KEY TAKEAWAYS
- Bitcoin มีอุปทานสูงสุดอยู่ที่ 21 ล้านเหรียญ และจะถูกขุดครบเมื่อปี 2140
- Bitcoin มีกระบวนการที่เรียกว่า halving อยู่ คือเมื่อทุกๆ 210,000 บล็อกถูกขุด หรือประมาณทุกๆ 4 ปี รางวัลที่แต่ละบล็อกจะให้ bitcoin แก่ผู้ขุดจะลดลงครึ่งหนึ่ง
- เมื่อ Bitcoin ถูกขุดจนครบ 21 ล้านเหรียญ มันจะกลายเป็นของหายาก, และนักขุดที่อยู่ในระบบก็จะได้รางวัลตอบแทนเป็นค่าธรรมเนียมแทน
- หากนักขุดไม่อยู่ในระบบเพื่อคอยยืนยันธุรกรรม เครือข่ายของ Bitcoin ก็จะไม่ปลอดภัยอีกต่อไป และนั่นจะทำให้ผู้คนขาดความเชื่อมั่นใน Bitcoin และนำไปสู่การล่มสลายในที่สุด
หลายคนทราบกันดีว่า บิทคอยน์ (Bitcoin: BTC) มีอุปทานสูงสุด (maximum supply) ทั้งหมด 21 ล้านเหรียญ เมื่อขุดจนครบแล้วมันจะไม่สามารถมี bitcoin เพิ่มขึ้นมาบนโลกนี้ได้อีก แล้วอย่างนี้หลายคนคงอาจจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ bitcoin ขุดครบ 21 ล้านเหรียญ?
เมื่อไหร่ Bitcoin จึงจะถูกขุดครบ 21 ล้านเหรียญ
แต่ก่อนที่เราจะได้คำตอบว่าหากขุด bitcoin ได้ครบ 21 ล้านเหรียญจะเป็นอย่างไร เราก็คงต้องรู้กันก่อนว่าเหตุการณ์ bitcoin ครบ 21 ล้านเหรียญนั้นจะไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ โดยนักวิชาการคาดการณ์ว่ากว่า bitcoin จะขุดจนครบก็คือเมื่อปี 2140 โน่นเลย
อีกตั้งร้อยกว่าปี ทั้งๆ ที่ bitcoin ที่ยังไม่ถูกขุดออกมาเหลือไม่ถึงสองล้านเหรียญด้วยซ้ำ นั่นก็เพราะ bitcoin มีกระบวนการที่เรียกว่า halving อยู่ คือเมื่อทุกๆ 210,000 บล็อกถูกขุด หรือประมาณทุกๆ 4 ปี รางวัลที่แต่ละบล็อกจะให้ bitcoin แก่ผู้ขุดจะลดลงครึ่งหนึ่ง เมื่อปี 2009 แต่ละบล็อกจะให้รางวัลนักขุดบล็อกละ 50 BTC หลังจากการ Halving ครั้งแรก (ประมาณปี 2013) รางวัลจะลดลงเหลือบล็อกละ 25 BTC และหลังจากนั้นก็จะลดลงเหลือบล็อกละ 12.5 และ 6.25 BTC ตามลำดับ นี่คือกระบวนการที่ซาโตชิ นากาโมโตะได้สร้างไว้เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาเงินเฟ้อของ bitcoin
แต่ทั้งนี้แม้ความจริงที่ว่าอุปทานสูงสุดของ bitcoin มี 21 ล้านเหรียญ แต่อุปทานหมุนเวียนหรือ bitcoin ที่สามารถนำมาใช้จ่ายได้จริงๆ จะมีน้อยกว่านั้น โดยบริษัท Chainalysis ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลได้คาดการณ์ว่ากว่า 1 ใน 5 ของ bitcoin ที่ถูกขุดแล้วในปัจจุบันได้สูญหายไปจากหลายสาเหตุ เช่น เก็บอยู่ในกระเป๋าคริปโตที่เจ้าของกระเป๋าลืม Private Key (กุญแจส่วนตัวที่ใช้ในการเข้าถึงกระเป๋า) หรือโอน bitcoin ไปผิด หรือทำฮาร์ดไดรฟ์หาย เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าจากเหตุการณ์สมมุติที่ยกมา bitcoin ไม่ได้หายไปไหน มันยังมีอยู่ในโลกดิจิทัล แต่ไม่สามารถนำออกมาใช้ได้
เมื่อ Bitcoin ถูกขุดจนครบ 21 ล้านเหรียญจะเป็นอย่างไร
ต่อให้เป็นอีกกว่าร้อยกว่าปี bitcoin จึงจะถูกขุดจนครบ แต่อย่างไรคำถามที่ว่าหลังจากนั้นมันจะเกิดอะไรขึ้น ก็เป็นคำถามที่น่าสนใจเหลือเกินอยู่ดี
บิทคอยน์จะกลายเป็นของหายาก?
