KEY TAKEAWAYS
- เงินมีหน้าที่พื้นฐานอยู่ 3 ประการ คือ เป็นหน่วยกลางในการแลกเปลี่ยน เป็นหน่วยวัดมูลค่า และเป็นหน่วยเก็บรักษามูลค่า
- จุดกำเนิดของเงินเริ่มจากการแลกเปลี่ยนโดยตรง จากนั้นจึงมีสื่อกลางแลกเปลี่ยน เช่นเปลือกหอย ก้าวเข้าสู่การมีเงินเหรียญ เงินจากหนังสัตว์ เงินกระดาษ จากนั้นจึงมีการพิมพ์เงินที่มีมูลค่าเชื่อมโยงกับทองคำที่เรียกว่า Gold Standard ก่อนที่จะกลายมาเป็นเงินเฟียตอย่างในปัจจุบัน หลังจากนั้นเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้า จึงก้าวเข้าสู่การเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงคริปโตเคอร์เรนซี
- Gold Standard สามารถป้องกันเงินเฟ้อได้ แต่เป็นข้อเสียของรัฐบาลที่ไม่สามารถควบคุมเงินได้ตามต้องการ
ถ้าพูดถึง “เงิน” เชื่อว่าทุกคนคงคุ้นเคยกันดีเพราะแทบทุกด้านของการดำรงชีวิตของเรานั้นล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับเงิน แต่เราเคยสงสัยหรือคิดกันจริงๆ ไหมว่าแท้ที่จริงแล้ว “เงิน” นั้นคืออะไรกันแน่…
“เงิน” โดยเบื้องต้นแล้ว คือหน่วยทางเศรษฐศาสตร์ที่คนในสังคมยอมรับเป็นมาตรฐานว่าเป็นสิ่งที่มีค่า และใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนกันได้ ซึ่งเงินจะเป็นอะไรก็ได้ อาจจะเป็นทองแดง แร่หายาก หรือวัตถุอะไรสักอย่างที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
สตีเฟน เซลีกา (Stephen Zarlenga) นักวิจัยและนักเขียนเกี่ยวกับทฤษฎีการเงิน ได้ให้คำนิยามของเงินไว้อย่างน่าสนใจว่า “แก่นแท้ของเงิน (นอกเหนือจากลักษณะทางกายภาพ เช่น กระดาษ หรือ เหรียญ) คือ เป็นพลังที่เป็นนามธรรมในสังคมหนึ่ง ซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยกฎหมาย จนทำให้เงินสามารถใช้ซื้อสิ่งของได้โดยไม่มีเงื่อนไข”
แล้วเงินเข้ามามีบทบาทในชีวิตเราได้อย่างไร มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?
จุดกำเนิดของเงินเริ่มจากการแลกเปลี่ยนสินค้าโดยตรงในสังคมดั้งเดิม (Barter System)
ก่อนที่เงินจะถูกสร้างขึ้นมา มนุษย์ทำการแลกเปลี่ยนสิ่งของกันโดยตรง (Barter System) เช่น เอาวัวมาแลกกับอุปกรณ์ล่าสัตว์ เอาปลามาแลกกับแอปเปิ้ล นี่นับเป็นระบบทางการค้าระบบแรกในประวัติศาสตร์ และแน่นอนว่ามันย่อมมีข้อจำกัดบางอย่าง คือ การแลกเปลี่ยนสินค้ากันโดยตรงนั้นจะสำเร็จได้ต้องเป็นการยอมรับในสินค้าของทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายหนึ่งไม่พอใจในสินค้าของอีกฝ่าย การแลกเปลี่ยนก็ไม่สำเร็จ เช่น นาย a มีหมู แต่เขาอยากกินส้ม เขาต้องการแลกเปลี่ยนหมูของเขากับส้มของนาย b แต่นาย b ไม่อยากแลกส้มของตนกับหมูของนาย a เพราะเขาอยากกินไก่มากกว่า เป็นต้น
อีกทั้งในการแลกเปลี่ยน หากสินค้าที่ต้องการแลกเปลี่ยนมีขนาดใหญ่มาก อาจจะเป็นเรื่องยากในการขนย้ายไปอีกที่หนึ่ง นอกจากนี้ยังเกิดคำถามว่าสินค้าแต่ละประเภทควรมีมูลค่าการแลกเปลี่ยนเท่าไหร่ การแลกเปลี่ยนนั้นถึงจะถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนที่ยุติธรรม
แล้วมนุษย์แก้ไขปัญหานี้อย่างไร?
สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนตัวแรกของโลกได้ถือกำเนิดขึ้น
เพื่อแก้ปัญหานี้มนุษย์จึงตกลงกันสร้างสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนขึ้นมา สื่อกลางการแลกเปลี่ยนแรกในประวัติศาสตร์ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วง 1000 ปีก่อนคริสตกาล โดยมนุษย์ได้นำวัสดุรอบๆ ตัวมาเป็นสื่อกลางในการซื้อขาย เช่น กลุ่มคนที่อยู่ใกล้ทะเลก็นำเปลือกหอยมาใช้เป็นค่าเงินกลางของกลุ่มนั้น ข้อดีของเปลือกหอยคือแข็งแรง มีขนาดเล็กพกพาสะดวก และอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ ชาวพื้นเมืองของเกาะแยป (Yap) ในไมโครนีเซีย (Micronesia) ได้มีข้อตกลงร่วมกันที่จะนำหินปูน (Limestone) ซึ่งเป็นหินหายากในเกาะนั้นมาเจาะรูตรงกลาง และกำหนดให้เป็นสกุลเงินของเกาะ เรียกว่า หินไร (Rai stone)
นี่นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แต่ทั้งนี้มันก็ยังมีปัญหาอยู่เช่นกัน คือ สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนนั้นเป็นที่ยอมรับแค่เฉพาะกลุ่มเท่านั้น เช่น หินปูนที่หายากในเกาะแยปอาจจะมีมากในเกาะอื่น และเมื่อชาวแยปต้องการทำการซื้อขายกับคนเกาะอื่น คนเกาะอื่นก็ไม่ยอมรับการชำระด้วยหินไรของชาวแยป เพราะคนเกาะอื่นไม่ได้ยอมรับหินไรในฐานะสื่อกลางการแลกเปลี่ยน เป็นต้น
จุดเริ่มต้นของเงินตรามาตรฐานที่ใช้ในปัจจุบัน
เงินเหรียญ
นี่คือจุดกำเนิดของเงินเหรียญ อันที่จริงมีการใช้โลหะเป็นเงินมาตั้งแต่สมัย 2000 ปีก่อนคริสตศักราชโดยอาณาจักรบาบิโลน แต่เหรียญที่สร้างและควบคุมโดยรัฐบาลของประเทศเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วง 600 ปีก่อนคริสตกาล กวีชาวกรีกชื่อ ซีโนฟาเนส (Xenophanes) ได้บรรยายถึงการสร้างเหรียญของกษัตริย์อเลียตเทส (Alyattes) แห่งอาณาจักรลิเดีย (Lydia) (ตั้งอยู่บริเวณประเทศตุรกีในปัจจุบัน) ซึ่งนักประวัติศาสตร์เชื่อว่านั่นคือสกุลเงินแรกในประวัติศาสตร์โลก มันสร้างขึ้นโดยใช้อิเล็กทรัม (electrum: โลหะผสมระหว่างทองคำกับเงินซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ) โดยมีจุดเด่นคือทุกเหรียญจะถูกประทับตราด้วยรูปหัวสิงโตซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์ลิเดีย และระบบเหรียญของอาณาจักรลิเดียนั้นก็ช่วยสนับสนุนการค้าทั้งภายในและภายนอกอาณาจักร จนส่งผลให้ลิเดียเป็นหนึ่งในอาณาจักรที่มั่งคั่งที่สุดในเอเชียไมเนอร์ จนเกิดวลีที่ว่า “As rich as Croesus” (มั่งคั่งเหมือนพระเจ้าครีซัส) ซึ่งพระเจ้าครีซัสคือกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรลิเดีย
