KEY TAKEAWAYS
- Buzzword กลุ่ม The Great เริ่มจาก Anthony Klotz บัญญัติคำว่า ‘The Great Resignation’ หรือ ‘การลาออกครั้งใหญ่’ ขึ้นมา เพื่อนิยามถึงการลาออกของคนทำงานจำนวนมากในช่วงที่โรคโควิดแพร่ระบาด
- กลุ่ม Quiet เกิดจาก Bryan Creely ได้โพสต์วิดีโอลง TikTok อธิบายถึงรูปแบบการทำงานแบบ ‘Quiet Quitting’ หรือ ‘การลาออกแบบเงียบๆ’ ซึ่งคือการทำงานให้น้อยที่สุด
การแพร่ระบาดของโควิด 19 เปลี่ยนแปลงหลายอย่างในชีวิตเรา รวมไปถึงรูปแบบการทำงาน และเมื่อเกิดสิ่งใหม่ขึ้น เราก็สร้างคำใหม่เพื่อเอาไว้นิยามสิ่งที่ปรากฎขึ้นใหม่นี้เอง ดังนั้นเราสามารถที่จะเรียนรู้รูปแบบการทำงานอย่างกว้างๆ ของปีนี้ที่สะท้อนออกมาจากคำศัพท์ได้
ปีนี้มีคำศัพท์ไหนน่าสนใจบ้าง ไปดูกัน
The Great | ความยิ่งใหญ่
เซ็ตคำศัพท์หนึ่งที่ได้ยินบ่อยมากในปีนี้ คือ The Great หรือ ความยิ่งใหญ่ มันเริ่มเกิดขึ้นเมื่อปี 2021 เมื่อแอนโทนี่ คลอตซ์ (Anthony Klotz) รองศาสตร์ตราจารณ์คณะการจัดการของมหาวิทยาลัย Texas A&M บัญญัติคำว่า ‘The Great Resignation’ หรือ ‘การลาออกครั้งใหญ่’ ขึ้นมา เพื่อนิยามถึงการลาออกของคนทำงานจำนวนมากในช่วงที่โรคโควิดแพร่ระบาด
หลังจากนั้นมันก็เกิดคำศัพท์เซ็ต Great ขึ้นมาอีกมากมายเพื่อนิยามรูปแบบการทำงานใหม่อื่นๆ ด้วย เช่น
The Great Reshuffle | การสับเปลี่ยนครั้งใหญ่ สื่อถึงการที่คนทำงานจำนวนมากลาออกจากงานเก่า แต่ไม่ได้ลาออกจากการเป็นพนักงานเงินเดือนอย่างถาวร แต่เพื่อเปลี่ยนตำแหน่งงาน หรือเบนสายไปทำงานอย่างอื่นจากที่เคยทำมา
The Great Rethink | การทบทวนครั้งใหญ่ ความกดดันจากโรคระบาดและสภาวะสังคมอื่นๆ ส่งผลให้คนทำงานต้องนึกทบทวนความสัมพันธ์ของตัวเองกับงานที่ตัวเองกำลังทำอยู่ ว่ามันเวิร์กหรือไม่ เอาไงต่อดี ซึ่งก็จะนำไปสู่การลาออกหรือเปลี่ยนงาน
The Great Regret และ The Great Rumorse | การเสียใจ / สำนึกผิดครั้งใหญ่ ซึ่งเกิดจากการลาออกหรือเปลี่ยนงานครั้งใหญ่นั่นแหล่ะ เพราะเมื่อเปลี่ยนแล้วมันกลับไม่ได้ดีกว่าเดิมอย่างที่คิด จนทำให้คนจำนวนมากเสียใจที่ตัดสินใจอย่างนั้นไป
The Great Breakup | การยุติครั้งใหญ่ สื่อถึงการที่ผู้นำองค์กรที่เป็นผู้หญิงลาออกจากงานสูงเป็นประวัติการณ์เพื่อมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่ดีกว่า
The Great Disengagement | การหลุดพ้นครั้งใหญ่ อธิบายถึงการที่คนทำงานรู้สึกไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้างอีกต่อไป
Quiet | ความเงียบงัน
อีกเซ็ตคำศัพท์ที่ได้รับความนิยมมากพอๆ กันในปีนี้คือ Quiet หรือ ความเงียบงัน ที่มาก็คือในเดือนมีนาคมปีนี้ โค้ชแนะแนวอาชีพคนหนึ่งชื่อไบรอัน ครีลี (Bryan Creely) ได้โพสต์วิดีโอลง TikTok อธิบายถึงรูปแบบการทำงานแบบ ‘Quiet Quitting’ หากแปลแบบทื่อๆ ก็คือ ‘การลาออกแบบเงียบๆ’ ซึ่งมันไม่ใช่การลาออกจากงานแบบจริงๆ แต่คือการทำงานให้น้อยที่สุด ทำงานแค่ในขอบเขตงานของตัวเอง ไม่ทำเกินหน้าที่
