KEY TAKEAWAYS
- คริปโตเป็นนวัตกรรมใหม่ มันมีข้อดีที่ทำให้มองเห็นอนาคตอันสดใสได้ แต่ก็ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขก่อนเพื่อที่จะให้สามารถไปต่อได้อย่างมั่นคง
- 8 ปัญหาหลักที่ต้องแก้ไข ได้แก่ ปัญหาด้านอาชญากรรม กฎระเบียบควบคุมที่ชัดเจน ลดปริมาณการใช้พลังงาน เพิ่มความเร็วในการทำธุรกรรม จัดการกับความผันผวนของราคา เพิ่มความปลอดภัย ปรับค่าธรรมเนียมให้เหมาะสม และให้ความรู้แก่ประชาชนในวงกว้าง
แม้ว่าตอนนี้จะอยู่ในช่วงขาลงของตลาดคริปโต แต่ก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคริปโตได้รับความนิยมอย่างมาก และก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในปัจจุบันแล้วด้วยศักยภาพหลากหลายที่กำลังค่อยๆ เผยออกมา
แต่ทั้งนี้ก็มีปัญหาหลายอย่างที่มันต้องได้รับการแก้ไขก่อนที่จะไปต่อ ไม่ว่าเรื่องราคาที่มีความผันผวนมาก การขาดกฎระเบียบดูแล หรือใช้พลังงานจำนวนมากในการดำเนินการ ทำให้หลายประเทศเริ่มมีมาตรการด้านลบเกี่ยวกับคริปโต อย่างจีนที่แบนการขุดเหมืองคริปโตเมื่อกรกฎาคมปีที่แล้ว
ดังนั้นหากคริปโตอยากไปต่อ มันต้องมีการแก้ไขเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ทั้งหมด 8 ข้อ
แก้ไขปัญหาด้านอาชญากรรม (การแฮ็ก-ฟอกเงิน)
คุณสมบัติการไม่เปิดเผยตัวตนเป็นเหมือนตัวดึงดูดเหล่าแฮ็กเกอร์ทั้งหลาย รวมไปถึงการฟอกเงิน การให้ทุนสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้าย และใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรอย่างอิหร่านที่ออกกฎหมายใหม่ให้สามารถใช้คริปโตชำระเงินนำเข้าสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
อันที่จริงกิจกรรมเหล่านี้ก็สามารถทำได้ผ่านเงินเฟียตเช่นกันนั่นหล่ะ ดังนั้นการแก้ไขปัญหานี้อาจจะยากอยู่สักหน่อย แต่ก็สามารถพิจารณาตัวเลือกอย่างเช่นการยืนยันตัวตนแบบ KYC (know-your-customer) ซึ่งมันก็จะขัดกับคุณสมบัติความเป็นส่วนตัว
ส่วนสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) รัฐบาลสามารถติดตามธุรกรรมได้ ซึ่งมันก็อาจจะลดปัญหาอาชญากรรมลงได้
มีกฎระเบียบที่ชัดเจน
ปัจจุบันกฎระเบียบด้านคริปโตมีความสุดโต่งในแต่ละประเทศ อย่างในจีนหรืออิรัก คริปโตจะถูกแบน แต่ในประเทศอย่างเอลซัลวาดอร์ มันกลายเป็นช่องทางการชำระเงินอย่างถูกกฎหมาย ดังนั้นคริปโตต้องมีกฎระเบียบควบคุมที่เหมาะสม การเทรดสิ่งที่ไม่มีกฎระเบียบควบคุมจะถือเป็นสินทรัพย์ทั่วไป ซึ่งการฉ้อโกงประเภทต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นได้มาก
กฎระเบียบเป็นสิ่งจำเป็นมากในอุตสาหกรรมคริปโต มันส่งผลต่อทั้งราคาและความเชื่อมั่น อย่างงานวิจัยจาก Ripple ที่ชี้ให้เห็นว่าสถาบันการเงินกว่า 76% มีแนวโน้มจะก้าวเข้ามาในอุตสาหกรรมคริปโตหากมีกฎระเบียบที่ครอบคลุม
คำถามสำคัญคือกฎระเบียบที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคริปโตคืออะไร? และหน่วยงานที่ดูแลจะสามารถทำให้มันเป็นประโยชน์กับทุกคนได้ในทางไหนบ้าง? นี่คือสิ่งที่เราต้องคอยติดตามกันต่อไป
ลดปริมาณการใช้พลังงาน
กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซี ตั้งแต่การสร้างจนกระทั่งการนำมาใช้ ทั้งหมดนี้ล้วนใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก เว็บไซต์การเงินของสหราชอาณาจักรอย่าง MoneySuperMarket .com รายงานว่าในหนึ่งปี Bitcoin ใช้พลังงานมากกว่าประเทศนอร์เวย์เสียอีก และยังมีรายงานว่าธุรกรรม Bitcoin หนึ่งธุรกรรมใช้พลังงาน 1,173 กิโลวัตต์-ชั่วโมง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 100 ดอลลาร์และสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มากกว่า 800 กิโลกรัม ส่วน Ethereum ใช้พลังงานน้อยกว่า แต่ก็ยังสร้าง (CO2) 62 กิโลกรัมต่อธุรกรรม