หลังจากนั้นการใช้ระบบเหรียญก็แพร่ไปในหลายประเทศอย่างกรีก, เปอร์เซีย, มาซีโดเนีย รวมถึงอาณาจักรโรมันด้วย
เงินจากหนังสัตว์
ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงจากเหรียญไปเป็นเงินกระดาษ มีรายงานว่าในสมัยจักรพรรดิหวู่ (Wudi) ของจีน (141-87 ปีก่อนคริสตศักราช) มีการสร้างสกุลเงินจากหนังกวางขาวและนำมาตกแต่งอย่างสวยงาม ถือเป็นเงินในรูปแบบธนบัตรชนิดแรกของโลก ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเงินรูปแบบนี้เองที่เป็นที่มาของคำว่า Buck ที่เป็นคำแสลงเอาไว้เรียกเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
การเปลี่ยนแปลงมาสู่เงินกระดาษ
ในขณะที่ยุโรปยังคงใช้เหรียญโลหะเป็นสกุลเงินกันอยู่จนถึงศตวรรษที่ 16 ในค.ศ. 700 ในสมัยของจักรพรรดิเจิ้นจง (Zhenzong) ประเทศจีนได้สร้างเงินกระดาษไว้ใช้กันแล้ว ซึ่งนั่นถูกบันทึกว่าเป็นเงินกระดาษชนิดแรกของโลก โดยมันทำมาจากเปลือกของต้นหม่อน
หลังจากนั้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศรรษวรรษที่ 19 เงินกระดาษก็ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก แต่เงินกระดาษในช่วงนั้นยังไม่ใช่ธนบัตรที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน แต่มันเป็นตั๋วสัญญา ที่อีกฝ่ายสัญญาว่าจะจ่ายทองคำหรือเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้
เช่น นาย A ไปซื้อเสื้อที่ตลาดมูลค่า 500 บาท ด้วยเงินกระดาษ พ่อค้าที่ขายเสื้อที่ได้รับเงินกระดาษมาก็สามารถนำเงินกระดาษไปแลกเป็นทองคำมูลค่า 500 บาทได้ที่ธนาคาร ขณะเดียวกันนาย A ที่มีเงินกระดาษมูลค่า 500 บาท นาย A ก็สามารถนำเงินกระดาษไปแลกเปลี่ยนเป็นทองคำหรือเงินมูลค่า 500 บาท เงินกระดาษมูลค่า 500 บาทสามารถนำไปแลกเป็นเหรียญหรือสิ่งของที่มีมูลค่าเท่ากับหรือน้อยกว่า 500 บาทได้
ซึ่งระบบนี้เป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาธนาคารในเวลาต่อมา
แล้วหน้าที่พื้นฐานของ “เงิน” คืออะไรกันแน่?
