KEY TAKEAWAYS
- การตัดสินใจลงทุนในช่วงตลาดขาลงเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้ของราคาถูก เมื่อตลาดดีดตัวกลับมาดีขึ้น (ถ้ามันกลับมา) ก็จะได้กำไรเยอะ แต่ทั้งนี้ไม่ใช่เหรียญทุกตัวที่จะกลับมาได้ ดังนั้นจึงต้องมีการพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน
- สิ่งที่ต้องพิจารณา เช่น โปรเจกต์ยังมีการพัฒนาต่อไหม, ความสามารถของโปรเจกต์สามารถแข่งขันกับโปรเจกต์คล้ายๆ กันในตลาดได้หรือเปล่า, Market Cap / FDV คุ้มความเสี่ยงหรือไม่ เป็นต้น
ในช่วงที่เป็นวิกฤตหรือตลาดหมีเป็นช่วงที่น่าลงทุน เพราะถ้าเราอยู่ในสภาวะปกติในจังหวะที่ทุกอย่างดีนั้น Mr. Market มักจะมีแนวโน้มที่จะขายแต่ของแพงๆ ให้กับเราโดยที่ไม่อิงมูลค่า กลับกันในช่วงที่ตลาดแย่เขาก็มักจะขายแต่ของราคาถูก
ฉะนั้นในทุกครั้งที่เจอ “วิกฤต” อยากให้พยายามตั้งสติและมองหาให้เจอว่าเราสามารถคว้า “โอกาส” ที่นานๆ จะมีมาครั้งแบบนี้ได้อย่างไรบ้าง
เพราะในช่วงวิกฤตเป็นโอกาสในการทำกำไรครั้งสำคัญเมื่อตลาดกลับมา (สมมุติว่าเราตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าตลาดคริปโตจะกลับมา โดยส่วนตัวมองว่าสินทรัพย์ดิจิทัลโดยเฉพาะคริปโตนั้นจะกลับมาแน่นอน และมันจะไม่หายไปไหน แต่ต้องย้ำว่าไม่ใช่ทุกเหรียญที่จะกลับมา และเหรียญส่วนใหญ่นั้นมักจะล้มหายตายจากไป ฉะนั้นต้องเลือกให้ดี)
อย่าลืมว่าไม่มีใครรู้จุดต่ำสุดที่แน่นอน ฉะนั้นบริหารความเสี่ยงให้ดี โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมากๆ อย่างคริปโต ที่เรามีโอกาสที่จะขาดทุนแบบ 90%
ส่วนเรื่องจุดต่ำสุดนั้น… ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครรู้จุดต่ำสุดที่แน่นอน แต่เราสามารถที่จะคาดการณ์ได้ผ่านปัจจัยต่างๆ (อ่านปัจจัยเพื่อพิจารณาจุดต่ำสุดได้ที่ 5 ปัจจัยใช้ดูว่าตลาดคริปโตใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง)
ส่วนในบทความนี้เราจะมา Checklist 7 ข้อก่อนซื้อเหรียญ Altcoin ในช่วงตลาดแตก
โปรเจกต์ยังคงมีการพัฒนาที่สำคัญอยู่ไหม
อย่างแรกคือทีมยังคงทำงานและ Deliver สิ่งที่สำคัญอยู่ไหม อาจจะค่อนข้างเป็นนามธรรม แต่ถ้าเราสามารถเข้าใจว่าอะไรคืองานที่สำคัญของแต่ละโปรเจกต์ เราก็จะพอแยกออกว่าสิ่งที่โปรเจกต์กำลังทำ ส่งมอบ หรือพัฒนานั้นส่งผลต่อโปรเจกต์จริงๆ หรือไม่หรือเขาแค่ทำไปเพื่อให้ดูว่ามีการเคลื่อนไหวเฉยๆ