ที่เหมืองคริปโตใช้พลังงานสูงเป็นเพราะกลไกการยืนยันธุรกรรมแบบ Proof-of-Work (ซึ่ง Bitcoin จะต้องใช้ PoW ไปตลอด) แต่ทั้งนี้คริปโตโปรเจกต์ใหม่ๆ หันไปใช้กลไกการยืนยันธุรกรรมแบบ Proof-of-Stake แทน ซึ่งสามารถลดพลังงานได้ถึงหนึ่งล้านเท่า Ethereum ซึ่งเป็นคริปโตที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของวงการ ก็กำลังจะเปลี่ยนไปใช้การยืนยันธุรกรรมแบบ PoS ซึ่งเรียกการอัพเกรดนี้ว่า The Merge ที่จะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนกันยายนของปีนี้
เพิ่มความเร็วในการทำธุรกรรม
ตอนนี้ BTC สามารถยืนยันธุรกรรมได้เพียง 7 ธุรกรรมต่อวินาที ในขณะที่สถาบันการเงินดั้งเดิมอย่าง Visa สามารถรองรับการทำธุรกรรมได้ถึง 24,000 ธุรกรรมต่อวินาที หากคริปโตเคอร์เรนซีต้องการเข้ามาแทนที่ระบบของสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม ต้องพยายามที่จะเพิ่มความเร็วในการทำธุรกรรมให้มากขึ้น
แม้เราจะมีคริปโตที่สามารถทำธุรกรรมได้รวดเร็วเกือบจะเทียบเท่ากับระบบดั้งเดิม แต่โปรเจกต์คริปโตเหล่านั้นก็ยังมีความรวมศูนย์อยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งก็จะมีความเป็นส่วนตัวน้อย
หนึ่งในวิธีการเพิ่มความเร็วก็คือการเพิ่มเลเยอร์ 2 ซึ่งจะสามารถทำธุรกรรมนอกบล็อกเชนได้ เช่น BTC ที่เปิดตัว ‘lightning network’ ในปี 2018 ทำให้สามารถทำธุรกรรมนอกบล็อกเชนได้และรวดเร็วขึ้น ในขณะที่ข้อมูลก็จะถูกบันทึกลงไปในบล็อกเชนเช่นเดิม
จัดการกับความผันผวนของราคา
อย่างที่เรารู้ดี คริปโตมีราคาผันผวนมาก เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว BTC พุ่งไปถึง all time high ที่ราคา 67,566.33 ดอลลาร์ ผ่านมาไม่ถึงปี ตอนนี้ BTC ยังพยายามที่จะปีนให้เหนือเส้นราคา 20,000 ดอลลาร์อยู่เลย ส่วนคริปโตอื่นๆ ในตลาดยิ่งหนักหนา บางตัวสามารถที่จะสูญเสียมูลค่ามากกว่า 50% เพียงชั่วข้ามคืน เมื่อเทียบกับสกุลเงินเฟียตที่มีความผันผวนกลางๆ แล้วนั้น คริปโตดูจะแย่ไปเลยในแง่มุมนี้
คนส่วนหนึ่งไม่มีความเชื่อมั่นในคริปโตเพราะความผันผวนนี้เอง นักลงทุนชื่อดังอย่างจอร์จ โซรอส (George Soros) ก็มองว่า BTC ไม่ใช่สกุลเงินเพราะเรื่องความผันผวนเช่นกัน เขาให้ความเห็นว่า ‘Bitcoin ไม่ใช่สกุลเงิน เพราะสกุลเงินควรจะเป็นที่เก็บมูลค่าที่เสถียร และสกุลเงินที่ผันผวนมากกว่า 25% ในหนึ่งวัน ไม่สามารถนำมาใช้เพื่อจ่ายค่าจ้างได้ เพราะค่าจ้างอาจลดลง 25% ภายในหนึ่งวัน’
เพิ่มความปลอดภัยให้มากขึ้น
เหตุผลที่จะทำให้นักลงทุนในคริปโตสูญเสียเงินทุนมีได้หลายแบบ ทั้งจากการแฮ็กและเข้าถึงเงินทุนของตัวเองไม่ได้จากหลายสาเหตุ
หากเราทำบัตรเครดิตหายหรือมันถูกขโมย ธนาคารอาจจะยังสามารถแก้ไขปัญหาหรืออาจจะได้รับเงินประกันอยู่บ้าง แต่ถ้าเราทำ Private Key ที่เอาไว้ใช้เข้าสู่กระเป๋าคริปโตของเราหาย นั่นก็หมายถึงบอกลาเงินของเราได้เลย
บริษัท Chainalysis ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลได้ประมาณการว่ากว่า 1 ใน 5 ของ BTC ที่ถูกขุดแล้วในปัจจุบันได้สูญหายไปจากหลายสาเหตุ เช่น เก็บอยู่ในกระเป๋าคริปโตที่เจ้าของกระเป๋าลืม Private Key หรือโอนไปผิดที่อยู่ หรือทำฮาร์ดไดรฟ์หาย เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่า BTC ไม่ได้หายไปไหน มันยังมีอยู่ในโลกดิจิทัล แต่ไม่สามารถนำออกมาใช้ได้