จริงๆ แนวคิดนี้ก็ไม่ใช่แนวคิดที่ใหม่อะไร แต่มันมากลายมาเป็นไวรัลในประมาณช่วงเดือนกรกฎาคมนี้เอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทัศนคติแบบคลั่งงาน หรือการทำงานแข่งกับเวลาอย่างที่เป็นมาในช่วงหลายปีก่อนได้ค่อยๆ เปลี่ยนไปในช่วงที่โควิดแพร่ระบาด
หลังจากนั้นก็มีคำศัพท์ใหม่เกิดขึ้นมา ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันคือ Quiet Firing และ Quiet Hiring
Quiet Firing | การไล่ออกแบบเงียบๆ คือการที่บริษัทและนายจ้างไม่ได้ไล่พนักงานออกแบบตรงๆ แต่เป็นการทำเรื่องแย่ๆ หรือการกีดกันโอกาสดีๆ จนพนักงานทนไม่ไหวแล้วลาออกไปเอง เช่นการไม่ขึ้นเงินเดือนเป็นเวลาหลายปี การไม่ให้ฟีดแบ็กและคำแนะนำเกี่ยวกับงาน การกีดกันออกจากโปรเจกต์ดีๆ เป็นต้น
Quiet Hiring | การจ้างงานแบบเงียบๆ รูปแบบเกี่ยวกับการทำงานนี้เป็นสิ่งที่บริษัทใหญ่อย่าง Google นำมาใช้ โดยเป็นการสนับสนุนหรือเลื่อนตำแหน่งให้พนักงานที่มีผลงานดี และพบว่ามันเป็นรูปแบบการจ้างงานที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก
อีกคำที่อาจไม่ค่อยได้ยินมากนักคือ Quiet Fleecing | การหมดตัวแบบเงียบๆ ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากเงินเฟ้อและค่าครองชีพ ทำให้เหมือนว่าพนักงานได้รับเงินเดือนน้อยลง ซึ่งนายจ้างอาจจะเห็นว่ามันเป็นการลดต้นทุนในระยะสั้นๆ แต่ในระยะยาวอาจทำให้พนักงานหมดกำลังใจนำไปสู่การลาออก และนายจ้างก็จะประสบปัญหากับการขาดบุคลากร
ไม่เพียงเซ็ตคำศัพท์ของ The Great และ Quiet เท่านั้น ยังมี Buzzwords ที่น่าสนใจอีก เช่น
Proximity Bias | อคติจากความใกล้ชิด สะท้อนเรื่องรูปแบบการทำงานของคนที่มาทำงานในออฟฟิศ กับคนที่ทำงานจากที่บ้าน โดยการสำรวจจาก Envoy พบว่าผู้บริหารกว่า 96% ให้ความสำคัญกับผู้ที่ทำงานในออฟฟิศมากกว่าผู้ที่ทำงานจากที่บ้าน
Moonlighting | การมีงานที่สองนอกเหนือจากงานประจำ เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วงานที่สองมักจะทำในเวลากลางคืน จึงเป็นที่มาของการใช้คำว่า Moonlighting ซึ่งมีความหมายว่า ‘แสงจันทร์’
Productivity Paranoia | ความหวาดระแวงผลลัพธ์ของงาน สะท้อนให้เห็นสภาพการทำงานระยะไกลที่คนทำงานกับนายจ้างเห็นต่างกัน คนทำงานจะมองว่าตัวเองทำงานได้ Productive แล้วแม้ไม่ได้เข้าออฟฟิศ ในขณะที่นายจ้างกลับคิดว่าพนักงานยังไม่ Productive พอ
เหล่านี้เป็น Buzzword ที่ได้รับความนิยมในปีนี้ มันสื่อให้เห็นความก้าวหน้าด้านภาษา ในขณะเดียวกันก็เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นสภาวะการทำงานของสังคมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้เป็นอย่างดี
References: Hcamag, BBC, Entrepreneur, Insider