิจิทัลของจีน รูเบิลดิจิทัลของรัสเซีย โครนาดิจิทัลของสวีเดน ฯลฯ ซึ่งก็ดูเหมือนจะมีแนวโน้มที่ดี
ในปี 2023 มีความคาดหวังว่าธนาคารต่างๆ จะยอมรับคริปโตเคอร์เรนซีเป็นหนึ่งในรูปแบบการชำระเงินมากขึ้น ทางด้าน Mastercard ก็เพิ่งประกาศไปเมื่อไม่นานนี้ว่ามีแผนที่จะทำให้คริปโตเคอร์เรนซีสามารถใช้จ่ายได้ในชีวิตประจำวัน (everyday way to pay) โดยจะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมกระดานเทรดคริปโต Paxos กับธนาคาร
คำว่า ‘จ่ายด้วยคริปโต’ ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น โดยมีการค้นหาเพิ่มขึ้น 136% นับตั้งแต่ปี 2017
RegTech | เทคโนโลยีเพื่อกฎระเบียบและการกำกับดูแลต่างๆ
RegTech ศัพท์ใหม่ในวงการการเงินที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2008 ที่อาจไม่คุ้นตาสักเท่าไหร่ มาจากคำ 2 คำคือ Regulation ที่แปลว่าการกำกับควบคุมและคำว่า Technology (เทคโนโลยี) ซึ่งรวมกันขึ้นเพื่อใช้สื่อถึงการนำเทคโนโลยีมากำกับดูแลอุตสาหกรรมต่างๆ
แน่นอนว่าเทคโนโลยีที่ค่อยๆ ก้าวหน้านำความสะดวกสบายมาให้เรา แต่อีกด้านหนึ่งมันก็มีความเสี่ยงซ่อนอยู่เหมือนเงาตามตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการละเมิดข้อมูล การแฮ็ก การฟอกเงิน ฯลฯ และ RegTech ก็เกิดขึ้นมาเพื่อป้องกันสิ่งเหล่านี้นี่เอง
ตอนนี้ RegTech พัฒนาร่วมกับหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น AI, บล็อกเชน, machine learning, natural language processing และเทคโนโลยีอื่นๆ มันยังเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ค่อยใหญ่แต่ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว
ตัวอย่าง RegTech ในหลายหมวดหมู่ เช่นหมวดหมู่การจัดการภาษี (Avalara, Canopy, Vatbox) กฎหมาย (Trackbill, FiscalNote) บล็อกเชน / Bitcoin (Skry, Elliptic) การจัดการสุขภาพ (Greenlight.guru, Qualtrax)
มีการค้นหาคำว่า ‘RegTech’ เพิ่มขึ้น 184% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และคาดว่ามันจะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและปัญหาต่างๆ ด้วยการจัดหาโซลูชั่นเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับภาคส่วน FinTech
Artificial Intelligence | ปัญญาประดิษฐ์การเงิน
ปัญญาประดิษฐ์หรือที่เราเรียกติดปากว่า AI (Artificial intelligence) อยู่ร่วมกับสังคมเทคโนโลยีมาเป็นเวลานานและมันก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเข้าไปเกี่ยวข้องในหลายภาคส่วน รวมถึงธนาคาร ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการค้นหาคำว่า ‘AI in banking’ เพิ่มขึ้น 104% ทั่วโลก
Autonomous NEXT คาดการณ์ว่าในปี 2030 AI จะสามารถลดต้นทุนการทำงานของธนาคารได้มากถึง 22% หรือประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ มันสามารถเข้ามาจัดการได้ในหลายส่วน ทั้งป้องกันอาชญากรไซเบอร์ ภัยคุกคามอื่นๆ รวมถึงการให้บริการที่โดดเด่นมากอย่างแชทบอท (Chatbot)
การศึกษาจาก Juniper Research ชี้ว่า Chatbot สามารถโต้ตอบกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการสนทนากับลูกค้าจนจบการสนทนาจะเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 3,150% จากปี 2019 – 2023 และสามารถประหยัดเวลาการทำงานของคนทำงานในธนาคารได้มากถึง 826 ล้านชั่วโมง
Financial Inclusion | การเข้าถึงบริการทางการเงิน
ธนาคารโลกรายงานว่าใน 10 ปีที่ผ่านมานี้ มีคนที่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินเพิ่มขึ้นถึง 1.2 พันล้านคน แต่ก็ยังมีอีกมากกว่า 1.7 พันล้านคนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา
ทำให้ยังคงมีเงินทุนไหลเข้าไปใน FinTech ที่แอฟริกาและเอเชียแปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง โดยในครึ่งปีแรกของปี 2022 การลงทุน FinTech ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 4.18 หมื่นล้านดอลลาร์ซึ่งมากกว่าครึ่งแรกของปี 2021 ถึงสองเท่า ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1.92 หมื่นล้านดอลลาร์
และในแง่ของการลงทุน ปี 2023 ก็ยังจะเป็นปีที่มีการลงทุน FinTech อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนทั้งโลกต่อไป
Environmental, Social And Governance Initiatives | Fintech ที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม สังคม และการปกครอง
การตระหนักถึงเรื่องสภาพแวดล้อม สังคม และการปกครอง เรียกย่อๆ ว่า ESG (Environmental, Social And Governance) กลายเป็นเรื่องสำคัญในยุคปัจจุบัน
มี FinTech ที่เกิดขึ้นมาเพื่อสนับสนุนเรื่อง ESG โดยเฉพาะ อย่างเช่น ธนาคารกลางของสิงคโปร์ (The Monetary Authority of Singapore) ที่ร่วมกับ Google Cloud เพื่อเปิดตัวโปรแกรมที่เรียกว่า The Point Carbon Zero เป้าหมายคือเพื่อสนับสนุนนวัตกรรม FinTech ในเอเชียที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
มีเงินทุนไหลเวียนในอุตสาหกรรม ESG จำนวนมากและมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ นักวิเคราะห์ของ Bloomberg ประเมินว่าสินทรัพย์ ESG ทั่วโลกจะมีมูลค่าเกิน 53 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2025 ดังนั้น FinTech ที่เกี่ยวข้องกับ ESG โดยเฉพาะจึงเป็นเรื่องสำคัญ มันมีแนวโน้มเติบโต และน่าจับตามองอย่างมาก
กระแสโลกเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ มีเทคโนโลยีและเทรนด์ฮิตใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอในทุกแวดวงเช่นเดียวกับวงการการเงินที่ได้นำเสนอไป การมองไปข้างหน้าให้กว้างและไกลมักจะมองเห็นโอกาสได้มากกว่าเสมอ
References : Forbes, Ascentregtech, Financialit, Financesonline, Datafloq