KEY TAKEAWAYS
- ‘ปู่แชมป์’ นักลงทุนคริปโตที่เน้นในเรื่อง Money Management เน้นรักษาเงินต้น ผลตอบแทนน้อยแต่ยั่งยืน และเติบโตอย่างสม่ำเสมอ
- ตลาดกระทิงของคริปโตครั้งแรกทำให้พอร์ตของปู่โต 12 เท่า แต่ไม่ได้ถอนเงินออกมา จนกระทั่งราคา Bitcoin เริ่มลงทำให้ขาดทุนไปกว่า 80 – 90% จนทำให้เป็นบทเรียนการลงทุนแบบเน้นรักษาต้นทุน
- แนวคิด Mark to the Market ทำให้มองเงินปัจจุบันที่เรามีในพอร์ตถือว่าเป็นเงินทุนก้อนใหม่โดยไม่แยกทุนหรือกำไร ทำให้ลงทุนอย่างระมัดระวังมากขึ้น
- แนวคิด Drowdown (จำนวนเงินลงทุนที่ลดลงสูงสุด ก่อนที่จะดีดตัวกลับ) เครื่องมือที่ช่วยลดความเครียดจากการขาดทุน ทำให้ปู่จัดพอร์ตด้วยสัดส่วน Stablecoin 75% และเหรียญต่างๆ อีก 25% เพื่อลดความเสี่ยงจากการสูญเสีย
มีนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จจากผลตอบแทนในระยะยาวมากมาย แม้กระทั่งในวงการคริปโตที่มีความผันผวนสูงแบบนี้ก็สามารถทำได้ ขอเพียงมีการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุน (Money Management) ให้ดี
วันนี้ Enter to Start จะพามาพูดคุยกับ ‘ปู่แชมป์’ ผู้ผ่านวัฏจักรคริปโตมาหลายครั้ง ผ่านอารมณ์ของความรู้สึกดีใจและผิดหวังมาหลายหน จนสามารถมองหาวิธีการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเองได้
ไม่เพียงเท่านั้น เรื่องราวของปู่แชมป์ยังอาจสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักลงทุนมือใหม่ได้ เพราะปู่เองมีเรื่องราวชีวิตที่หลากหลายและน่าสนใจ ตั้งแต่การเคยไปเป็นคนขับรถส่งอาหารที่อเมริกา ก่อนจะกลายมาเป็นนักลงทุนที่นับว่าประสบความสำเร็จมากคนหนึ่งอย่างในทุกวันนี้
นี่เป็นเรื่องเล่าและประสบการณ์โดยตรง จากนักลงทุนคริปโตที่เน้นในเรื่อง Money Management เน้นรักษาเงินต้น ผลตอบแทนน้อยแต่ยั่งยืน และเติบโตอย่างสม่ำเสมอ
จุดเริ่มต้นของการลงทุนกับความรู้สึกช่วงตลาดกระทิงครั้งแรก
ปู่แชมป์เริ่มเล่าให้ฟังว่าในช่วงประมาณกลางปี 2017 ตอนนั้นขับรถส่งอาหารอยู่ที่อเมริกา ก่อนที่วันหนึ่งจะได้ยินเรื่อง Bitcoin ซึ่งอันที่จริงก็เคยได้ยินหลายครั้งแล้ว แต่ไม่เคยศึกษา เมื่อได้ยินครั้งล่าสุดจึงศึกษาว่ามันคืออะไร ทำไมบางคนถึงบอกว่าได้เงินจากมันเยอะมาก ในขณะที่บางคนก็บอกว่ามันเป็นไวรัสเรียกค่าไถ่เสียอย่างนั้น