เงินมีหน้าที่พื้นฐานอยู่ 3 ประการ คือ เป็นหน่วยกลางในการแลกเปลี่ยน (A medium of exchange) เป็นหน่วยวัดมูลค่า (Unit of Account) และเป็นหน่วยเก็บรักษามูลค่า (Store of Value)
1. หน่วยกลางในการแลกเปลี่ยน | A medium of exchang
ลองจินตนาการว่าคุณมีหมูแต่อยากกินไก่ คุณต้องจูงหมูไปแลกไก่ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องที่สะดวกเลยดังนั้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนสิ่งของต่างๆ มนุษย์ต้องใช้หน่วยกลางเพื่อให้เกิดความเข้าใจในมูลค่าที่ตรงกัน และหน่วยกลางที่มนุษย์เลือกใช้ก็คือ ‘เงิน’
2. หน่วยวัดมูลค่า | Unit of Account
หากเราถามใครสักคนว่าซื้อของมาด้วยราคาเท่าไหร่ คำตอบก็คงจะประมาณว่า ‘ฉันซื้อนมกล่องนี้มาในราคา 10 บาท’ หรือ ‘ฉันซื้อพิซซ่าถาดนี้มาในราคา 15 ดอลลาร์’ เราจะไม่บอกว่า ‘ฉันซื้อพิซซ่าถาดนี้มาด้วยนม 10 กล่อง’ เพราะคู่สนทนาอาจจะไม่รู้จักนมกล่องหรือนึกไม่ออกว่ามูลค่าของนมกล่องที่เราพูดถึงนั้นคือเท่าไหร่กันแน่ ดังนั้นเราจึงบอกคุณค่าของสิ่งของด้วยหน่วยเงินซึ่งเป็นหน่วยที่เราเข้าใจตรงกันแทน นั่นจึงทำให้เงินทำหน้าที่เป็นหน่วยวัดมูลค่า
3. หน่วยเก็บรักษามูลค่า | Store of Value
หากคุณลืมแบงค์ 1000 บาทไว้ในกระเป๋าเสื้อเมื่อปีที่แล้ว แล้วคุณบังเอิญเจอมันคุณย่อมดีใจแน่นอน นั่นเพราะแบงค์ 1000 ใบนั้นยังคงมีมูลค่า 1000 บาทอยู่ มันยังมีมูลค่าอย่างที่มันควรจะเป็นแม้ว่าเวลาจะผ่านไป 1 ปีแล้วก็ตาม เพราะแบงค์ใบนั้นมีหน้าที่ในการ ‘เก็บ’ มูลค่าไว้
แต่เงินไม่ใช่หน่วยเก็บรักษามูลค่าที่ไม่มีความเสี่ยงเลย นั่นเพราะหากเกิดภาวะเงินเฟ้อเงินก็จะมีมูลค่าน้อยลงกว่าที่มันเคยเป็น
คุณสมบัติที่สำคัญ 7 ข้อที่ทำให้ “เงิน” เป็น “เงิน”
1. เงินต้องมีความคงทน | Durable
เงินมีหน้าที่เก็บรักษามูลค่า หากมันไม่มีความคงทน แน่นอนว่ามูลค่านั้นก็จะสูญหายไปด้วยเช่นกัน
2. สามารถพกพาได้ | Portable
หนึ่งในเหตุผลที่เงินได้กลายมาเป็นสื่อกลางในการซื้อขาย คือ เพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยน ดังนั้นในฐานะตัวกลางในการซื้อขาย เงินจึงต้องสามารถพกพาไปได้ทุกที่
3. สามารถแบ่งเป็นหน่วยย่อยได้ | Divisibility
เงินต้องสามารถแบ่งแยกเป็นหน่วยย่อยได้เพื่อให้ง่ายในการนำไปใช้ซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าทุกชนิด ทุกช่วงราคา เช่น เงิน 1 ดอลลาร์สามารถแบ่งเป็น 100 เซนต์ หรือ 1 บาท สามารถแบ่งออกได้เป็น 100 สตางค์
4. มีความเป็นเอกภาพ | Uniformity
หมายถึงเงินในสกุลเดียวกันต้องมีความสามารถในการซื้อขายหรือมีมูลค่าอย่างเท่าเทียมกัน เช่น นาย ก. ยืมเงินนาย ข. 1000 บาท ตอนคืนเงิน นาย ก. ไม่จำเป็นต้องเอาเงินใบเดียวกับที่ยืมไปมาคืน เพราะเงิน 1000 บาท ทุกใบมีค่าเท่าเทียมกัน
5. มีจำนวนจำกัด | Scarcity
เงินหมุนเวียนในแต่ละประเทศจะต้องมีจำนวนจำกัดเพื่อให้มูลค่าของเงินคงที่ หากมีจำนวนเงินมากไปจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และทำให้เงินมีค่าลดลง
6. เป็นที่ยอมรับ | Acceptability
ข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญมาก คือ เงินต้องเป็นที่ยอมรับของทุกคนในสังคม จึงจะสามารถใช้เป็นสื่อกลางของการแลกเปลี่ยนได้ หากคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ยอมรับ เห็นค่าร่วมกัน สิ่งนั้นก็จะไม่สามารถเป็นเงินได้นั่นเอง
7. ไม่สามารถปลอมแปลงได้ | Non-counterfeitability
เงินต้องไม่สามารถปลอมแปลงได้ง่าย เพื่อป้องกันการปลอมแปลง
Gold Standard คืออะไร ทำไมการประกาศยกเลิกในปี 1971 ถึงเป็นเรื่องสำคัญ
Gold Standard คืออะไร?
