KEY TAKEAWAYS
- รัฐบาลของหลายประเทศออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมวงการคริปโต บางประเทศออกกฎห้าม ในขณะที่บางประเทศออกกฎสนับสนุน เช่นประเทศในบทความนี้
- เอลซัลวาดอร์เป็นประเทศแรกที่ยอมรับ BTC ในฐานะสกุลเงินที่ถูกกฎหมาย
- สิงคโปร์อนุญาตให้ก่อตั้งบริษัทคริปโตโดยไม่มีใบอนุญาตเป็นเวลา 6 เดือน
- โปรตุเกสธุรกรรมคริปโตส่วนใหญ่ไม่ต้องจ่ายภาษี มี Golden Visa เพื่อสนับสนุนนักลงทุนจากนอกสหภาพยุโรป
- เมืองซูคในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นเมืองแรกของโลกที่ยอมรับการชำระเงินด้วย BTC ในปี 2016
การเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมคริปโต เริ่มทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศต้องหันมามอง มาจับตามากขึ้น บางประเทศสร้างกฎระเบียบเพื่อไม่ให้ความผันผวนของราคาคริปโตส่งผลกระทบต่อประชาชน ในขณะที่บางประเทศก็พยายามสร้างผลประโยชน์ และหาทางทำให้เกิดอุตสาหกรรมคริปโตเพื่อสร้างโอกาสให้กับประเทศของตัวเอง
และนี่คือ 7 ประเทศที่เป็นมิตรกับอุตสาหกรรมคริปโต ซึ่งนั่นหมายถึงมีข้อกำหนดหรือแนวทางปฏิบัติที่เอื้อให้คริปโตเติบโตได้ ตั้งแต่การรองรับการชำระเงินผ่านคริปโตฯ การสนับสนุนในเรื่องภาษีที่สมเหตุสมผล การให้ความรู้แก่ประชาชน ไปจนถึงการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมคริปโตภายในประเทศ
สิงคโปร์
Key Point : ภาษีคริปโตต่ำ ผู้ถือคริปโตไม่ต้องจ่ายภาษีกำไร และอนุญาตให้ก่อตั้งบริษัทคริปโตโดยไม่มีใบอนุญาตเป็นเวลา 6 เดือน
สิงคโปร์ได้กลายมาเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นมิตรกับคริปโตมากที่สุดในโลก โดยได้พัฒนากฎหมายที่เอื้อต่อผู้ประกอบการคริปโต เช่น อนุญาตให้ก่อตั้งบริษัทคริปโตโดยไม่ต้องมีใบอนุญาตเป็นระยะเวลาหกเดือน และมีอัตราภาษีคริปโตที่ต่ำมาก ดังนั้นมันจึงดึงดูดเหล่านักลงทุนและองค์กรต่างๆ เข้ามาภายในประเทศ
Monetary Authority of Singapore ซึ่งเป็นธนาคารกลางของสิงคโปร์ ได้พัฒนากฎระเบียบเกี่ยวกับคริปโตออกมา ซึ่งถือว่าเป็นกฎระเบียบที่มีความสมดุล ไม่ได้มุ่งเน้นสร้างกรอบที่คับแคบเกินไปจนคริปโตไม่มีโอกาสเติบโต แต่มุ่งไปที่การสร้างกรอบเพื่อป้องกันกิจกรรมที่ผิดกฎหมายอย่างการฟอกเงิน
อีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจของสิงคโปร์ คือ ไม่ได้มองว่าคริปโตเคอร์เรนซีเป็นสกุลเงิน แต่เป็นการแลกเปลี่ยนโดยตรง (barter trades) ต่างหาก และผู้ที่ถือคริปโตหรือกองทุนคริปโตก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษีกำไร (capital gains tax) แต่ทั้งนี้ถ้าเป็นบริษัทที่มีรายได้จากคริปโต เช่นแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตหรือการรับการชำระเงินด้วยคริปโตก็จะต้องเสียภาษี
สวิตเซอร์แลนด์
Key Point : ประเทศแรกที่อนุญาตให้เปิดบัญชีธุรกิจของบริษัทคริปโต จัดให้คริปโตเคอร์เรนซีเป็นสินทรัพย์ และ BTC ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในช่องทางการชำระเงินในบางรัฐ
ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์เป็นที่แรกที่อนุญาตให้บริษัทคริปโตเปิดบัญชีธุรกิจ และนั่นย้อนไปยังปี 2018 ซึ่งผู้นำบางประเทศยังไม่รู้จักคริปโตด้วยซ้ำ การอนุญาตครั้งนี้เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการใช้เงินดิจิทัลอย่างถูกกฎหมายและแพร่หลาย ในปัจจุบันสวิตเซอร์แลนด์จัดให้คริปโตเป็นสินทรัพย์ และสำหรับนักลงทุนที่ซื้อและถือคริปโตแบบรายบุคคลจะไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าลงทุนในนามบริษัทก็ต้องจ่ายภาษีตามปกติ