สิ่งที่สำคัญที่ควรส่งมอบก็คือเช่น ตัวเลขผู้ใช้, ตัวเลขนักพัฒนา, ฟังก์ชั่นสำคัญที่ทำให้สามารถใช้งานได้ดีขึ้นหรือง่ายขึ้น, UX/UI, การหาพาร์ทเนอร์
ความสามารถในการแข่งขันได้ของโปรเจกต์
การแข่งขันในโลกของธุรกิจถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ธุรกิจที่แพ้คือธุรกิจที่ไม่ได้ไปต่อ ยิ่งในโลกของคริปโตด้วยแล้วถ้าเราย้อนไปกลับไปดู Top 100 เหรียญใน Coinmaketcap ในช่วงปี 2018 กับ ณ ตอนนี้ เราจะเห็นได้ชัดเลยว่าเหรียญส่วนใหญ่ได้หลุดหาย ตายจากไป และไม่กลับมาอีก ดังนั้นการซื้อถือ และรอก็อาจจะใช้ไม่ได้กับทุกเหรียญ ดังนั้น ต้องมองหาให้ได้ว่า โปรเจกต์เขามีความสามารถในการแข่งขันหรือไม่
มีประโยคหนึ่งในแวดวง StartUp คือ Unfair Advantage หรือข้อได้เปรียบทางการแข่งขันที่คู่แข่งไม่สามารถทำได้ หรือทำได้ยากมาก
เช่น มี CEO/Co-Founder/Team ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากๆ จนยากที่จะหาตัวเทียบเคียง, ได้ดีลสำคัญ, ความสามารถกันคู่แข่งออกไปได้, ความสามารถในการกันผู้เล่นหน้าใหม่ที่จะเข้ามา, ได้พาร์ทเนอร์/นักลงทุน ที่ส่งผลต่อการแข่งขัน, มีคนเชียร์ที่มีอิทธิพลมากๆ เช่น Dogecoin มี Elon musk
Tokenomics และ Utility เป็นอย่างไร
Tokenomics หรือแปลตรงตัวในภาษาไทยว่าเศรษฐศาสตร์โทเค็น มีสิ่งหลักๆ ที่ควรดู เช่น Utility Token (รูปแบบการใช้งานของโทเค็น), การกระจายโทเค็นเป็นอย่างไร โทเค็นกระจุกตัวมากเกินไปหรือเปล่า การปลดโทเค็นเป็นอย่างไร โทเค็นที่ปลดในช่วงแรกมีกี่ % และจะปลดในสัดส่วนที่เยอะมากขึ้นในช่วงไหน เพื่อให้เราสามารถคาดการณ์ การเทขายของเหรียญได้ และบริหารความเสี่ยงได้
Market Cap / FDV เป็นอย่างไร คุ้มความเสี่ยงหรือไม่
ถ้าเรากำลังหาเหรียญ Altcoin และไปเจอ 2 ตัวที่ชอบเท่าๆ กัน แต่ไม่มั่นใจว่าเราจะให้น้ำหนักกับอันไหน อยากให้ลองดูที่ Market Cap หรือมูลค่าตลาดรวม ถ้าทุกอย่างเหมือนกันหมดหรือใกล้เคียงกันมากในกรณีของการเลือก Altcoin ควรจะให้สัดส่วนหรือน้ำหนักกับตัวที่มี Market Cap ต่ำกว่า เพราะนั่นหมายถึง Upside ที่มากกว่า (มีโอกาสโตสูงกว่า) คือไหนๆ ถ้าเราต้องเสี่ยงแล้ว ก็อาจจะต้องหาตัวที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าหน่อย