Gold Standard (ระบบมาตรฐานทองคำ) เป็นระบบการเงินรูปแบบหนึ่งที่เงินนั้นมีมูลค่าเชื่อมโยงโดยตรงกับทองคำ เช่น ถ้ารัฐบาล A ใช้ Gold Standard และมีทองคำมูลค่า 1,000 บาท รัฐบาล A ก็จะสามารถพิมพ์เงินออกมาเพื่อใช้หมุนเวียนในระบบได้ตามมูลค่าทองที่มีนั่นก็คือ 1,000 บาท
ยุคทองของ Gold Standard
Gold Standard ถูกใช้เป็นระบบการเงินระหว่างประเทศอย่างแพร่หลายในหลายประเทศตั้งแต่ปี 1870 จนถึงช่วงต้นทศวรรษของปี 1920 โดยอังกฤษเป็นประเทศแรกที่ประกาศใช้ Gold Standard ในปี 1821 หลังจากนั้นประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ก็เริ่มนำ Gold Standard มาใช้
ข้อดีและความไม่ยืดหยุ่นของ Gold Standard
แน่นอนว่าระบบ Gold Standard ที่ถูกคิดค้นและใช้กันมานานก็ย่อมต้องมีข้อดี และข้อดีที่ว่านั้นก็คือ มันสามารถป้องกันเงินเฟ้อได้ (Inflation rate) และยังมีส่วนช่วยในการรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าต่างๆ รวมไปถึงอัตราแลกเปลี่ยนของเงินตราด้วย เพราะรัฐบาลเองไม่สามารถควบคุมการเพิ่มปริมาณเงินได้ คือ ไม่สามารถพิมพ์เงินออกมามากเกินไปได้
แต่เมื่อเกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลเริ่มมองแล้วว่าการที่ไม่สามารถควบคุมปริมาณเงินในระบบได้ ก็มีข้อเสียใหญ่หลวง(ในมุมของรัฐบาล) นั่นก็คือ ถ้าจะพิมพ์เงินเพิ่มก็ต้องหาทองคำเพิ่มให้ทันกับเงินที่พิมพ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยืดหยุ่น โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่หรือทดถอย แถมการขุดทองยังมีต้นทุนที่สูงมากอีกด้วย นั้นทำให้รัฐบาลต่างๆ เริ่มมองหาหนทางใหม่เพื่อใช้เป็นฐานเศรษฐกิจของโลก ซึ่งก็คือระบบ Fiat Money หรือ “เงินที่ไม่ได้มีมูลค่าในตัวมันเอง”
การสิ้นสุดของยุค Gold Standard
อังกฤษซึ่งเป็นประเทศแรกที่ใช้ Gold Standard ได้ประกาศยกเลิกใช้ระบบนี้ในวันที่ 20 กันยายน 1931 หลังจากนั้นอเมริกาก็เริ่มต้นกระบวนการยกเลิกตามมาติดๆ ในปี 1933 แต่กว่าอเมริกาจะสามารถเคลียร์สิ่งต่างๆ และยกเลิกได้อย่างแท้จริงก็กินระยะเวลามาจนถึงปี 1973 ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดการใช้ Gold Standard ของอเมริกา และถูกแทนที่ด้วยระบบ Fiat Money โดยสมบูรณ์
โดยประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ ณ ตอนนั้นเป็นคนอ่านคำแถลงการณ์ เกี่ยวกับการยกเลิก Gold Standard ในวันที่ 15 สิงหาคม 1971 ซึ่งเป็นคำแถลงการณ์ที่ถูกพูดถึง และเปิดดูจากคนที่สนใจจนถึงทุกวันนี้ที่รู้จักกันในชื่อ The Nixon Shock