เมื่อเหรียญทั้งหมดถูกขุดขึ้นมาหมดแล้วมันย่อมส่งผลกระทบต่อราคา หากในตอนนั้นความต้องการ bitcoin ยังคงเติบโต มันก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ราคาของ bitcoin พุ่งสูงขึ้น นั่นเพราะมันกลายเป็นของหายากที่มีจำนวนจำกัด หากคุณต้องการ bitcoin คุณจะไม่สามารถสร้างหรือขุดมันมาจากไหนได้ แต่คุณจะต้องซื้อต่อจากผู้ที่ครอบครองอยู่แล้วนั่นเอง
ค่าธรรมเนียมคือค่าตอบแทนของนักขุด
ในส่วนของนักขุดซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการรักษาความปลอดภัยของระบบบล็อกเชนของ bitcoin ก็จะได้รับผลกระทบ คือเมื่อเหรียญทั้งหมดถูกขุดมันจะถูกส่งเข้าไปยังตลาดและเกิดการหมุนเวียน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก็คือนักขุดจะทำกำไรจากการขุดเหมือง bitcoin ได้น้อยลง เพราะพวกเขาไม่ได้รับ bitcoin เป็นรางวัลจากบล็อกแล้ว (ก็มันหมดแล้วนี่นา) แต่การทำธุรกรรมต่างๆ โดยใช้ bitcoin เป็นเงินจะยังคงเกิดขึ้น และยังต้องการ node เพื่อยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมอยู่ ดังนั้นนักขุดจึงจะได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมแทน อันที่จริงในปัจจุบันนักขุดก็สร้างกำไรจากค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมของ bitcoin เช่นกัน แต่สร้างรายได้ได้น้อยกว่ารางวัลจากบล็อก โดยในปัจจุบัน นักขุดสามารถขุด bitcoin ได้ประมาณ 900 BTC ต่อวัน แต่จะได้รับค่าธรรมเนียมประมาณ 60 – 100 BTC ต่อวันเท่านั้น (ต่างกันเกือบสิบเท่าทีเดียว)
ความเชื่อมั่น! สิ่งสำคัญที่จะกำหนดอนาคตของ Bitcoin
ในอนาคตเมื่อ bitcoin ถูกขุดจนครบแล้ว ความสำคัญที่มันมีต่อโลกดิจิทัลหรือโลกเสมือนจริงนั่นแหละจะเป็นตัวกำหนดอนาคตของมัน หมายถึงหาก bitcoin ยังมีความสำคัญมาก ผู้คนต้องการมัน ผู้คนใช้มันซื้อขายสิ่งของ เหล่านักขุดก็จะยังคงอยู่ในระบบบล็อกเชนของ bitcoin เพื่อยืนยันธุรกรรมที่เกิดขึ้นแม้จะไม่มีรางวัลในบล็อกเป็นแรงจูงใจอีกต่อไป และหากเป็นเช่นนั้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมของ bitcoin ก็จะสูงขึ้นมากพอที่จะยื้อให้นักขุดยังคงอยู่ในระบบ อย่างที่นายเบน โจว CEO ของบริษัท ByBit ได้คาดการณ์ไว้ว่าค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมของบิทคอยน์จะสูงขึ้นเหมือนอย่างที่มันเคยเกิดขึ้นในตลาดกระทิงเมื่อปี 2017 โดยเขาได้กล่าวว่า “การ halving จะทำให้ได้รับรางวัลน้อยลงเรื่อยๆ และจนกว่า bitcoin เหรียญสุดท้ายจะถูกขุดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมก็จะมีความสำคัญมากขึ้น”
