KEY TAKEAWAYS
- แนวคิดเรื่อง NFT ปรากฎบนโลกเมื่อปี 2012 ด้วยชื่อ Colored Coin โดยการพยายามที่จะสร้างโทเค็นเพื่อแทนสินทรัพย์จริงแล้วเก็บไว้ในบล็อกเชนของ Bitcoin
- NFT ชิ้นแรกของโลกชื่อ Quantum สร้างขึ้นเมื่อปี 2014
- ปี 2016 เกิดมีมยอดนิยมในวงการคริปโตอย่างเจ้ากบหน้ากวน Rare Pepes
- ปี 2017 มี Token Standard ถือเป็นจุดเปลี่ยนในโลกคริปโต เกิดโปรเจกต์ยอดนิยมอย่าง Cryptopunks และ Cryptokitties
- ปี 2018 – 2020 เกิดเกม NFT ขึ้นมามากมาย รวมถึง Metaverse เริ่มผุดขึ้น NFT เริ่มหันแหเข้าสู่กระแสหลัก
- ปี 2021 – 2022 ได้รับความนิยมอย่างมาก มีการประมูล NFT ในแพลตฟอร์มชื่อดัง รวมถึงมี Smart Contract ใหม่ๆ เกิดขึ้น
วงการ ‘ของสะสม’ มีการเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน ในอดีตเราอาจจะคุ้นเคยกับสินทรัพย์ที่สามารถจับต้องได้ แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้เองก็ปรากฏของสะสมในรูปแบบดิจิทัลขึ้นมาอย่าง CryptoArt และ NFT (Non-fungible token) ซึ่งเป็นการนำศิลปะเข้าไปอยู่บนบล็อกเชนและมีการกระจายศูนย์ (decentralized) ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของ ‘ของสะสม’ ที่น่าจับตามองและน่าจะมีอนาคตอีกไกล ดังนั้นบทความนี้เราจึงจะมาย้อนดูประวัติศาสตร์ของ NFT กัน
2012 : Colored Coins เหรียญสี จุดกำเนิดแนวคิด NFT
แนวคิดเรื่อง NFT ผุดขึ้นมาบนโลกในปี 2012 มีชื่อเท่ๆ ว่า Colored Coin แปลตรงตัวก็คือเหรียญสี เปเปอร์ของแนวคิดเรื่องเจ้าเหรียญสีนี้เขียนโดยเมนี โรเซนฟิลด์ (Meni Rosenfield) มันเป็นแนวคิดที่จะใช้บล็อกเชนของเหรียญเรือธงผู้บุกเบิกวงการอย่าง Bitcoin (BTC) มาใช้ประโยชน์มากขึ้น โดยจะสร้างโทเค็นซึ่งจะเอาไว้เป็นตัวแทนของสินทรัพย์ที่มีบนโลกจริง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ บ้าน หุ้น หรืออะไรก็ตามที่มีค่า ซึ่งโทเค็นที่เป็นตัวแทนนั้นก็จะถูกนำมาเก็บไว้บนบล็อกเชน และจะสามารถใช้แต่ละโทเค็นพิสูจน์ความเป็นเจ้าของสินทรัพย์เหล่านั้นได้
อันที่จริงโทเค็นตามแนวคิดนี้ก็คล้ายๆ กับ Bitcoin นั่นแหล่ะ แต่ก็จะมีองค์ประกอบอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อยเพื่อที่จะให้มันเป็นโทเค็นเพียงชิ้นเดียวในโลก ซึ่งก็จะสามารถเอาไว้ใช้ยืนยันความเป็นเจ้าของได้
ฟังดูเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ แต่ในตอนนั้นมันก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ จนไม่สามารถสร้างเจ้า colored coin ขึ้นมาได้ แต่อย่างไรก็ตามก็นับว่ามันได้สร้างรากฐานที่จะนำไปสู่การสร้าง NFT ที่เราได้รู้จักกันในอนาคต
2014 – 2016 : ‘Quantum’ NFT ชิ้นแรกของโลก
3 พฤษภาคม 2014 ศิลปินหนุ่มชาวนิวยอร์กชื่อ เควิน แมกคอย (Kevin McCoy) สร้างงานศิลปะดิจิทัลชิ้นหนึ่งขึ้นมาชื่อ ควอนตัม (Quantum) และเจ้าควอนตัมนี้ก็ถูกจดจำในฐานะ NFT ชิ้นแรกของโลก
NFT ชิ้นแรกของโลกนี้เป็นรูปเคลื่อนไหวแปดเหลี่ยมที่เปลี่ยนสีและเต้นอย่างเป็นจังหวะ จ้องมองไปสักพักก็คล้ายๆ การสะกดอยู่เหมือนกัน มันถูกขายไปในราคา 7 ล้านดอลลาร์ นับว่าค่าสูงพอตัวสำหรับ NFT ชิ้นแรกของโลก
หลังจากการเกิดขึ้นของ Quantum แล้ว มันก็ได้จุดประกายให้ศิลปินอีกมากมายต่างทดลองและพัฒนาสร้าง NFT ตามมาอีกมาก
