KEY TAKEAWAYS
- อลัน กรีนสแปน (Alan Greenspan) อดีตประธาน Fed 5 สมัย ชอบใช้กางเกงในชายเป็นตัวทำนายภาวะเศรษฐกิจ ทฤษฎีคือหากกระเป๋าเงินตึงตัว ผู้ชายจะไม่ค่อยอยากเปลี่ยนกางเกงในสักเท่าไหร่
- ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยปี 2008 – 2009 ยอดขายกางเกงในลดลง แล้วดีขึ้นในปี 2010 เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว เช่นเดียวกับยอดขายกางเกงในช่วงโควิดแพร่ระบาดก็ลดลงเช่นกัน
- CPI ของสหรัฐฯ ล่าสุดพบว่ายอดขายกางเกงในชายของเดือนธันวาคม – มกราคมเพิ่มขึ้น 5.5% สะท้อนว่าผู้คนเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้น
- มีตัวชี้วัดเศรษฐกิจแปลกๆ อันอื่นอีกเช่น ดัชนีตึกระฟ้า ดัชนีลิปสติก ดัชนีพนักงานเสิร์ฟ เป็นต้น
เราอาจจะเคยได้ยินว่าผู้ชายสามารถใช้กางเกงในตัวเดียวได้อย่างน้อยสี่วัน ฟังดูอาจเหมือนเรื่องตลก แต่มันอาจมีเค้าความจริงอยู่บ้างหากมองในแง่เศรษฐกิจ และมีผู้เชี่ยวชาญบางคนใช้กางเกงในชายเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจด้วยซ้ำ มันเป็นไปได้จริงไหม ใช้ชี้วัดเศรษฐกิจอย่างไร มาดูกัน
ผู้เชี่ยวชาญที่ใช้กางเกงในชายทำนายภาวะเศรษฐกิจก็คือ อลัน กรีนสแปน (Alan Greenspan) อดีตประธาน Fed 5 สมัยระหว่างปี 1987 – 2006 ทฤษฎีนี้เป็นอะไรที่ง่ายและตรงไปตรงมา คือแม้ว่าชุดชั้นในชายจะถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น แต่หากมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งของที่ผู้ชายไม่อยากจะเปลี่ยนใหม่ที่สุดก็คือกางเกงใน ยอดขายก็จะลดลง ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวก่อนที่จะลงทุนซื้อกางเกงในใหม่
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็พูดถึงดัชนีนี้ โรเบิร์ต ครูลวิช (Robert Krulwich) ผู้สื่อข่าว NPR เคยพูดเมื่อปี 2008 ว่า “Greenspan เคยบอกผมว่ากางเกงในถือเป็นเสื้อผ้าที่เป็นส่วนตัวที่สุด เพราะไม่ค่อยมีใครเห็นมัน โดยปกติแล้วกราฟยอดขายกางเกงในชายมันก็จะเป็นเส้นเรียบๆ แต่บางครั้งยอดขายก็จะลดลง ซึ่งนั่นหมายความว่าเศรษฐกิจกดดันจนทำให้ผู้ชายส่วนใหญ่ตัดสินใจไม่ซื้อกางเกงในใหม่”
บิล แพทเทอร์สัน (Bill Patterson) นักวิเคราะห์อาวุโสของบริษัทวิจัย Mintel บอกว่า “เมื่อเศรษฐกิจดี ผู้คนจะใช้จ่ายมากขึ้น แต่สิ่งสุดท้ายที่คนจะทำหากเงิดสดขาดมือคือเปลี่ยนชุดชั้นใน”
แอนดรูว์ แกรนด์ (Andrew Grant) ศาสตราจารย์อาวุโสจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ บอกว่า “ผู้ชายสามารถใช้กางเกงในได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ (ถ้าคุณไม่เคยได้ยินเรื่องตลกที่ว่ากางเกงในชายตัวเดียวสามารถใส่ได้อย่างน้อยสี่วัน ให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการคิดให้ออก (ภาพจากภาพยนตร์เขาชนไก่ลอยมาเลยทีเดียว)) ในขณะที่ผู้หญิงอาจไม่ทำอย่างนั้น”
กางเกงในชายชี้วัดเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่?