ในแต่ละรัฐของสวิตเซอร์แลนด์มีกฎระเบียบคริปโตที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ก็ถือว่าเป็นมิตรกับวงการคริปโตพอสมควร บางรัฐนั้นกำหนดให้ Bitcoin (BTC) เป็นหนึ่งในช่องทางการชำระเงิน ยกตัวอย่างรัฐ ซูค (Zug) ซึ่งรู้จักกันในฐานะ ‘หุบเขาคริปโต (Crypto Valley)’ เพราะมีบริษัท ร้านค้า นักลงทุน ในวงการคริปโตและบล็อกเชนจำนวนมาก ซูคเป็นเมืองแรกในโลกที่ยอมรับการชำระเงินด้วย BTC ในปี 2016
เนเธอร์แลนด์
Key Point : หน่วยงานควบคุมมีมุมมองที่ดีต่อคริปโต มีการสนับสนุนหน่วยงานวิจัยด้านบล็อกเชนและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากคริปโต
สิ่งที่จะส่งผลต่ออนาคตของคริปโตบางทีอาจจะเป็นมุมมองของหน่วยงานที่ดูแลควบคุมคริปโตก็ได้ อย่างเช่นในเนเธอร์แลนด์หน่วยงานที่ดูแลคือธนาคารแห่งชาติดัตช์ (Dutch National Bank) ซึ่งเจ้าหน้าที่มีมุมมองว่าคริปโตมีศักยภาพในการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยเหตุนี้ประชากรจึงใช้จ่ายสกุลเงินดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ นอกจากนี้รัฐบาลยังมีการสนับสนุนหน่วยงานเพื่อการวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชนและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตอีกด้วย
เอลซัลวาดอร์
Key Point : ยอมรับ BTC ในฐานะสกุลเงินที่ถูกกฎหมายประเทศแรกของโลก ประชาชนนิยมใช้ BTC เป็นช่องทางชำระเงิน
ในขณะที่ซูคเป็นเมืองแรกที่ยอมรับการชำระเงินด้วย BTC ในปี 2016 แต่ในเดือนกันยายน 2021 เอลซัลวาดอร์เป็นที่รู้จักกันในวงการคริปโตว่าเป็นประเทศแรกของโลกที่ยอมรับ BTC ในฐานะสกุลเงินที่ถูกกฎหมายและใช้ควบคู่ไปกับสกุลเงินหลักของประเทศอย่างดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นจึงไม่มีการเก็บภาษีเงินได้และภาษีกำไรจากการซื้อขายหรือลงทุนในคริปโต เอลซัลวาดอร์จึงถือเป็นประเทศเป้าหมายอันดับต้นๆ ของนักลงทุนคริปโตเลยทีเดียว
อีกสิ่งที่ทำให้เอลซัลวาดอร์เป็นมิตรต่อคริปโตคือชาวเอลซัลวาดอร์นิยมใช้ BTC เป็นช่องทางการชำระเงินนั่นเพราะปัญหาโครงสร้างของประเทศที่ทำให้ประชาชนกว่า 70% ไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการทางการเงินแบบดั้งเดิมอย่างธนาคารได้
เอลซัลวาดอร์ยังคงพยายามที่จะเป็นศูนย์กลางของคริปโต ด้วยการวางแผนที่จะสร้าง ‘เมืองแห่งบิทคอยน์ (Bitcoin City)’ แห่งแรกของโลก แม้ว่าจะถูกคัดค้านจากสถาบันการเงินภายในประเทศก็ตาม
มอลตา
Key Point : ความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ มีกฎหมายที่เอื้อต่อธุรกิจคริปโต มีการแบ่งคริปโตออกเป็นประเภทต่างๆ ตามคุณสมบัติ
มอลตาเป็นประเทศเล็กๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมโดยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป (European Union: EU) ดังนั้นบริษัทคริปโตที่ก่อตั้งในมอลตาก็จะสามารถดำเนินธุรกิจได้ในทุกที่ของยุโรป มอลตาจึงใช้ความได้เปรียบนี้วางกลยุทธ์ด้านภูมิศาสตร์และสร้างกฎระเบียบที่เอื้อต่อธุรกิจคริปโต
มอลตายังเป็นประเทศแรกที่สร้างกรอบกฎหมายในการกำกับดูแลระบบนิเวศคริปโตซึ่งเป็นกรอบกฎหมายที่เอื้อต่อการเติบโตในอนาคต เมื่อเดือนที่ผ่านมา มอลตาได้ผ่านร่างกฎหมายใหม่ล่าสุด 3 ฉบับ คือ
- กฎหมายการให้บริการและการจัดการเทคโนโลยีนวัตกรรม (The Innovative Technology Arrangements and Services Act) ซึ่งทำให้มีระบบการกำกับดูแลควบคู่ไปกับการบริการด้านเทคโนโลยี
- กฎหมายหน่วยงานนวัตกรรมดิจิทัลแห่งมอลตา (Malta Digital Innovation Authority Act) ซึ่งทำให้สามารถจัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมดิจิทัลได้