ในปีเดียวกันนี้เอง แพลตฟอร์มที่ชื่อ Counterparty ก็ได้ถูกสร้างขึ้น โดย Counterparty จะเขียนโค้ดสร้างสมาร์ทคอนแทรค (smart contract) ขึ้นมา เพื่อให้ผู้ใช้สามารถสร้างคำสั่งต่างๆ ได้ จากนั้นใช้บล็อกเชนของ Bitcoin เพื่อรันสมาร์ทคอนแทรค สิ่งนี้ทำให้ผู้ใช้สามารถสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลของตัวเองได้
2015 เดือนเมษายน Counterparty ได้ร่วมมือกับทีมผู้สร้างเกมอย่าง Spells of Genesis และเริ่มต้นเป็นผู้บุกเบิกในการสร้างสินทรัพย์ในเกม
2016 เดือนสิงหาคม Counterparty ได้ร่วมมือกับทีมผู้สร้างการ์ดเกม Force of Will ซึ่งเป็นการ์ดเกมที่ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นอันดับ 4 ในทวีปอเมริกาเหนือ การก้าวเข้ามาในระบบนิเวศบล็อกเชนนับว่าเป็นสัญญาณที่บอกว่าพวกเขาให้ค่ากับสินทรัพย์บนบล็อกเชน
2016 เดือนตุลาคม เริ่มมีมีมเกิดขึ้นมากมายบนแพลตฟอร์ม Counterparty รวมถึงมีมที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีเพราะมันกระจายว่อนอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตอย่าง ‘Rare Pepes’ ซึ่งก็คือเจ้ากบที่มีหน้าตาและเอกลักษณ์อันแสนโดดเด่น
อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์ม Counterparty ใช้ศักยภาพจากบล็อกเชนของ Bitcoin ซึ่งมันไม่ใช่เครือข่ายที่เหมาะสำหรับเป็นฐานข้อมูลของโทเค็นที่ใช้แสดงความเป็นเจ้าของอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อ Ethereum (ETH) ถือกำเนิด มันจึงได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้วงการ NFT อย่างมาก และนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวกระโดดทีเดียว
2017 : Cryptopunks และ CryptoKitties
การเปลี่ยนแปลงสำคัญหลังจากย้ายการสร้าง NFT ไปอยู่บนบล็อกเชนของ Ethereum คือการมีชุดมาตรฐานโทเค็น (token standards) ซึ่งเป็นส่วนย่อยในมาตรฐานสมาร์ทคอนแทรค (smart contract) อีกที สิ่งนี้ทำให้นักพัฒนาสามารถที่จะสร้างโทเค็นของตัวเองได้ โดยมีแนะนำวิธีการสร้าง การออกโทเค็น การปรับใช้โทเค็นภายใต้เทคโนโลยีบล็อกเชน
ปี 2017 ความนิยมของ Rare Pepes ได้จุดประกายให้นักพัฒนาสองคนคือ จอห์น วอทคินสัน (John Watkinson) และแมท ฮอลล์ (Matt Hall) นักพัฒนาจาก Larva Labs สร้างโปรเจกต์ NFT บนบล็อกเชนของ Ethereum โปรเจกต์นั้นชื่อว่า ‘Cryptopunks’ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมพังค์และการเคลื่อนไหวของไซเบอร์พังค์ในกรุงลอนดอน มันเป็นโปรเจกต์ทดลอง ประกอบด้วย NFT 10,000 ชิ้นและไม่มีชิ้นไหนที่เหมือนกันเลย และที่สำคัญคือมันสร้างขึ้นมาเพื่อแจกฟรี
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญในระบบนิเวศของ Ethereum ก็คือการเปิดตัวเกม CryptoKitties ซึ่งเป็นเกมที่ให้ผู้เล่นรับเลี้ยงแมว ผสมพันธุ์แมวและซื้อขายแมวได้ ผู้สร้างคือบริษัท Axiom Zen ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา มันเปิดตัวได้เพียงไม่นานก็เป็นกระแสและได้รับความนิยมไปทั่ววงการ CryptoKitties นับว่าเป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้ผู้คนเห็นถึงศักยภาพที่แท้จริงของ NFT
