KEY TAKEAWAYS
- โทเค็นบางโทเค็นหรือเหรียญบางเหรียญ ไม่สามารถนำไปใช้ภายนอกบล็อกเชนของตัวเองได้
- Wrapped Token คือเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถใช้งานโทเค็นหรือเหรียญระหว่างบล็อกเชนได้
- ตัวอย่างผู้ให้บริการ Wrapped Token เช่น AAVE, MakerDAO, Bitgo
ในปัจจุบัน โลกของคริปโตได้เติบโตขึ้นอย่างมาก เรามีสกุลเงินดิจิทัลให้ทำการซื้อขายกันกว่า 10,000 เหรียญ มีบล็อกเชนผุดขึ้นมากันอย่างกับดอกเห็ดเป็นจำนวนกว่า 100 เชน ซึ่งแต่ละบล็อกเชนต่างก็มีเหรียญ, โทเค็น, สมาร์ทคอนแทรค (Smart Contract) และระบบการทำงานที่แตกต่างกันออกไป
เนื่องจากระบบนิเวศของบล็อกเชนและ Smart Contract ที่แตกต่างกัน ทำให้เป็นเรื่องยากที่เราจะทำการส่งสินทรัพย์ของเราจากที่หนึ่ง ไปใช้งานอีกที่หนึ่งได้ อย่างเช่น Bitcoin (BTC) ก็ไม่สามารถใช้งานบนบล็อกเชน Ethereum ได้โดยตรง ทำให้มีการคิดค้นสิ่งที่เรียกว่า Wrapped Token ขึ้นมา
แล้ว Wrapped Token คืออะไร มีหลักการทำงานอย่างไร เดี๋ยวเราจะพาไปทำความรู้จักกัน
Wrapped Token คืออะไร
โทเค็นแบบห่อ (Wrapped Token) เปรียบเสมือนโทเค็นที่เป็นตัวแทนของเหรียญจากบล็อกเชนอื่น และมีมูลค่าเท่ากันกับเหรียญหรือโทเค็นดั้งเดิม อย่างเช่น Wrapped BTC (WBTC) ก็คือ Bitcoin ที่สามารถนำมาใช้งานบนบล็อกเชน Ethereum ได้ โดย WBTC นั้นมีค่าเท่ากับ BTC
ทำไมถึงต้องมี Wrapped Token
ในช่วงแรกๆ โลกของ Decentralized Finance (DeFi) นั้นมักจะมีปัญหาในเรื่องสภาพคล่องระหว่างบล็อกเชน โดยทั้งบล็อกเชน และ DeFi นั้นต่างทำงานกันแบบตัวใครตัวมัน (Silo)
เพื่อที่จะให้ระบบการเงินบนบล็อกเชนเติบโตขึ้นมากกว่าเดิม DeFi จึงต้องการเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถเชื่อมต่อสภาพคล่องระหว่างบล็อกเชนทั้งหมดเข้าด้วยกันได้ จึงเป็นที่มาของ Wrapped Token
Wrapped Token จะช่วยให้ DeFi ต่างๆ ที่กำลังทำงานแยกกัน ให้มาทำงานร่วมกัน บรรดาเงินทุนที่กระจายอยู่ตามระบบนิเวศต่างๆ สามารถโอนเข้ามารวมกัน หรือว่าข้ามไปมาหากันได้ สิ่งนี้ทำให้โลกของ DeFi นั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
หลักการทำงานของ Wrapped Token
ผู้ใช้ที่ต้องการนำ Wrapped Token ไปใช้งานบนบล็อกเชนอื่นๆ จำเป็นที่จะต้องนำหลักประกันที่เป็นโทเค็นหรือเหรียญที่มีมูลค่าเท่ากับจำนวนที่ตัวเองต้องการ ไปฝากไว้กับผู้ที่ทำการออกเหรียญ Wrapped Token
Wrapped Bitcoin (WBTC) เป็น Wrapped Token บนมาตรฐาน ERC-20 ที่สามารถนำไปใช้บนบล็อกเชน Ethereum ได้ โดย WBTC มีการตรึงมูลค่าแบบ 1:1 กับ BTC
ผู้ที่ให้บริการในการออก Wrapped Token นั้นมีหลายเจ้า ไม่ว่า AAVE, MakerDAO, Bitgo หรือ Smart Contract ของแพลตฟอร์มต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากคุณต้องการ 1 WBTC ไปใช้งานบนบล็อกเชน Ethereum คุณก็ต้องใช้หลักค้ำประกันเป็น Bitcoin จำนวน 1 BTC เข้าไปฝากไว้กับผู้ที่ให้บริการออกเหรียญ WBTC แล้วหลังจากนั้น ผู้ให้บริการก็จะส่งมอบ WBTC ให้กับคุณ โดยที่คุณสามารถที่จะนำ WBTC มาแลกคืน (Unwrapped) เมื่อไหร่ก็ได้
ความแตกต่างระหว่าง Wrapped Token กับ Stablecoin
ถึงแม้ว่าทั้ง Wrapped Token และ Stablecoin จะมีการตรึงมูลค่า (Pegged) ไว้กับสินทรัพย์เหมือนกัน แต่ทั้งสองอย่างนั้นแตกต่างกันตรงที่ Wrapped Token ตรึงราคาไว้สินทรัพย์ที่อยู่บนบล็อกเชน ส่วน Stablecoin อย่าง USDT, USDC นั้นมีการตรึงราคาไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ความเสี่ยงของ Wrapped Token
Wrapped Token คือโทเค็นที่ออกโดย Smart Contract และมีการตรึงมูลค่าไว้กับโทเค็นดั้งเดิม ในอัตราส่วน 1:1 แล้วจะเป็นอย่างไรถ้าหากว่า Smart Contract ของผู้ออก Wrapped Token นั้นมีช่องโหว่ ทำให้ถูกผู้ไม่หวังดีเข้าโจมตี และทำการออก Wrapped Token มากเกินกว่าหลักประกันที่มีอยู่บน Smart Contract ?
ผลก็คือผู้ใช้งาน Wrapped Token ชนิดนั้นก็จะเกิดปัญหาสภาพคล่องขึ้นมา เนื่องจากว่าอัตราส่วนในการตรึงมูลค่านั้นไม่ใช่ 1:1 อีกต่อไป ราคาของ Wrapped Token ที่เกิดปัญหานั้นก็จะค่อยๆ ลดลงจนกว่าจะมีการแก้ปัญหา หรือว่าอาจจะลดลงจนไม่มีค่าไปเลยก็ได้
ดังนั้นในการเลือกใช้ Wrapped Token ผู้ใช้งานควรที่จะศึกษาถึงหลักการทำงานของผู้ให้บริการ และพิจารณาความเสี่ยงอย่างถี่ถ้วน เพื่อความปลอดภัยของสินทรัพย์ของผู้ใช้งานเอง
ด้วยความปรารถนาดีจาก Enter to Start 🙂
References : Coindesk, Blockworks, Gemini(1), Gemini(2)