KEY TAKEAWAYS
- ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม โรงงานหลายแห่งบังคับให้คนงานทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ จนแรงงานทั่วสหรัฐฯ ทนไม่ไหวออกมาประท้วง กดดันให้นายทุนทั้งหลายต้องกำหนดวันหยุด
- จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดเมื่อปี 1914 Henry Ford ประกาศให้คนงานลดเวลาทำงานและเพิ่มเงินให้ เป็นกลยุทธ์ซื้อใจคนงาน เพิ่มประสิทธิภาพ และเมื่อคนงาน มีเงิน มีเวลา ก็สามารถซื้อรถฟอร์ดแล้วนำเงินเข้าบริษัทอีกรอบได้
- โรงงานอื่นๆ เห็นผลลัพธ์จึงทำตามกันไปทั่วโลก จนกระทั่งปี 1932 สหรัฐฯ กำหนดให้ทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์และใช้สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน
สำหรับคนที่สงสัยว่า Ford ทำให้เกิดวันหยุดสุดเสาร์อาทิตย์จริงหรือ? คำตอบก็คือ “จริง” แต่เป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยหลักเท่านั้น เรื่องราวมันเป็นมายังไง Ford มีอิทธิพลในระดับโลกจริงมั้ย ทำไมจึงสามารถสร้างมาตรฐานวันหยุดให้คนทั้งโลกได้ ลองมาดูไปพร้อมๆ กัน
ในอดีตคนเราทำงานสัปดาห์ละ 7 วัน หรือหากหยุดก็เพียง 1 วันตามความเชื่อทางศาสนาที่ว่าพระเจ้าสร้างโลก 6 วันและหยุด 1 วัน แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แนวคิดวันหยุดมาเป็นรูปเป็นร่างเอาในช่วงปลายยุค 1800s
เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม การทำงานของผู้คนเปลี่ยนจากแบบเกษตรกรรมที่เวลางานยืดหยุ่นมาเป็นแบบอุตสาหกรรมที่มีกำหนดเข้าออกงานแน่นอน โรงงานหลายแห่งบังคับให้คนงานทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์เพื่อให้ผลิตสินค้าได้ทันตามความต้องการ จนแรงงานทั่วสหรัฐฯ ทนไม่ไหวออกมาประท้วง กดดันให้นายทุนทั้งหลายต้องกำหนดวันหยุด 1 วันให้คนงาน
ชาวคริสต์ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมกำหนดวันอาทิตย์เป็นวันหยุดเพื่อให้ได้เข้าโบสถ์ แต่ชาวยิวกลับต้องการหยุดวันเสาร์เพราะเป็นวันที่ชาวยิวอุทิศให้พระเจ้าและไม่ทำงาน สุดท้ายเจ้าของโรงงานจำนวนหนึ่งจึงต้องประกาศให้ทั้งวันเสาร์และวันอาทิตย์เป็นวันหยุด
แต่ข้อตกลงนี้ไม่ใช่กฎหมาย ดังนั้นจึงไม่ใช่ทุกโรงงานที่ปฏิบัติตาม จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดเมื่อปี 1914 เฮนรี่ ฟอร์ด (Henry Ford) ผู้ให้กำเนิดรถยนต์ Ford ประกาศให้คนงานของโรงงานทำงานเพียง 8 ชั่วโมงต่อวัน, 5 วันต่อสัปดาห์ และเพิ่มค่าจ้างจากวันละ 2.34 ดอลลาร์เป็น 5 ดอลลาร์ ซึ่งนั่นก็คือมากกว่าหนึ่งเท่าตัวที่คนงานโรงงานรถยนต์อื่นๆ จะได้รับ
นักอุตสาหกรรมมองว่าฟอร์ดไม่ได้ทำไปเพราะเป็นห่วงสุขภาพคนงานเป็นหลัก แต่เขาโฟกัสที่เงินทุนและกำไรบริษัทมากกว่า นี่เป็นหนึ่งการตลาดที่มหัศจรรย์มาก ฟอร์ดสามารถซื้อใจคนงานได้ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและยอดขาย ส่วนคนงานได้รับค่าจ้างสูงขึ้นในขณะที่ใช้เวลาทำงานน้อยลง เกิดความภาคภูมิใจในบริษัทและตั้งใจทำงานจนงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
และนอกจากนั้นคือเรื่องยอดขาย เมื่อคนงานมีเงินมากขึ้น มีเวลาว่างมากขึ้น พวกเขาก็สามารถซื้อรถยนต์ฟอร์ดที่พวกเขาสร้างขึ้นมาได้มากขึ้น นำเงินกลับเข้าบริษัท ฟอร์ดรู้ดีว่าลูกค้าที่ดีที่สุดคือคนงานของเขานั่นแหล่ะ
โรงงานอื่นๆ เห็นผลลัพธ์ที่ฟอร์ดได้ รวมถึงเพื่อไม่ให้คนงานลาออกหมดจึงต้องปรับเวลาทำงาน ให้วันหยุด และขึ้นค่าแรงให้ ใช้เวลาไม่นานหลักการทำงานนี้ก็กลายเป็นมาตรฐานใหม่ในหมู่นายจ้างทั่วโลก จนกระทั่งรัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มใช้ระบบ 5 วันต่อสัปดาห์อย่างเป็นทางการในปี 1932 และใช้เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
สำหรับใครที่อยากขอบคุณคนที่ทำให้เรามีวันหยุดพักผ่อนไว้หายใจหายคอบ้าง สหภาพแรงงานในศตวรรษที่ 19 กับ Henry Ford ดูจะเป็นตัวเลือกที่ถูกต้อง
References: Wonderopolis, History, Indiatoday, Hankeringforhistory, Thehenryford