KEY TAKEAWAYS
- ความสำเร็จของ Pixar เกิดจากการทำงานอย่างหนักของสตูดิโอที่มีคุณภาพ ทั้งตัวผู้เล่นในทีม ความเป็นทีมเวิร์ก และวิสัยทัศน์ขององค์กร
- สำหรับ Pixar คุณภาพคือทุกสิ่ง เพื่อให้คุ้มค่ากับเงินทุกบาทที่คนดูจ่ายเพื่อชมหนังของพวกเขา
- ในการสร้างทีม Pixar ให้อิสระในการสร้างสรรค์แก่ทีมและให้พื้นที่แก่ความผิดพลาดด้วย เพราะความผิดพลาดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการลองทำสิ่งใหม่ๆ
- ที่ Pixar เมื่อมีการนำเสนอไอเดียใหม่ๆ พนักงานต้องนำเสนอ 3 ไอเดียเสมอ เพื่อให้ได้ไอเดียที่เหมาะสมที่สุด
- Pixar จ้างคนที่รักในสิ่งที่พวกเขาทำ เพราะเชื่อว่า “การได้คนที่เหมาะสมและเคมีที่ถูกต้องสำคัญกว่าการได้แนวคิดที่ถูกต้อง”
หากจะกล่าวถึงสตูดิโอผู้สร้างการ์ตูนอนิเมชั่นคุณภาพของโลก หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ Pixar อย่างแน่นอน นอกจากความสนุกสนานและเรื่องราวที่กระตุ้นจินตนาการแล้ว แต่ละเรื่องราวที่สตูดิโอนำเสนอออกมาล้วนแล้วแต่มีข้อคิดให้ติดตามได้ต่อ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากอนิเมชั่นที่ทางสตูอิโอปล่อยออกมาจะครองใจผู้ชมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลก
นี่เป็นความสำเร็จที่ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ แต่เกิดจากการทำงานอย่างหนักของสตูดิโอที่มีคุณภาพ ทั้งจากตัวผู้เล่นในทีม ความเป็นทีมเวิร์ก และวิสัยทัศน์ขององค์กร
Enter to Start ชวนมาเรียนรู้แนวคิดคุณภาพจากสตูดิโอคุณภาพ ที่จะทำให้เราไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมผู้คนจึงรักผลงานที่พวกเขาทำออกมาเหลือเกิน
ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของคนอื่นและหยิบสิ่งที่มีอยู่มาต่อยอด
ทุกไอเดียบนโลกใบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นใหม่ทั้งหมด บางไอเดียผุดขึ้นมาใหม่ ไม่ซ้ำใครในโลก แต่ไอเดียอีกหลายไอเดียก็ได้มาจากการหยิบจับความคิดที่ผู้อื่นสร้างสรรค์ไว้แล้วขึ้นมาปรับปรุงพัฒนาใหม่ให้เข้ากับสิ่งที่ตัวเองต้องการสื่อมากที่สุด
เอ็มมา โค้ทส์ (Emma Coats) หนึ่งในผู้สร้างอนิเมชั่นเรื่อง Brave ได้เขียน Pixar’s 22 Rules of Storytelling ผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัวของเธอ หนึ่งในนั้นมีบอกไว้ว่าให้ลองหยิบบทภาพยนตร์ที่คุณไม่ชอบมาแล้วนำมาเขียนเล่าเรื่องใหม่ในแบบที่คุณชอบ สิ่งนี้จะทำให้เรารู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไรในบทภาพยนตร์เรื่องนั้น และก็สามารถที่จะพัฒนาให้มันดีขึ้นได้ นี่ก็เป็นหนึ่งในการนำความคิดสร้างสรรค์ของผู้อื่นมาใช้ในแบบที่เป็นเรามากที่สุด
เงินทุกบาทที่ลูกค้าจ่ายต้องคุ้มค่าดังนั้น “คุณภาพคือทุกสิ่ง”
ค่าใช้จ่ายในการทำอนิเมชั่นสักเรื่องนั้นสูงมาก Pixar ต้องการต้นทุนรวมถึงกำไรคืน และเม็ดเงินเหล่าก็มาจากผู้ชมอย่างเราๆ นี่เอง สิ่งที่ Pixar ทำคือการพยายามทำผลงานออกมาให้ดีที่สุดเพื่อให้คุ้มค่ากับเงินทุกบาท ทุกสตางค์ ทุกดอลลาร์ ทุกหยวน ทุนเยน ฯลฯ ที่ผู้ชมจ่าย ดังนั้นผลงานทุกเรื่องของ Pixar จึงสมบูรณ์แบบมาก