ปู่ใช้เวลาศึกษาไม่นานก็เริ่มเข้าซื้อเลย ราคา Bitcoin ช่วงที่ปู่ซื้ออยู่ที่ประมาณ 6,000 ดอลลาร์ แต่ไม่นานก็มีข่าว Bitcoin โดนแบนจนทำให้ราคาร่วงลงไปอยู่ที่ 3,000 ดอลลาร์
แต่ก็เป็นอย่างที่รู้กันอันเป็นปกติของวัฏจักรคริปโต เมื่อมีลงก็ต้องมีขึ้น ไม่นานหลังจากนั้นก็ถือว่าเป็นช่วงตลาดกระทิงครั้งแรกที่ปู่ทัน โดยราคา Bitcoin พุ่งไปถึง 20,000 ดอลลาร์
“ช่วงนั้นก็จะเป็นช่วงที่ว่าเราเรียกว่า Fomo คือเรากลัวตกรถ เจอเหรียญไหนใครบอกว่าดีเราซื้อ เหรียญไหนน่าสนใจเราซื้อหมดแล้วมันก็ขึ้นทุกวัน ขึ้นเยอะด้วยในช่วงปลายปี”
ในเรื่องการเติบโตของพอร์ตการลงทุนในช่วงนั้น ปู่บอกว่าพอร์ตโตประมาณ 12 เท่า แต่พอตลาดขาลง พอร์ตที่เติบโตมากๆ ก็ลดลงมาจนติดลบไปถึงเงินต้น 80 – 90% กลายเป็นว่าจากที่ได้กำไรกลายเป็นขาดทุนแทน เป็นอย่างนี้กันทั้งหมด เพื่อนที่ร่วมลงทุนในคริปโตกว่า 90% ต้องออกจากตลาดไป
ปู่บอกว่าประสบการณ์และความรู้สึกครั้งนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่คนที่อยู่ในตลาดจดจำมันได้ เพราะตลาดโหดร้ายและก็ไปเร็วมาก ตอนขาขึ้นก็ขึ้นเยอะจริง แต่พอขาลงมันก็เอาคืนเยอะพอกัน ซึ่งปู่ก็บอกว่าตลาดขาลงตอนนั้นก็น่าจะเหมือนกับตลาดช่วงนี้ ที่สถานการณ์ไม่ค่อยดีนัก
บทเรียนที่ได้จากการขาดทุนครั้งนั้น
จากคนที่สามารถทำกำไรได้ จู่ๆ กลายเป็นขาดทุนเสียอย่างนั้น จากที่รู้สึกว่าเก่งมาก กลายเป็นไม่รู้อะไรเลย ทุกอย่างสะเปะสะปะไปหมด ปู่มองว่านี่นับเป็นการทำผิดพลาด หากมีโอกาสก็จะไม่ทำให้มันซ้ำรอยเดิม
ปู่รวมถึงเพื่อนๆ ในสายลงทุนได้แต่เสียดายว่าหากขายตั้งแต่ตอนที่ราคาเหรียญพุ่งไปสูง พอร์ตน่าจะโตมากกว่านี้ แต่พอไม่ขายกลายเป็นพอร์ตพังเสียอย่างนั้น นั่นเพราะทุกคนไม่คิดว่ามันจะลง
“ไม่มีใครรู้ว่ามันจะลง ทุกคนเห็นภาพเดียวกัน แล้วก็รู้สึกว่าเราน่าจะไปต่อจาก 12 เท่าไปเป็น 20 เท่า 100 เท่าเราคิดอย่างนั้นกันแทบทุกคน”
วัฏจักรตลาดเวียนกลับมาอีกหน กับแนวคิดใหม่ Mark to the Market
ในช่วงปี 2021 ซึ่งนับว่าเป็นช่วงขาขึ้นของตลาดคริปโตอีกครั้ง Bitcoin ราคาพุ่งขึ้นไปถึง 60,000 ดอลลาร์ ปู่ก็ได้เรียนรู้ว่านี่เป็นความรู้สึกเดียวกับเมื่อตอนตลาดกระทิงครั้งแรกที่ปู่ทัน ปู่รู้เพราะว่าอยู่มาพ้นหนึ่ง Cycle แล้ว จากสูงสุดลงมาต่ำสุดก่อนที่จะขึ้นไปสูงสุดอีกครั้ง
