KEY TAKEAWAYS
- DeFi ย่อมาจาก Decentralized Finance หมายถึงระบบการเงินแบบกระจายศูนย์
- DeFi เกิดขึ้นมาเพื่อนำเสนอระบบการเงินที่เราไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาตัวกลาง
- DeFi นั้นทำงานอยู่บนสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) บนเทคโนโลยีบล็อกเชน
- CeFi และ DeFi นำเสนอบริการทางการเงินที่คล้ายกัน แต่ว่ามีแนวคิดในการดำเนินงานที่ต่างกัน
หลังจากที่ Bitcoin ได้มีการเปิดตัวเมื่อปี 2009 โลกก็ได้เริ่มรู้จักกับเทคโนโลยีบล็อกเชน และคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งหนึ่งในการใช้งานที่หลากหลายของบล็อกเชนนั้นก็คือ ระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ หรือที่เรียกกันว่า Decentralized Finance (DeFi) ซึ่งทำงานบนสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) แล้ว DeFi ต่างกับระบบการเงินในปัจจุบันอย่างไร
CeFi บนโลกคริปโตคืออะไร เดี๋ยวเราจะมาทำความรู้จักกัน
ทำความรู้จักกับ CeFi
Centralized Finance (CeFi) หรือระบบการเงินแบบรวมศูนย์ หมายถึงระบบการเงินที่ถูกควบคุมโดยตัวกลาง อย่างเช่น ระบบเงินเฟียต (Fiat Money) ที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาล, ธนาคารพาณิชย์ที่ถูกควบคุมด้วยบริษัทมหาชนขนาดใหญ่ เป็นต้น แต่ว่าแล้ว CeFi ในโลกคริปโต คืออะไร ?
บรรดา Centralized Exchange (CEXs) อย่าง Binance, Kucoin หรือ FTX ก็เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทขนาดใหญ่ในระบบการเงินแบบรวมศูนย์เช่นกัน ซึ่งนั้นก็หมายความว่า CeFi ในโลกของคริปโตนั้น หมายถึง CEXs ต่างๆ ที่ให้บริการแก่พวกเรานั้นเอง
CEXs ต่างๆ นั้นมีบริการเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซีที่หลากหลาย ตั้งแต่บริการในการซื้อขาย, การซื้อสัญญาล่วงหน้า, การกู้ยืม ไปจนถึงการการฝากคริปโตเพื่อรับดอกเบี้ย แต่ทั้งนี้หากเราต้องการจะใช้งานบริการของ CEXs เราก็ต้องทำการสมัครบัญชีของเรากับทาง CEXs ก่อน นอกจากนี้เรายังจะต้องทำการฝากเงินหรือสินทรัพย์ไว้กับผู้ให้บริการของเราอีกด้วย ผู้ใช้จึงต้องไว้วางใจว่า CEXs ที่เราไปใช้บริการนั้นสามารถเชื่อถือได้
DeFi คืออะไร
Decentralized Finance (DeFi) หรือระบบการเงินกระจายศูนย์ หมายถึงระบบการเงินที่ไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาตัวกลางอย่างเช่น ธนาคาร หรือรัฐบาล DeFi นั้นถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ทุกคนที่มีอินเทอร์เน็ต สามารถทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ได้ผ่านเครือข่ายการเงินแบบ Peer-to-Peer ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่าบล็อกเชน
Decentralized Exchanges (DEXs) นั้นนับว่าเป็น Decentralized Application (dApps) เกี่ยวกับระบบการเงิน ที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินกระจายศูนย์ โดย DEXs นั้นมีการให้บริการที่เหมือนกับ CEXs แทบจะทุกประการ แต่ผู้ใช้บริการไม่จำเป็นที่จะต้องสมัครบัญชี หรือฝากเงินเข้าไปที่ DEXs เพื่อใช้บริการ ผู้ใช้เพียงแค่นำกระเป๋าเงินของตนเองไปเชื่อมต่อกับ DEXs ก็สามารถใช้งานได้แล้ว บรรดา DEXs ที่ได้รับความนิยม เช่น Uniswap, Curve Finance, Pancakeswap เป็นต้น
ความแตกต่างระหว่าง CeFi และ DeFi
อันที่จริงแล้ว CeFi และ DeFi นั้นต่างก็นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เหมือนๆ กัน ทั้งการให้บริการรับ-โอนคริปโต, การให้บริการในการซื้อขาย, การให้กู้ยืม, การฝากคริปโตเพื่อรับดอกเบี้ย เป็นต้น แต่สิ่งที่ทำให้ CeFi และ DeFi แตกต่างกันคือ