ไม่เพียงค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่อีกหนึ่งเหตุผลที่อาจจะทำให้นักขุดยังคงอยู่ในระบบบล็อกเชนคือการลดค่าพลังงานไฟฟ้าลง โดยนายอีริค แอนซิโอนี (Eric Anziani) ซึ่งเป็น CEO ของ Crypto.com ได้กล่าวไว้ว่า “ในมุมมองของเรา หาก bitcoin และคริปโตเคอร์เรนซีได้รับการยอมรับมากขึ้น ราคาของมันก็ควรเพิ่มขึ้นอย่างมากเพื่อชดเชยรางวัลที่น้อยลงต่อบล็อกจากการ halving นอกจากนี้กระบวนการทำเหมืองยังมีประสิทธิภาพมากขึ้นและพลังงานหมุนเวียนได้รับความนิยม ดังนั้นค่าไฟฟ้าของนักขุดจะลดลง จึงทำให้พวกเขาจะยังคงอยู่ในระบบและรักษาความปลอดภัยของเครือข่ายต่อไป’
แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาของมหาวิทยาลัยปริ๊นซ์ตัน (Princeton University) เมื่อปี 2016 ได้บอกไว้ว่าค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมเพียงอย่างเดียวจะไม่เพียงพอให้นักขุดยังคงอยู่ในระบบบล็อกเชนของ bitcoin และมันจะทำให้เกิด ‘ผลกระทบที่น่าหนักใจ (troubling consequences)’ ต่ออนาคตความปลอดภัยของ bitcoin
จะเกิดอะไรขึ้น หากนักขุดไม่อยู่ในระบบเพื่อคอยยืนยันธุรกรรมของ Bitcoin?
และหากในอนาคตค่าธรรมเนียมเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอให้นักขุดยังคงอยู่ในระบบ คำถามต่อไปคือ แล้วจะเป็นอย่างไรหากนักขุดทั้งหมดออกจากระบบบล็อกเชนของ bitcoin?
คำตอบก็คือการซื้อขายโดยใช้ bitcoin จะไม่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป นั่นเพราะนักขุดคือผู้ตรวจสอบความถูกต้องให้ธุรกรรมทั้งหมดมีความปลอดภัย เมื่อไม่มีนักขุด มันก็ไม่มีความปลอดภัยในการทำธุรกรรม ซึ่งนั่นจะนำไปสู่ความไม่เชื่อถือ เสื่อมความนิยม และล่มสลายของ bitcoin ในที่สุด
แต่อย่างไรก็ตามทั้งหมดเป็นเพียงการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญจากการอาศัยข้อมูลที่พบเห็นได้ในปัจจุบันเท่านั้น ทั้งนี้ระบบนิเวศของ bitcoin เองก็ยังคงพัฒนาอยู่ ดังนั้นมันจึงมีแนวโน้มที่ตัว bitcoin จะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต แต่แม้จะพัฒนามากน้อยเพียงใด จำนวนอุปทานสูงสุดของ bitcoin ก็จะไม่มีทางเปลี่ยนแปลง มันเคยถูกกำหนดไว้ว่ามี 21 ล้านเหรียญอย่างไรก็จะเป็นอย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง
References : Investopedia, Cnbctv18(1), Cnbctv18(2), Learn.bybit, Decrypt