- กฎหมายสินทรัพย์ทางการเงินเสมือน (Virtual Financial Asset Act) ซึ่งแบ่งคริปโตออกเป็นประเภทต่างๆ ตามคุณสมบัติและมีการควบคุมในการเสนอขายสู่สาธารณะ
มอลตากลายเป็นประเทศเล็กๆ ที่มีส่วนสำคัญยิ่งใหญ่ต่ออุตสาหกรรมคริปโตฯ มีนักลงทุนหลั่งไหลเข้ามายังประเทศนี้ มีโปรเจกต์บล็อกเชนและบริษัทแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตหลายโปรเจกต์ตั้งอยู่ที่มอลตา หนึ่งในนั้นมีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตอย่าง Binance รวมอยู่ด้วย
โปรตุเกส
Key Point : ธุรกรรมคริปโตส่วนใหญ่ไม่ต้องจ่ายภาษี นายจ้างสามารถจ่ายค่าจ้างเป็นคริปโตเคอร์เรนซีได้ มี Golden Visa เพื่อสนับสนุนนักลงทุนจากนอกสหภาพยุโรป
ในแง่ของกฎหมายภาษีคริปโต โปรตุเกสนับว่าเป็นอันดับต้นๆ ที่ภาษีคริปโตเอื้อต่อนักลงทุน เพราะพวกเขาถือว่าสกุลเงินดิจิทัลไม่ใช่สินทรัพย์ แต่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายอีกรูปแบบหนึ่ง (legal tender) ซึ่งหมายความว่าธุรกรรมส่วนใหญ่ของคริปโตไม่ต้องจ่ายภาษี ยกเว้นการทำธุรกิจในฐานะองค์กรจึงจะต้องจ่ายภาษี นอกจากนี้รัฐบาลยังอนุญาตให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นคริปโตเคอร์เรนซีได้อีกด้วย
รัฐบาลโปรตุเกสได้จัดตั้ง ‘แผนปฏิบัติการช่วงเปลี่ยนผ่านดิจิทัล (Digital Transitional Action Plan)’ ในปี 2020 เพื่อสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมสำหรับนวัตกรรมทางธุรกิจและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ซึ่งรวมไปถึงโปรเจกต์ ‘เขตปลอดภาษีทางเทคโนโลยี’ เพื่อให้นักลงทุนสามารถทำการทดลองเกี่ยวกับบล็อกเชนและคริปโตฯ ได้
แต่แม้ว่าโปรตุเกสจะมีกฎหมายที่เอื้อต่อคริปโตแค่ไหน คนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ก็ยังต้องเป็นคนที่อยู่ในสหภาพยุโรปเท่านั้น ทางรัฐบาลบาลโปรตุเกสจึงแก้ข้อจำกัดด้วยการออก Golden Visa ซึ่งคนที่ถือวีซ่านี้จะได้รับประโยชน์แบบเดียวกัน
สโลวีเนีย
Key Point : มีกฎหมายเอื้อต่อแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตฯ และไม่ต้องเสียภาษีจากการซื้อขายและการขุดเหมืองคริปโตฯ
รัฐบาลสโลวีเนียจัดให้ bitcoin และคริปโตอื่นๆ เป็นเงินส่วนตัว (private money) และมีธนาคารในประเทศหลายธนาคารที่ให้บริการคริปโตฯ แต่ทั้งนี้สิ่งที่น่าสนใจคือกำไรที่ได้จากการซื้อขายคริปโตฯ จะไม่ถูกเก็บภาษีกำไร เนื่องจากคริปโตฯ ยังไม่ได้ถูกจัดประเภทอย่างเป็นทางการว่าเป็นสกุลเงินของสถาบันการเงินหรือนับเป็นหุ้น แต่หากเป็นบริษัทต้องจ่ายภาษีตามปกติ
กฎหมายสโลวีเนียยังเอื้อต่อแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย ซึ่งนั่นส่งผลให้ประชาชนซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้สโลวีเนียยังเป็นดินแดนในฝันของเหล่านักขุดคริปโตฯ เพราะไม่ต้องเสียภาษีกำไรที่ได้จากการขุดอีกด้วย
แต่… ไม่ได้มีเพียงแค่ 7 ประเทศนี้เท่านั้นที่กฎหมายและโครงสร้างเอื้อต่ออุตสาหกรรมคริปโต ยังมีอีกหลายประเทศที่น่าสนใจ เช่น เยอรมัน จอร์เจีย เบลารุส เบอร์มิวด้า ไซปรัส ออสเตรีย และประเทศในทวีปแอฟริกาอย่างไนจีเรีย หรือแม้กระทั่งประเทศผู้นำอย่างสหรัฐอเมริกา ก็มีมุมมองและท่าทีที่เป็นมิตรต่อคริปโตด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้หลายประเทศยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและการออกกฎหมาย และบางประเทศไม่ได้สนับสนุนวงการคริปโตอย่างเต็มที่ แต่ก็นับว่าคริปโตได้ก้าวมาถึงจุดที่รัฐบาลของแต่ละประเทศจับตามอง ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมคริปโตเลยทีเดียว
References : Learn.bybit, C.com, Coinmarketcap, Globalcitizensolutions