“นี่เป็นภาพเดิมที่เคยผ่านมา ความรู้สึกก็ความรู้สึกเดิม ทุกคน Fomo ทุกคนกำไรหมด”
แต่ครั้งนี้สิ่งที่แตกต่างออกไปคือปู่มีบทเรียนจากการขาดทุนครั้งแรก ทำให้ปู่มีธีคิดแตกต่างออกไปจากเดิม คือพอพอร์ตโตแล้วก็ไม่อยากให้ประวัติศาสตร์เดิมมันซ้ำรอยที่ว่าจากกำไรเยอะๆ กลายเป็นติดลบ
ปู่เริ่มมานั่งคิดว่าสามารถขาดทุนได้เท่าไหร่ และจากนั้นก็เริ่มลงทุนแบบเน้นรักษาเงินต้นด้วยการลงทุนแบบเสี่ยงน้อยลง เพื่อให้สามารถรักษากำไรไว้ได้
ทั้งนี้ปู่เคยได้เรียนรู้บทเรียนการลงทุนที่น่าสนใจมาจากอาจารย์ท่านหนึ่ง ก่อนหน้านี้ปู่มองว่ากำไรก็คือกำไร ต้นทุนก็คือต้นทุน ทั้งสองส่วนแยกกัน นั่นทำให้มองว่ากำไรสามารถเสียได้ แต่อาจารย์ของปู่ได้สอนเรื่อง Mark to the Market ก็คือให้มองเงินปัจจุบันที่เรามีในพอร์ตถือว่าเป็นเงินทุนก้อนใหม่ ณ ตอนนั้น
ซึ่งการมองแบบนี้วิธีคิดในการลงทุนมันจะเปลี่ยน หากเรามองว่าเราสามารถเสียกำไรได้เราจะลงทุนเสี่ยง แต่หากมองว่ามันเป็นทุน วิธีการลงทุนก็จะเสี่ยงน้อยลง
ปู่ค่อยๆ เริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการลงทุน จากแต่ก่อนอาจจะตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากจะให้พอร์ตโต 10 เท่าก็มาเปลี่ยนใหม่เป็นขอแค่ให้พอร์ตโต กี่เท่าก็ได้ แต่จะไม่ให้ขาดทุนเกิน 20% ซึ่ง 20% นี้ก็คือปริมาณเงินที่รู้สึกว่ายอมรับได้หากมันจะเสีย
“เรารู้สึกว่าเราไม่ต้องการเงินเยอะขนาดนั้น ซึ่งถ้าได้เยอะมันก็ดี แต่ในทางกลับกัน ถ้ามันเสีย เรารู้สึกว่าเรารับไม่ได้ เราเคยผิดพลาดไปแล้วเราก็ไม่อยากทำให้มันเป็นภาพเดิมอีก”
รูปแบบการลงทุนที่ขึ้นอยู่กับอายุ และแนวคิด Drawdown สำหรับจัดการ Portfolio
“มันคือ Money management แล้วก็การประเมินความเสี่ยงซึ่งเราก็ต้องไปปรับให้เข้ากับตัวเรา ทั้งนี้พื้นฐานของการเงิน เขาก็จะสอนมาว่าถ้าเราอายุยังน้อยเรายังมีรายได้ที่เราสามารถทำงานมีแรงหาเงินมาเติมพอร์ต เราก็สามารถลงทุนที่ค่อนข้างเสี่ยงมาก เพื่อที่พอร์ตจะได้โต พออายุเรามากขึ้นหรือว่าเราอาจจะทำงานไม่ได้อีกหรือว่าเหลือระยะเวลาในงานทำงานสั้นๆ เราก็ต้องลงทุนให้มันปลอดภัยมากขึ้น มั่นคงมากขึ้น โดยไม่ต้องเน้นโตมาก แต่เน้นรักษาเงินต้นแทน มันก็ขึ้นอยู่กับช่วงอายุด้วย”