และเมื่อ Gold Standard ถูกแทนที่ด้วย Fiat Money นั้นหมายความว่าเมื่อมีปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลก็จะสามารถพิมพ์เงินเพื่อมาใช้ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างที่เรารู้กันดีว่าทุกสิ่งบนโลกใบนี้ที่มีมูลค่าเพราะมันไม่ได้มีเยอะจนเกินไป ถ้ามันมีเยอะจนล้นกับความต้องการมูลค่ามันก็จะลดลงเรื่อยๆ หรืออาจจะไม่มีเลย… “เงิน” ก็เช่นกัน หรือที่เรารู้จักกันดีในคำศัพท์ที่เรียกว่า Inflation หรือ “เงินเฟ้อ” แน่นอนว่าการยกเลิกใช้ Gold Standard ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างแน่นอน
Fiat Money คืออะไร? ทำไมทำให้รัฐบาลสามารถพิมพ์เงินออกมาได้ไม่จำกัด
Fiat Money หรือ “เงินกระดาษ” คือ เงินที่ไม่ได้มีมูลค่าโดยตัวมันเอง เป็นสกุลเงินที่ออกโดยรัฐบาลโดยที่ไม่มีสินค้าโภคภัณฑ์หนุนหลัง เช่น ทองคำ หรือ แร่เงิน แต่ถูกรับรองโดยรัฐบาลที่ออกสกุลเงินนั้นๆ โดยมูลค่าของ Fiat Money นั้นจะเกิดขึ้นจาก อุปสงค์ อุปทาน (Demand Supply) ความมั่นคงของตัวรัฐบาลผู้ออกเงิน และความเชื่อมั่นของผู้คนที่ถือสกุลเงินนั้นๆ โดยจะไม่อิงกับมูลค่าของสิ่งที่หนุนหลังอยู่เพราะระบบ Fiat Money ไม่มีอะไรหนุนหลัง
ยุคนี้เป็นยุคของ Fiat Money
หลังจากเหตุการณ์ The Nixon Shock ในปี 1971 ถือได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดยุคของ Gold Standard อย่างแท้จริง และหลังจากนั้นแทบทุกประเทศส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ก็หันมาใช้ระบบ Fiat Money จนถึงปัจจุบันนี้
“เงินเฟ้อ” ความเสี่ยงสำคัญในด้านมูลค่าของระบบ Fiat Money
เนื่องจาก Fiat Money เป็นระบบการเงินที่ไม่มีอะไรหนุนหลัง ไม่ได้เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับมูลค่าของสิ่งที่มีค่าอย่าง ทองคำ แร่เงิน หรือใดๆ ทำให้สกุลเงินที่เป็น Fiat Money มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียมูลค่าของตัวมันเองเนื่องจากเงินเฟ้อ (Inflation) และถ้าในกรณีที่ร้ายแรงมากๆ คือ เกิดภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation) ก็อาจจะทำให้เงินนั้นแทบจะไม่มีมูลค่าไปเลยก็ได้ ซึ่งเกิดได้จากการที่รัฐบาลพิมพ์เงินออกมาในระบบเยอะเกินไป หรือผู้คนไม่มีความเชื่อมั่นในตัวรัฐบาลที่พิมพ์เงินออกมา
เวเนซุเอลา (Venezuela) เป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง เนื่องจากมีเงินในระบบมากเกินไป โดยในปี 2016 เวเนซุเอลาเริ่มเข้าสู่สภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรงโดยมีอัตราเงินเฟ้อในปีนั้นอยู่ที่ 274%, 863% ในปี 2017, 130,060% ในปี 2018 และ 9,586% ในปี 2019