Centralized vs Decentralized
CeFi นั้นมีโครงสร้างในการดำเนินงานแบบรวมศูนย์ กล่าวคือบรรดา CeFi จะถูกควบคุมและดำเนินการด้วยบุคคลหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
ต่างกันกับ DeFi ที่ระบบจะดำเนินการผ่าน Smart Contract ที่ได้เขียนขึ้นมาและเปิดใช้งานบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้ DeFi ไม่ได้ดำเนินการภายใต้การควบคุมของคนหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ถูกควบคุมด้วย Smart Contract ที่ชุมชนผู้ใช้งานสามารถเข้าไปดู และมีส่วนรวมในการเปลี่ยนแปลงหรือกำหนดแนวทางในการดำเนินงานได้อย่างเท่าเทียม
Trust vs Trustless
การที่ผู้ใช้ต้องการจะใช้บริการจาก CeFi ผู้ใช้ก็จะต้องมี Trust หรือว่าเชื่อในบริษัทผู้ให้บริการว่าเขาจะไม่โกงเรา เขาจะต้องช่วยเรารักษาสินทรัพย์ของเรา
ซึ่งแตกต่างกันกับ DeFi โดยผู้ใช้ที่ต้องการจะใช้บริการ DeFi นั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเชื่อใจใครเลย ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้งานคนอื่น หรือว่าผู้พัฒนาแพลตฟอร์มก็ตาม ผู้ใช้เพียงแค่ต้องเชื่อในระบบ หรือ Smart Contract เพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยในโลกของคริปโตเคอร์เรนซีเราเรียกสิ่งนี้ว่า Trustless
ค่าธรรมเนียม
ค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหรือการใช้บริการบน CeFi นั้นจะถูกเก็บและนำไปใช้จ่ายสำหรับการดูแลรักษาระบบ หรือจ่ายเงินเดือนพนักงาน เป็นต้น
ส่วนค่าธรรมเนียมในการซื้อขายที่ DeFi เก็บจากผู้ใช้นั้น จะถูกแจกจ่ายคืนให้กับชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วม อย่างเช่น Uniswap ที่นำค่าธรรมเนียมที่ได้จากผู้ใช้ มาแจกจ่ายให้กับสมาชิกของชุมชนที่ถือโทเค็นของแพลตฟอร์ม และผู้ที่เข้ามาช่วยเป็นผู้ให้บริการสภาพคล่อง (Liquidity Provider)
ความเป็นส่วนตัว
เนื่องจากข้อบังคับทางด้านกฎหมาย ทำให้ CeFi ต้องทำการเก็บข้อมูลของผู้ใช้บริการ ผ่านแนวทางการปฏิบัติที่เรียกว่า Know Your Customer (การยืนยันตัวตน หรือเรียกย่อๆ ว่า KYC) และ Anti Money Laundering (ป้องกันการฟอกเงิน) ส่วน DeFi นั้นจะไม่มีการขอข้อมูลส่วนตัวใดๆ ของผู้ใช้บริการเลย เพียงแค่มีกระเป๋าเงินอย่างเช่น Metamask คุณก็สามารถใช้บริการของDeFi ได้ทันที
Permissionless
CeFi สามารถระงับบัญชี หรือหยุดการให้บริการแก่คุณเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าหากว่าพวกเขาสงสัยว่าคุณกำลังทำผิดกฎการใช้บริการ
แต่ในโลกของ DeFi แพลตฟอร์มที่ไม่สามารถห้าม ไม่ให้คุณใช้บริการได้ คุณสามารถใช้บริการ DeFi ตามแต่ใจคุณต้องการโดยที่ไม่มีใครจะมาห้ามคุณได้ และคุณก็ไม่จำเป็นที่จะต้องขออนุญาตใคร เราเรียกสิ่งนี้ว่า Permissionless
ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ระบบการเงินแบบรวมศูนย์จะยังคงเป็นที่นิยมอยู่มาก แต่ว่าระบบการเงินแบบกระจายศูนย์กลาง ก็เป็นอีกทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจอีกหนึ่งทางเลือก ด้วยระบบที่ทำงานผ่าน Smart Contract ซึ่งนำเสนอประสบการณ์ในการลงทุนรูปแบบใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม DeFi นั้นยังอยู่ในช่วงตั้งไข่เท่านั้น ยังต้องใช้เวลาอีกมากในการพัฒนาเพื่อเชื่อมต่อไปยังระบบการเงินแบบเดิม และได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
References : Cointelegraph(1), Cointelegraph(2), Trimplement, Thedefiant, Gemini