นอกจากนี้การแฮ็กยังเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งมากในอุตสาหกรรมนี้ ด้วยเพราะมันยังใหม่ ดังนั้นจึงมีช่องโหว่มาก นับตั้งแต่ในปี 2014 ที่แพลตฟอร์มเทรดคริปโตที่ (เคย) ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Mt. Gox ถูกแฮ็ก BTC ไป 744,408 เหรียญจนต้องล้มละลาย ผ่านมา 8 ปี เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น แฮ็กเกอร์ก็พัฒนาด้วย เหตุการณ์แฮ็กก็ยังเกิดขึ้นบ่อยครั้งในอุตสาหกรรมนี้ โดยนับแค่ปีนี้ มูลค่าความเสียหายของคริปโตจากการถูกแฮ็กก็สูงถึง 1,900 ล้านดอลลาร์แล้ว
ค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม
ทุกครั้งที่มีการทำธุรกรรม จะต้องมีการเสียค่าธรรมเนียม แต่กฎระเบียบด้านค่าธรรมเนียมไม่มีมาตรฐานสักเท่าไหร่ ยิ่งผู้ใช้ต้องการทำธุรกรรมมาก มีธุรกรรมต่อคิวรอยืนยันเยอะ ค่าธรรมเนียมก็จะยิ่งสูง (มีช่วงค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 1 เซ็นต์ไปจนถึงมากกว่า 100 ดอลลาร์เลยทีเดียว) ยกตัวอย่างช่วงต้นปี 2018 ที่ราคาเหรียญตก นักลงทุนต้องการโอนเหรียญออกจากระบบจำนวนมาก ทำให้ค่าธรรมเนียมสูงตามไปด้วย
แน่นอนว่าในตอนนี้เรามีหลายโปรเจกต์ที่มีค่าธรรมเนียมที่ถูกมากๆ เกิดขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมเท่ากับเหรียญหลักๆ อย่าง Bitcoin และ Ethereum
ให้ความรู้แก่ผู้ใช้งานในวงกว้าง
อันที่จริงความรู้เรื่องคริปโตเคอร์เรนซีกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนหนุ่มสาวหรือผู้ที่มีความสนใจในด้านนี้เท่านั้น จากการศึกษาในปี 2021 พบว่า 78% ของคนในสหราชอาณาจักรเคยได้ยินเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซี แต่มีจำนวนน้อยที่รู้หลักการทำงานของมัน นอกจากนี้ประมาณ 10% ยังเข้าใจผิดว่าผู้ที่ถือคริปโตจะได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับการฝากเงินในธนาคาร นอกจากนี้ 40% ยังอาศัยข้อมูลความรู้จากโซเชียลมีเดีย ซึ่งสื่อโซเชียลเองก็อาจไม่ได้ความเป็นกลางกับวงการคริปโตสักเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่ก็เสนอเน้นไปที่การสูญหายของกระเป๋า เหตุการณ์แฮ็ก การฉ้อโกง ความผันผวน และการใช้พลังงานที่สูงมาก
แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้เรื่องคริปโตกำลังถูกกระตุ้นให้ได้รับการเรียนรู้ สถาบันการศึกษาหลายแห่งเริ่มนำคริปโตและบล็อกเชนเข้าไปในหลักสูตรการศึกษาบ้างแล้ว เช่น สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology : MIT) และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ส่วนเมื่อเมื่อต้นปีนี้มหาวิทยาลัย Cincinnati ก็เพิ่งได้เพิ่มการสอน BTC และคริปโตเข้าไปในหลักสูตร
ทั้งนี้อย่างที่ได้กล่าวไปหลายครั้งหลายหนแล้วว่าคริปโตคือนวัตกรรมและอุตสาหกรรมใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้เพียงไม่นาน ช่องโหว่และปัญหายังคงมีอยู่มาก แต่วงการคริปโตก็ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สิ่งเดียวที่คริปโตต้องการก็เป็นสิ่งเดียวกับที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ผ่านกันมาแล้ว นั่นคือ “เวลาแห่งการพัฒนา” และ “การพิสูจน์” นั่นเอง
References : Nature, Cryptopotato, Finbold, Fool, Wikipedia, Cnbc, Moneysupermarket