2018 – 2020 : NFT หันหัวเรือเข้าสู่กระแสหลัก
ความสำเร็จของ CryptoKitties จุดประกายให้กับทั้งวงการ เกม NFT อีกหลายเกมผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด และผลักดันวงการ NFT รวมถึงเมตาเวิร์ส (Metaverse) ให้เป็นที่สนใจของคนในวงกว้างมากขึ้น โปรเจกต์แรกที่ก้าวเข้ามาในวงการคือ Decentraland (MANA) ซึ่งผู้เล่นเกมสามารถที่จะออกสำรวจ สร้างสิ่งต่างๆ เก็บไอเท็ม และเอามันไปขายให้กับผู้เล่นอื่นเพื่อสร้างเม็ดเงินได้
ไม่นานหลังจากนั้นก็เกิดแพลตฟอร์มที่ทำให้นักพัฒนาสามารถสร้างสิ่งต่างๆ โดยผูกเข้ากับ NFT ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น หนึ่งในแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นก็คือ Enjin Network (ซึ่งมี Native token ของแพลตฟอร์มเองคือ Enjin Coin (ENJ)) มันถูกสร้างขึ้นบนแพลตฟอร์มของ Ethereum และหลังจากนั้นก็ตามมาด้วย Marketplace หรือตลาดซื้อขาย NFT เจ้าดังที่เรารู้จักกันดีอย่าง Opensea ที่ได้กลายมาเป็นตลาดกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน NFT ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ตอนนี้ ซึ่งการเกิดขึ้นของตลาดกลางนี้เองที่ทำให้เหล่าเกมเมอร์สามารถนำไอเท็มที่ได้ในเกมมาแปลงให้มีมูลค่าในโลกจริงของเราได้
2021 – 2022 : การปะทุของ NFT
นับตั้งแต่ปี 2021 วงการ NFT ก็เหมือนระเบิดแตกในโลกดิจิทัล ก็คือเสียงดังมากและทุกคนที่อยู่ในวงการต้องหันมาจับตามองด้วยความสนใจ (หรือบางทีไม่ได้อยู่ในวงการก็ยังต้องเคยได้ยินบ้าง)
หนึ่งในปัจจัยที่ช่วยฉายแสงมายัง NFT ก็คือการที่แพลตฟอร์มประมูลอย่าง Christie และ Sotheby มีการเปิดประมูลชิ้นงาน NFT ด้วย และงานอาร์ต NFT ที่ชื่อ Everydays: the First 5000 Days ของศิลปิน Beeple ก็ถูกประมูลไปในราคาสูงถึง 69 ล้านดอลลาร์ และกลายเป็น NFT ที่มีราคาต่อชิ้นแพงที่สุดในโลกดิจิทัลในปัจจุบัน
อีกหนึ่งปัจจัยก็คือการเปิดตัวของแพลตฟอร์มใหม่ๆ อย่าง Binance, Solano, Tezos และ Flow ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มก็มีมาตรฐาน NFT ใหม่เกิดขึ้น และช่วยสร้าง NFT ให้มีความเป็นเอกลักษณ์มากขึ้น
ส่วนเมื่อปลายปี 2021 แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ก็ได้เปลี่ยนชื่อแบรนด์ใหม่เป็น Meta และก้าวเข้าสู่จักรวาล metaverse ด้วยความที่มันเป็นแพลตฟอร์มที่คนจำนวนมากในโลกรู้จัก ดังนั้นมันจึงเหมือนการสาดน้ำมันเข้าไปในกองไฟแห่ง NFT และ Metaverse
What’s Next? : ทิศทางต่อไปของ NFT
แม้ว่าปัจจุบันวงการคริปโตจะตกอยู่ในภาวะตลาดหมี และ NFT เองก็พลอยได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่มันยังมีการเติบโตและดูเหมือนจะก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโลกศิลปะแห่งอนาคตอยู่ไม่น้อย
แต่หากย้อนรอยดูประวัติศาสตร์แห่ง NFT ก็จะพบว่ามันมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานพอสมควร จากความสนใจกลุ่มเล็กๆ ค่อยๆ ก้าวเข้ามาอยู่ในกระแสหลักของโลกดิจิทัล และดูเหมือนว่ามันยังคงมีศักยภาพที่จะสร้างโอกาสไม่สิ้นสุด จนทำให้มองไปยังอนาคตข้างหน้าได้อีกไกลทีเดียว
References : Zenofineart, Blog.portion.io, Web3, Wikipedia, Altpress