แต่อีกเรื่องที่ไม่ดูไม่ได้เลยก็คือ FDV หรือ Fully diluted market cap คือ มูลค่าตลาดทั้งหมดเมื่อเหรียญปลดครบแล้ว เพราะในหลายครั้งเราอาจจะเห็นว่า Market Cap อาจจะต่ำดูแล้วน่าจะมี Upside ให้โต แต่ถ้าเราไปดู FDV จริงๆ กลับพบว่า เมื่อปลดเหรียญครบแล้ว Market Cap หรือมูลค่าตลาดนั้นสูงมากๆ บางครั้งสูงแบบติด Top 10 เลยก็มี คำถาม คือ คนที่เขาได้รับเหรียญที่ปลดมาในตอนนั้น ในช่วงราคาที่ Top 10 มีโอกาสมากแค่ไหนที่เขาจะถือต่อ หรือเขาน่าจะเท
มี Backer ที่น่าสนใจหรือไม่
Backer นับเป็นส่วนสำคัญในโลกธุรกิจเสมอโดยเฉพาะกับโปรเจกต์เกิดใหม่ เพราะ Backer ที่ดีก็จะนำไปสู่ Connection ในด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับโปรเจกต์ การหาดีลที่ได้จากธุรกิจในเครือที่ Backer คนนั้นๆ มี ส่วนใหญ่เรื่องของ Backer ก็จะเป็น กองทุน ที่ปรึกษา คนที่สนับสนุน หรือ ช่วยผลักดันโปรเจกต์นั่นเอง
Community แข็งแกร่งแค่ไหน
โปรดักซ์ต่อให้ดีขนาดไหนแต่ถ้าไม่มีคนใช้ก็ไม่ใช่โปรดักซ์ที่ดี และในโลกของคริปโตฯ ผู้ใช้ส่วนมากที่ตามมาใน Ecosystem ของโปรเจกต์ก็คือชาวคอมมูนิตี้เนี่ยล่ะ
Technology เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ขายฝันเกินไปหรือเปล่า ใช่เทรนด์ของอนาคตหรือเปล่า
ถ้าใครที่ทันช่วงปี 2018 ช่วงนั้นเป็นยุคทองของ ICO เราจะเห็นได้ว่ามีโปรเจกต์เยอะมากที่มีแนวคิดที่ดี แต่ไม่สามารถสร้างโปรดักซ์ออกมาได้จริง ในที่สุดก็ล้มหายตายจากไป หรือบางอันมาก่อนเวลา คือ มาในช่วงที่ user ยังแทบจะโอนธุรกรรมกันไม่ค่อยเป็น แต่ก็มีโปรเจกต์ที่ทำ Platform เหมือน Airbnb Platform ที่ให้เจ้าของบ้านเอาบ้านตัวเองมาปล่อยเช่าให้กับผู้อื่นได้ โดยให้ผู้ใช้ จ่ายด้วย Token ของ Platform อย่างสิ่งนี้ แม้ว่าจะเป็นเทรนด์แต่อาจจะมาเร็วไป ถ้าโปรเจกต์มีสายป่านที่ยาวพอที่จะอยู่จนเกิด Mass Adoption หรือมีผู้ใช้จำนวนมากก็อาจจะไปรอด แต่ถ้าสายป่านไม่ถึงหรือหาทุนไม่ได้ก็ต้องพับเก็บกันไป
เพราะผู้ใช้ ใช้แบบปกติได้ง่ายกว่า คือ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเอาเงินสดไปแปลงเป็นคริปโต เพื่อเอาไปใช้จ่ายอีกที แถมยังเสียค่าธรรมเนียมสองทอดอีกด้วย
ส่วนในเรื่องของเทรนด์ เคยมีนักลงทุนคริปโตคนหนึ่งเคยบอกไว้ว่า เมื่อเทรนมาเราจะรู้ เพราะข้อมูลทุกอย่างจะชี้ไปในทางนั้น เราอาจจะรู้ช้ากว่าคนอื่น แต่เราจะรู้แน่ๆ ว่าสิ่งนั้นเป็นเทรน และเมื่อเราเกาะเทรนนั้นได้เราก็ทำกำไรได้ แต่ต้องดูจังหวะให้เหมาะ ไม่ใช่เข้าช่วงใกล้สิ้นสุดเทรนด์
และทั้งหมดนี้คือ 7 ข้อที่เราควรดูก่อนที่จะซื้อ Altcoin ในช่วงตลาดแตก