แล้วในอดีต ยอดขายกางเกงในชายสามารถชี้วัดเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ เราลองยกตัวอย่างมาให้ดูกัน เช่น ในช่วงโควิดแพร่ระบาดกัน ห้างสรรพสินค้า Big W ในประเทศออสเตรเลียเปิดเผยว่าประมาณปี 2020 ยอดขายกางเกงในชายเพิ่มขึ้น แต่พอเดือนมิถุนายน 2021 ซึ่งเป็นช่วงล็อกดาวน์ในซิดนีย์และเมลเบิร์น ยอดขายก็ลดลง
ดัชนีชุดชั้นในชายนี้ก็ถูกยืนยันในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยปี 2008 – 2009 เช่นกัน ช่วงนั้นยอดขายกางเกงในชายลดลง ก่อนจะกลับมาดีขึ้นในปี 2010 ซึ่งเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว หรือแม้กระทั่งปีที่แล้ว ช่วงที่อัตราเงินเฟ้อสูง ยอดขายชุดชั้นในชายก็ลดลงอย่างมาก
พิจารณายอดขายกางเกงในชาย ทำนายเศรษฐกิจปัจจุบัน
แล้วถ้าเราพิจารณาเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดเร็วๆ นี้จากดัชนีกางเกงในชายมันจะเป็นอย่างไร
CPI ของสหรัฐฯ ล่าสุดพบว่ายอดขายกางเกงในชายของเดือนธันวาคม – มกราคมเพิ่มขึ้น 5.5% ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อนหน้านั้นคือยอดขายกางเกงในชายเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคมลดลง แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้คนเพิ่มขึ้น
ซึ่งยอดซื้อของกางเกงในชายก็สอดคล้องกับดัชนีชี้วัดอื่นๆ ว่าเศรษฐกิจอาจเปลี่ยนแปลงไปในเชิงบวก แต่ความเชื่อมั่นของประชาชนก็ยังถือว่ายังไม่ดีเท่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาด
ฟังดูการใช้กางเกงในชายเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจ ก็ดูเหมือนจะเป็นตัวชี้วัดที่แปลกๆ อยู่บ้าง แต่อันที่จริงมันมีตัวชี้วัดที่ดูเหมือนไม่น่าจะเป็นตัวชี้วัดได้อีกมาก เช่น
ดัชนีชี้วัดแปลกๆ อื่นๆ
ดัชนีตึกระฟ้า (Skyscraper Index) สร้างขึ้นเมื่อปี 1999 จากนักวิเคราะห์อสังหาฯ แอนดรูว์ ลอว์เรนซ์ (Andrew Lawrence) ทฤษฎีก็คือเมื่อเศรษฐกิจดี จะมีการสร้างตึกสูงเพิ่มขึ้น และเมื่อมีการสร้างตึกที่สามารถทำลายสถิติตึกสูงที่สุดอันเก่าแล้ว นั่นก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งถัดไป
ดัชนีพนักงานเสิร์ฟ (Hot Waitress Index) ทฤษฎีคือเมื่อเศรษฐกิจแย่และเริ่มมีการปลดพนักงาน ผู้คนที่มีโปรไฟล์ดี (ที่ถูกปลด) จะเริ่มหางานอื่นๆ มากขึ้น เช่น พนักงานเสิร์ฟ ดังนั้นร้านอาหาร หรือบาร์ก็จะสามารถจ้างพนักงานเสิร์ฟที่โปรไฟล์ดีมากขึ้นได้
ดัชนีลิปสติก (Lipstick Index) สร้างโดยลีโอนาร์ด ลอว์เดอร์ (Leonard Lauder) ทฤษฎีก็คือเมื่อเศรษฐกิจแย่ลง ยอดขายลิปสติกก็จะเพิ่มขึ้น เพราะผู้หญิงสายช็อปจะประหยัดเงินจากเครื่องสำอางชิ้นใหญ่ราคาแพง แต่ซื้อลิปสติกซึ่งเป็นของชิ้นเล็กทดแทนเพิ่มขึ้น
ดัชนีการปัดหาคู่ เมื่อเศรษฐกิจแย่ การปลดพนักงานเพิ่มขึ้น ผู้คนไม่มีเงิน แต่มีเวลาว่างขึ้น และกำลังเหงา ดังนั้นยอดการใช้งานของแอพหาคู่จึงเพิ่มขึ้น ช่วงที่เศรษฐกิจถดถอยปี 2009 รวมถึงช่วงโควิดแพร่ระบาด บริษัทหาคู่เดตออนไลน์อย่าง Match รายงานยอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นกว่า 141%
ดัชนีบิ๊กแมค (Big Mac Index) หรือก็คือการใช้เบอร์เกอร์ของ McDonald เป็นตัวชี้วัดว่าสกุลเงินต่างๆ อยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ คิดค้นโดย The Economist เมื่อปี 1986 คือใช้เบอร์เกอร์ในฐานะสินค้าสากลและเปรียบเทียบกำลังซื้อของประเทศต่างๆ เช่นในเดือนธันวาคม 2021 เปรียบเทียบ Big Macs ซื้อด้วยเงินปอนด์ vs Big Macs ซื้อด้วยเงินดอลลาร์ ซึ่งก็ให้ผลลัพธ์ว่า “เงินปอนด์อังกฤษมีมูลค่าต่ำกว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ 17.1%”
เหล่านี้คือตัวอย่างดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจโดยใช้สิ่งต่างๆ ที่ดูเหมือนไม่น่าจะเอามาใช้เป็นตัวชี้วัดได้ แต่ทั้งนี้ดัชนี้ชุดชั้นในชาย รวมถึงดัชนีแปลกๆ อื่นๆ ดังทีได้กล่าวมาแล้วนั้นเป็นเพียงตัวชี้วัดง่ายๆ ที่นักเศรษฐศาสตร์มองหาเพื่อทำนายภาวะเศรษฐกิจ เหมือนกับที่เราพิจารณาสัญชาตญาณสัตว์เวลาจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังและตรวจสอบข้อมูลอื่นๆ ก่อนตัดสินดำเนินการสิ่งต่างๆ นั่นเอง
References: Fortune, Economist, Businessreview, Edition.CNN, Wise-geek, SMH
Graphic Ideas:
-
ผู้ออกแบบใช้สีฟ้า-เหลือง เป็นส่วนใหญ่ซึ่งเป็นสีหลักของ Enter to Start โดยมีรูปกางเกงในชายอยู่ตรงกลาง และมีกราฟอยู่ด้านหน้าและพื้นหลังของภาพ เพื่อสื่อถึงดัชนีของชุดชั้นในผู้ชาย