การเน้นที่คุณภาพของผลงานของ Pixar นั้นเป็นเรื่องราวที่เป็นตำนานมาก เอ็ดวิน แค็ตมัล (Edwin Catmull) ผู้ร่วมก่อตั้ง Pixar และประธาน Disney Animation Studios ได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกระบวนการของอนิเมชั่นเรื่อง Toy Story 2 เมื่อมีการให้ทีมจาก Disney และ Pixar พิจารณาข้อบกพร่องของตัวอนิเมชั่น ทีมจาก Disney บอกว่าอนิเมชั่นเรื่องนี้ดีพอแล้วที่จะเผยแพร่ แต่ทีมจาก Pixar บอกว่ามันยังดีไม่พอและตัดสินใจที่จะแก้ไขใหม่ และพวกเขาใช้เวลาถึง 9 เดือนในการแก้ไข
แน่นอนว่าเมื่อ Toy Story 2 ออกฉาย มันมีคุณภาพและคุ้มค่ากับเงินที่ผู้ชมอย่างเราๆ ต้องจ่ายไปทุกบาททุกสตางค์
มองให้ลึกดูให้เข้าใจว่า… คนดู (ลูกค้า) ต้องการอะไร
สิ่งที่โดดเด่นในอนิเมชั่นของ Pixar คืออารมณ์ร่วมที่ผู้ชมได้รับ นั่นเพราะ Pixar หมกมุ่นอยู่กับข้อมูลที่จะทำให้พวกเขาเข้าใจกลุ่มเป้าหมายว่าพวกเขาต้องการอะไร และในกระบวนการสร้างอนิเมชั่นนั้นพวกเขาใช้ความเข้าใจนั้นเพื่อสร้างสรรค์อารมณ์เหล่านั้นออกมา ทั้งนี้ แมทธิว ลุห์น (Matthew Luhn) หนึ่งใน Storyteller รุ่นเก๋าของ Pixar เคยกล่าวไว้ว่างานของเขาสรุปเป้าหมายออกมาได้สองอย่างคือ “เขาต้องการให้ผู้ชมหัวเราะหรือร้องไห้” เท่านั้นเอง
ให้อิสระในการสร้างสรรค์แก่ทีมและให้พื้นที่แก่ความผิดพลาดด้วย
สภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างสรรค์ผลงาน ผู้คนมักจะสร้างสรรค์ผลงานที่ดีที่สุดเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ดังนั้นที่ Pixar จึงสร้างบรรยากาศให้พนักงานเหมือนอยู่ที่บ้านของพวกเขา และให้อิสระในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่
และแน่นอนว่า Pixar ให้พื้นที่แก่ความผิดพลาดด้วย ในหนังสือ Creativity, Inc. ที่เขียนโดย Catmull เขาบอกไว้ว่า “ความผิดพลาดไม่ใช่สิ่งเลวร้าย มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการลองทำสิ่งใหม่ๆ (และสมควรมองว่ามันมีค่า ถ้าไม่มีความล้มเหลว เราก็ไม่มีความคิดริเริ่ม)”
อย่าโฟกัสแค่ความคิดเดียว
จอห์น แลสซีเตอร์ (John Lasseter) หัวหน้าฝ่ายสร้างสรรค์ของ Pixar ผู้กำกับอนิเมชั่นเรื่องดังอย่าง Toy Story ภาค 1 และ 2 กล่าวไว้ว่า “คุณไม่ควรวางไข่แห่งอารมณ์ทั้งหมดของคุณไว้ในตะกร้าใบเดียว เพราะมันจะไม่เวิร์คหรอก มันจะสูญเปล่า” ดังนั้นที่ Pixar เมื่อมีการนำเสนอไอเดียใหม่ๆ พนักงานต้องนำเสนอ 3 ไอเดียเสมอ เพื่อให้ได้ไอเดียที่เหมาะสมที่สุด
สร้างการประชุมแบบไว้วางใจ
นี่คือการสร้างการประชุมระดมความคิดที่จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด การประชุมแบบนี้จะเป็นแบบ Peer to Peer นั่นหมายถึงไม่ใช่การประชุมระหว่างหัวหน้าต่อพนักงาน แต่เป็นในฐานะเพื่อนร่วมทีม Catmull กล่าวว่ามันมีหลักการง่ายๆ อยู่ 4 ข้อคือ
- นำความเป็นลำดับขั้นในองค์กรออกไป เพราะมันจะเป็นตัวบล็อกความคิดสร้างสรรค์
- สร้างทัศนคติของการเป็นเจ้าของร่วมกัน โดย Catmull ยกตัวอย่างว่าคนทำหนังสองคนเป็นเพื่อนกัน ให้คิดว่าสิ่งที่จะทำเพื่อเพื่อนของเราได้คือการช่วยกันทำหนังให้ออกมาดีที่สุด
- สามารถแสดงความคิดเห็นและรับฟังอย่างซื่อสัตย์และตรงไปตรงมา นี่เป็นเรื่องยาก แต่เป็นวัฒนธรรมที่ต้องพยายามสร้าง