อีกเรื่องที่สำคัญสำหรับปู่คือ Drowdown (จำนวนเงินลงทุนที่ลดลงสูงสุด ก่อนที่จะดีดตัวกลับ) ซึ่งในกรณีปู่มองว่าสามารถขาดทุนได้ 20% ก็เลยจัดพอร์ตให้เหมาะสมกับตัวเองโดยมี Stablecoin ที่ 75% ซึ่งนั่นหมายความว่าโอกาสที่มันโตอาจจะไม่ได้มากนัก ถ้าเทียบกับสัดส่วนของพอร์ตที่เป็นแบบมีเหรียญเยอะๆ เช่น เหรียญ 50% กับ Stablecoin 50% เพราะถ้าเป็นช่วงที่ตลาดดี เหรียญต่างๆ ก็มีโอกาสที่จะดีดตัวขึ้นได้มากกว่า และพอร์ตก็มีโอกาสที่จะเติบโตมากกว่า
ดังนั้นเมื่อจุดที่เราเริ่มพอใจพอร์ตแล้วการจัดให้เหรียญต่างๆ มีสัดส่วน อยู่ที่ 25% เมื่อตลาดมันลง ต่อให้เจ็บอยู่บ้าง แต่ก็รู้สึกว่าสามารถยอมรับได้
Drowdown ถือเป็นแนวคิด เป็นเครื่องมือที่เอาไว้จัดการความเครียดจากความผิดพลาด เพราะต่อให้เก่งแค่ไหน ก็ต้องมีครั้งที่ตัดสินใจผิดพลาดเช่นกัน มันจะช่วยให้นักลงทุนไม่เครียดเกินไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
“กลายเป็นว่าตอนนี้พอร์ตการลงทุนของผมก็ดำเนินไปแบบเฉื่อยๆ เสียก็เสียน้อย ได้ก็ได้ไม่เยอะมาก เราก็จะไม่ค่อยตื่นเต้นไม่ค่อยอะไร แต่โดยรวมมันทำให้เราไม่เครียดเกินไป ตรงนี้แหล่ะที่เป็นจุดสำคัญ”
ส่วนวิธีการจัดสัดส่วนพอร์ตของนักลงทุนที่ปู่รู้จัก บางคนก็จะเน้น Stablecoin บางคนก็จะเน้นเก็บ Bitcoin กับ Ethereum เพราะพวกเขาเชื่อว่าอนาคตมันจะต้องดีดตัวกลับพา และราคาพุ่งต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งจะเชื่อแบบไหนก็ไม่ผิด แต่ว่าต้องเอาที่เหมาะสมกับตัวเอง แต่สำหรับมุมมองปู่เอง วิธีที่ทำให้ได้ผลตอบแทนสูงที่สุดคือการซื้อแล้วถือเฉยๆ
ปู่ยังมองว่าความสำคัญอีกอย่างสำหรับนักลงทุนก็คือการพยายามอยู่กับตลาดให้ได้นานที่สุด พยายามรักษาเงินต้นและจัดการความเครียดเพื่อให้ผ่านมันไปได้
“จริงอยู่ที่ว่าแม้อนาคตเหรียญมันอาจจะกลับมาได้ แต่ว่าช่วงระหว่างทางมันทรมาน ถ้าเราเทรด เราเครียดหรือว่าเราถือเหรียญที่เราไม่ได้เชื่อว่ามันมีศักยภาพ เราไม่ได้คิดสถานการณ์ที่มันแย่ที่สุดไว้อ่ะ เราก็อาจจะอยู่ในตลาดได้ไม่นานก็น่าจะต้องออก พอเราออกเนี่ยมันก็จะผิดแนวคิดที่ว่าเราควรจะอยู่ยาว”
ปู่ยังมองว่าตลาดคริปโตมันยังมีโอกาสอีกมาก ดังนั้นการอยู่ตลาดให้ได้ยาว จะทำให้เราสามารถคว้าโอกาสที่หลากหลายได้
คำแนะนำสำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือคนที่กำลังสนใจ
ปู่ยกตัวอย่างตัวเอง ซึ่งไม่ได้เก่งเฉพาะด้าน เพราะแม้จะเรียนทางด้านการเงินมาแต่ก็ไม่ได้ทำงานตรงสาย ปู่อยากจะบอกว่าแม้ไม่ได้เก่งก็สามารถลงทุนได้ แต่ให้เรียนรู้กว้างๆ ไปก่อน คือการศึกษาว่าการลงทุนมีแบบไหนบ้าง มันไม่ได้มีการเทรดเพียงอย่างเดียว บางคนอาจจะซื้อสะสม หรืออาจจะทำกิจกรรม พอเราเรียนรู้กว้างเสร็จแล้วค่อยมามองดูในขั้นถัดไป ว่ารู้สึกสบายใจที่จะอยู่กับมันจริงๆ หรือเปล่า คือไม่เกิดความเครียด แล้วค่อยไปศึกษาให้มันลึกขึ้น
“เมื่อไปศึกษาให้ลึกขึ้นแล้ว เราก็เอาความรู้แต่ละด้านที่เราไปศึกษานั้นมารวมกันจนมันเกิดเป็นความรู้ใหม่ขึ้นมา อย่างเช่นการฟาร์มหรือการเฮดจิ้ง (hedging) ซึ่งพอทำแล้วมันจะได้เปรียบกว่าคนที่ไม่ทำ”
สำหรับคำแนะนำที่ 2 เป็นเรื่องที่ปู่มาตกผลึกได้หลังจากลองเทรด Future ว่า ถ้าเรามีเงินไม่จำกัด มันจะทำให้เราสามารถชนะตลาดได้
“อย่างการเทรดหรือการลงทุนของผม ผมจะมองว่าเป็นการพนัน ซึ่งถ้าเรามีแต้มต่อ อย่างเช่นเราเป็นเจ้าคาสิโน ถ้าเรามีเงินทุนเยอะหรือว่าเงินทุนไม่จำกัดแล้วเราเปิดระยะยาว ถึงแม้ว่าลูกค้า ใหม่ๆ มาเล่น อาจจะแทงถูกก็จริง แต่ว่าในระยะยาว ด้วยสถิติและหลักการยังไงเขาก็เสีย เราก็มองว่าการลงทุนมันก็เป็นคอนเซ็ปต์นั้น ถ้าเราสามารถทำให้เรามี edge (มีแต้มต่อบางอย่าง) เหนือผู้เล่นคนอื่นได้ หรือว่าเหนือเจ้าได้ เราก็สามารถที่จะชนะได้ มันอาจจะไม่เร็ว มันอาจจะมีผิดแต่ว่าถ้าเราถูกมากกว่าผิดยังไงเราก็ชนะ”
ในโลกคริปโตเองก็จะมีกิจกรรมที่ทำให้เรามีเงินเพิ่มขึ้น อย่างกิจกรรมแข่งเทรดซึ่งมีรางวัลอยู่ ถ้าเราชนะก็ได้รางวัล ในขณะที่ถ้าแพ้ก็จะเสียเงินน้อยกว่าปกติ ถ้าเราทำเรื่องลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ ทำถูกมากๆ ท้ายที่สุดเราก็จะชนะและอยู่ในตลาดได้
และนี่ก็คือการบอกเล่าประสบการณ์และแนวทางการลงทุนจากผู้ที่ผ่าน Cycle คริปโตมาหลายครั้ง แต่ทั้งนี้นี่ก็เป็นเพียงแนวทางหนึ่งเท่านั้น ผู้ที่รับสารไปต้องมีวิจารณญาณในการอ่าน ไม่จำเป็นต้องเชื่อทั้งหมด หรือจะไม่เชื่อเลยก็ไม่เป็นไร แต่ว่าวิธีคิดและมุมมองที่ปู่แชมป์ได้แบ่งปัน คงเป็นสิ่งที่เราสามารถหยิบไปปรับใช้ได้อย่างแน่นอน