KEY TAKEAWAYS
- Public Blockchain มีความ Decentralized และ Permissionless สูงที่สุด แต่มีความเสี่ยงทางด้าน 51% Attack และมีข้อเสียทางด้านความรวดเร็วในการทำธุรกรรม
- Private Blockchain เป็นบล็อกเชนสำหรับใช้งานภายในองค์กร มีข้อเสียคือค่าใช้จ่ายในการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของระบบที่ค่อนข้างสูง
- Consortium Blockchain เป็นบล็อกเชนสำหรับการใช้งานร่วมกันระหว่างองค์กร มีข้อดีที่มีความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนแปลงสูงกว่า Public Blockchain แต่ก็ต้องแลกมากับความปลอดภัยที่น้อยกว่า และมีความเป็น Decentralized มากกว่า Private Blockchain
- Hybrid Blockchain เป็นบล็อกเชนที่ผสมผสานข้อดีของ Public และ Private Blockchain เข้าด้วยกัน มีความปลอดภัยจากการถูกโจมตีสูง มีความเป็นส่วนตัว และมีความสามารถในการปรับขนาดที่ดีกว่า
เรารู้กันดีว่าคริปโตเคอร์เรนซีรันอยู่บนเทคโนโลยีบล็อกเชน แต่รู้หรือไม่ว่าบล็อกเชนไม่ได้มีเพียงประเภทเดียว มันสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก คือ public blockchain, private blockchain, consortium blockchain และ hybrid blockchain และแต่ละประเภทก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน
เอสป้า ฮง (Espae Hong) หัวหน้าสถาบันวิจัย CBDC Blockchain กล่าวว่า “เทคโนโลยีบล็อกเชนที่อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์ต่างๆ นั้นเหมือนกัน แต่ผู้ใช้ปลายทางของบล็อกเชนแต่ละประเภทจะแตกต่างกัน” เช่น Public Blockchains ผู้ใช้ปลายทางคือทุกคน ส่วน Private Blockchains ผู้ใช้ปลายทางคือผู้ที่ได้รับเชิญและสมาชิกในเครือข่ายเท่านั้น
วันนี้เราจึงพามาทำความรู้จักกับบล็อกเชนทั้ง 4 ประเภทกัน
Blockchain 4 ประเภทหลัก
Public Blockchain
เป็นบล็อกเชนสำหรับแนวคิดการกระจายอำนาจ (decentralized) อย่างแท้จริง มันไม่มีข้อจำกัดใดๆ ในการเข้าร่วมระบบ (Permissionless) ขอแค่มีคอมพิวเตอร์กับอินเทอร์เน็ตก็สามารถเข้าร่วมระบบได้
Public Blockchain นั้นเหมาะสำหรับการทำการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล รวมไปถึงสามารถใช้ในการบันทึกข้อมูลได้อีกด้วย ทั้ง Bitcoin และ Ethereum ต่างก็เป็นบล็อกเชนแบบ Public Blockchain
แต่ข้อเสียของ Public Blockchain ก็คือ ถ้าหากมีใครที่สามารถควบคุม Validator ได้เกิน 51% ก็จะสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลบนบล็อกเชนได้ นอกจากนี้ยังมีข้อเสียทางด้าน Scalability โดยความเร็วในด้านการทำธุรกรรมนั้นจะช้ากว่า (ปัญหาเรื่องของความเร็วในการทำธุรกรรมต่อวินาที หรือ TPS นั้นยังคงเป็นปัญหาสำหรับ Public Blockchain อยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น)
Private Blockchain
เป็นบล็อกเชนที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการใช้งานในองค์กรหรือบริษัทเท่านั้น โดยผู้ที่ต้องการเข้าใช้งานจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ดูแล ผู้ที่มีส่วนร่วมสามารถร่วมกันเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในการตรวจสอบข้อมูลที่จะบันทึกลงในบล็อกเชนได้ด้วย
Private Blockchain นั้นเหมาะสำหรับองค์กรที่ต้องการเก็บข้อมูลที่เป็นความลับของบริษัทไว้ โดยตัวอย่างขององค์กรหรือบริษัทที่มี Private Blockchain เช่น Terndermint, Corda, Hyperledger เป็นต้น
ข้อเสียของ Private Blockchains ก็คือค่าใช้จ่ายในการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของอุปกรณ์ การเชื่อมต่อองค์ความรู้ของผู้ใช้งานภายในองค์กร รวมไปถึงการดูแลรักษาระบบ
Consortium Blockchain
เป็นบล็อกเชนที่ผสมผสานเอาแนวคิดของ Public Blockchain และ Private Blockchain เข้าด้วยกัน เหมาะกับการรวมตัวกันระหว่างองค์กรหรือบริษัทที่ต้องมีการส่งข้อมูลไปมาหากันอยู่ตลอดเวลา โดยธุรกรรมหรือข้อมูลที่ถูกเก็บบนบล็อกเชนนั้นจะถูกเก็บเป็นความลับ ไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะทั้งหมด
ตัวอย่างโปรเจกต์ที่ใช้ Consortium Blockchain คือ Tendermint และ Multichain รวมถึงกลุ่มธนาคารของญี่ปุ่นก็มีการใช้ Consortium Blockchains เช่นกัน
Consortium Blockchain จะมีตัวแทนของแต่ละองค์กรเป็นผู้ตรวจสอบและอนุมัติสิทธิในการเข้าร่วม และสมาชิกจะค่อยทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบ (Validator) ร่วมกันบนบล็อกเชน
Consortium Blockchain มีข้อดีที่มีความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนแปลงสูงกว่า Public Blockchain แต่ก็ต้องแลกมากับความปลอดภัยที่น้อยกว่า และมีความเป็น Decentralized มากกว่า Private Blockchain
Hybrid Blockchain
คล้ายกันกับ Consortium Blockchain, Hybrid Blockchain ก็เป็นการนำคุณสมบัติของ Public Blockchain และ Private Blockchain มารวมไว้ด้วยกัน โดยองค์กรที่มีการใช้ Hybridg Blockchain ก็คือ IBM Food Trust
Hybrid Blockchain เป็นระบบที่ถูกควบคุมด้วยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง โดยผู้ควบคุมจะเป็นคนกำหนดว่าใครที่สามารถจะเป็นผู้เข้าร่วมกับบล็อกเชนได้ กำหนดว่าใครมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลใดบ้าง และกำหนดว่าข้อมูลใดสามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้
ข้อดีของ Hybrid Blockchain คือมีความปลอดภัยจากการถูกโจมตีสูง แฮ็กเกอร์ไม่สามารถทำการโจมตีแบบ 51% ได้ นอกจากนี้ยังมีความเป็นส่วนตัว และมีความสามารถในการปรับขนาด (Scalability) ที่ดีกว่า Public Blockchain
.
.
ในปัจจุบันเราอาจจะรู้จักบล็อกเชนในฐานะเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังคริปโตเคอร์เรนซี แต่มันมีประเภทแยกย่อยออกไปอีกซึ่งส่งเสริมในอุตสาหกรรมที่มีรูปแบบแตกต่างกัน ตอนนี้บล็อกเชนกำลังได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ อีกไม่นานมันคงก้าวเข้ามามีบทบาทในโลกของเรามากยิ่งขึ้น
References : Foley, Techtarget, Mhesi