ซึ่ง “เงินเฟ้อ” ที่ว่าก็ คือ การที่อำนาจในการซื้อ (Purchasing Power) ของเงินสกุลนั้นๆ ที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ตัวอย่างเช่น เมื่อ 10 ปีก่อน เงิน 30 บาท อาจจะสามารถซื้อกาแฟได้ 1 แก้ว แต่ปัจจุบันต้องใช้เงิน 60 บาท ในการซื้อกาแฟ 1 แก้ว อันนี้คือเงินเฟ้อ 100% ใน 10 ปี เพราะคุณต้องจ่ายเพิ่ม 1 เท่าเพื่อซื้อของชิ้นเดิม แน่นอนว่าของจริงจะใช้วิธีชี้วัดที่ละเอียดกว่านี้ซึ่งเราจะไม่ลงรายละเอียดเรื่องนั้นในบทความนี้
รูปแบบของเงินในยุคปัจจุบันเป็นอย่างไร
การเงินในยุคปัจจุบันดูจะเป็นเรื่องง่ายเพราะเราทุกคนรู้จัก “เงินสด” ที่อยู่ในรูปแบบแบงค์ เหรียญต่างๆ และใช้สอยมันแทบจะทุกวันอยู่แล้ว แน่นอนว่าเงินสดยังมีความสำคัญในการใช้อยู่บ้าง แต่อีกทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน นั่นก็คือบัตรเครดิตและบัตรเดบิต
และถัดมาเมื่อสมาร์ทโฟนได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันของเรา การทำธุรกรรมต่างๆ ก็ถูกขับเคลื่อนไปอีกขั้นไปเป็นรูปแบบออนไลน์ (Online) ที่เราสามารถใช้เงินที่เป็นเพียงตัวเลขที่อยู่ในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-money อย่างที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
รูปแบบถัดไปของเงินคืออะไร คริปโตเคอร์เรนซีจะเป็นนวัตกรรมใหม่ของเงินหรือไม่?
เมื่อรู้จักกับเงินมาแล้ว หลายคนคงอาจเกิดคำถามที่ว่า แล้วสกุลเงินเข้ารหัสหรือคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ที่เพิ่งได้รับความนิยมและเข้ามามีบทบาทอย่างมากในระบบเศรษฐกิจโลกราวๆ หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมานี้ล่ะ นับเป็นเงินหรือไม่?
หากจะตอบคำถามนี้ก็คงต้องย้อนกลับไปยังพื้นฐานของเงินที่ว่า การมีอยู่ของเงินตั้งอยู่บนข้อตกลงร่วมกันของมนุษย์ในสังคมว่าเป็นสิ่งของบางอย่างที่สามารถรักษามูลค่าและสามารถเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้ ดังนั้นมันไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องให้ผู้มีอำนาจ (เช่น รัฐบาล) มากำหนดว่าสิ่งใดควรจะเป็นเงิน ตราบใดที่คริปโตเคอร์เรนซี่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคมว่าสามารถแลกเปลี่ยนสิ่งของและบริการได้ มันก็สามารถที่จะเป็นเงินได้เช่นกันนั่นเอง
References : Investopedia(1), Investopedia(2), Investopedia(3), Britannica, PBS, Mint.intuit, Wikipedia(1), NPR, E-ma, Wikipedia(2)