- อย่าต้องการรักษาความสัมพันธ์มากเกินไปจนละเลยผลลัพธ์ของงาน เพราะมันเป็นธรรมดาที่มนุษย์จะหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่ไม่สบายใจ หากเกิดการโต้เถียงในทีมต้องยึดที่ผลลัพธ์ของงานเป็นหลัก หากการประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุดก็ต้องแก้ไขให้มันได้ข้อสรุปที่ดีที่สุดให้ได้
สรุปง่ายๆ จาก 4 ข้อนี้ก็คือ “ประชุมในสภาพแวดล้อมที่มีแต่คนมีความสามารถ และปล่อยให้พวกเขาพูดอย่างมีอิสระ”
แชร์ไอเดียระหว่างกระบวนการสร้างสรรค์ หมั่นติดตามความก้าวหน้าของผลงานเสมอ
กว่าอนิเมชั่นสักเรื่องจะเข้าโรงฉายให้ผู้ชมได้รับชมนั้นผ่านกระบวนการของ Pixar มากมาย มันต้องผ่านการทำซ้ำ ทดสอบ แก้ไข ระหว่างขั้นตอนมากมายเหล่านั้นต้องมีการติดตามอย่างสม่ำเสมอ และหากมีไอเดียที่ดีที่จะสามารถพัฒนาผลงานได้ระหว่างขั้นตอนก็ต้องรีบแชร์ความคิดออกมา เพราะปัญหาจะเกิดและความก้าวหน้าของผลงานจะอยู่ระหว่างกระบวนการสร้างสรรค์นี่เอง หากไม่มีการแสดงความคิดเห็นที่ดีระหว่างกระบวนการสร้างสรรค์ ก็ไม่รู้ว่าความก้าวหน้าจะมาจากที่ไหน
เชื่อมั่นในทีมและมอบหมายหน้าที่อย่างเหมาะสม
บางองค์กรอาจจะลืมคิดถึงส่วนนี้ไป นั่นคือการเชื่อใจเพื่อนร่วมงานของคุณ การมีสังคมการทำงานที่สามารถเชื่อใจสมาชิกในทีมได้จะทำให้เรามีเวลาไปทำอย่างอื่นเพิ่มขึ้น เช่นที่ Lasseter กล่าวว่า “เรามอบหมายหน้าที่และอำนาจให้แก่กัน ดังนั้นแอนดรูว์ สแตนตัน (Andrew Stanton), ลี อันคริช (Lee Unkrich) และ พีท ด็อคเตอร์ (Pete Docter) ต่างก็กำลังสร้างภาพยนตร์ของตัวเอง เมื่อพวกเขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ พวกเขาก็ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการเป็นผู้นำเพิ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อย เพื่อให้ผมได้มีเวลากำกับ Toy Story 4”
จ้างคนที่รักในสิ่งที่พวกเขาทำ
คนที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักมักจะมีพลังงานล้นเหลือในการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่ดีออกมาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย นี่นับเป็นกระบวนการที่สำคัญในกระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน Edwin Catmull ได้เขียนไว้ในหนังสือ Creativity, Inc. ว่า “การได้คนที่เหมาะสมและเคมีที่ถูกต้องสำคัญกว่าการได้แนวคิดที่ถูกต้อง”
Catmull กล่าวว่าภาพยนตร์แต่ละเรื่องไม่ได้มีเพียงแนวคิดเดียว และเบื้องหลังแนวคิดในภาพยนตร์เหล่านั้นก็มาจากผู้คนนั่นเอง ดังนั้นเขาเชื่อว่าการมุ่งเน้นที่ ‘คน’ ทั้งนิสัยการทำงาน ความสามารถ ค่านิยมของพวกเขา นั่นนับเป็นศูนย์กลางของการลงทุนอย่างแท้จริง
ปัจจุบัน Pixar สร้างสรรค์ผลงานการ์ตูนอนิเมชั่นเรื่องยาวออกมาแล้ว 26 เรื่อง ประสบความสำเร็จทั้งทางรายได้ คำวิจารณ์ และรางวัลมากมาย ความสำเร็จเพียงครั้งเดียวหรือสองครั้งอาจนับเป็นความบังเอิญได้ แต่ Pixar สร้างความสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่า และสามารถหาที่ทางที่เหมาะสมเพื่ออยู่ในหัวใจของคนดูทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลกได้ นี่ไม่ใช่ความบังเอิญอย่างแน่นอนแต่คือผลของการ “ทำงานหนักและรักในสิ่งที่ทำต่างหาก”
References: USAtoday, Aerogrammestudio, Medium, Wired