KEY TAKEAWAYS
- ปัจจุบันมีหลายคนที่ใช้ ChatGPT ในการเขียนนิยายหรือช่วยเขียน และสามารถวางขายใน Amazon ได้ มันได้ส่งผลอีกมาก เช่น นิตยสารชื่อดังของสหรัฐฯ ปิดรับต้นฉบับเพราะมีต้นฉบับที่ใช้ AI เขียนส่งมามากเกินไป
- ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อวงการอย่างมาก เช่น นักเขียนใหม่อาจมีโอกาสให้เติบโตได้น้อยลง รวมถึงเปลี่ยนวัฒนธรรมของ Ghostwriting จาก “งานฝีมือ” ไปเป็น “สินค้า”
หลังจากโลกได้รู้จัก ChatGPT ก็มีข่าวว่ามันจะเข้ามา Disrupt อาชีพต่างๆ มากมาย แม้กระทั่งอาชีพฝั่งศิลปะที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่ง AI ไม่มี แต่รู้หรือไม่ว่าตอนนี้ ChatGPT สามารถเขียนนิยายเพื่อลงขายเป็น E-books บน Amazon ได้แล้ว มันเป็นไปได้จริงหรือ? AI สามารถเขียนนิยายได้มีคุณภาพมากแค่ไหน แล้วมันจะส่งผลต่อบรรดา ‘นักเขียน’ อย่างไร นี่ใช่อนาคตที่เราวาดฝันกันไว้หรือไม่นะ?
อันที่จริงมนุษย์เรามักจะคาดการณ์อนาคตที่ AI เข้ามามีบทบาทในสังคมกันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะในหนังหรือหนังสือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถเติบแต่งจินตนาการได้เต็มที่ อย่างเมื่อไม่กี่ปีที่แล้วมีไลท์โนเวลชื่อ ‘วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ’ เขียนโดย ‘จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท’ ได้เล่าถึงโลกในอนาคตที่ AI เข้ามาทำงานแทนมนุษย์แล้วทุกสาขาอาชีพ ในเรื่องนี้โฟกัสไปที่อาชีพนักเขียน AI รับหน้าที่มาสร้างสรรค์งานเขียนเพื่อสร้างความบันเทิงให้มนุษย์อ่าน หนังสือเล่มนี้สามารถเข้าไปถึงรอบสุดท้ายของการประกวดรางวัลซีไรต์ ปี 2564 ได้
แต่คำถามที่หลายคนตั้งคำถาม (รวมถึงผู้เขียนบทความ) ก็คืออนาคตจะเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่นะ นวนิยาย วรรณกรรม ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์ และมีรายละเอียดซับซ้อน AI สามารถสร้างมันขึ้นมาได้จริงหรือไม่ ตอนตั้งคำถามก็ยังไม่ได้คิดหาคำตอบเป็นจริงเป็นจัง แต่ดูเหมือนว่าคำตอบนั้นจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเร็วกว่าที่คิดหลังจากโลกได้รู้จัก ChatGPT
เรามาดูตัวอย่างแรกกันกับ Brett Schickler เขาเป็นพนักงานขายในนิวยอร์ก และไม่เคยคิดมาก่อนว่าตัวเขาเองจะสามารถเขียนหนังสือเพื่อตีพิมพ์ได้ แต่ตอนนี้เขามีอีบุ๊คเป็นนิทานสำหรับเด็กเรื่อง ‘กระรอกน้อยเจ้าปัญญา: นิทานเกี่ยวกับการอดออมและการลงทุน (The Wise Little Squirrel: A Tale of Saving and Investing)’ วางขายในเว็บไซต์ Amazon ราคา 2.99 ดอลลาร์ นิทานสำหรับเด็กเรื่องนี้มีความยาวประมาณ 30 หน้า ใช้เวลาสร้างไม่กี่ชั่วโมง และมันถูกเขียนขึ้นมาด้วย ChatGPT
อีบุ๊คเรื่องนี้ทำเงินให้ Schickler เพียง 100 ดอลลาร์ มันฟังดูไม่มากนัก แต่มันสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ Schickler สร้างอีบุ๊คเล่มใหม่ๆ ขึ้นมาได้ รวมถึงเปิดมุมมองว่ามนุษย์เราสามารถใช้เครื่องมือ AI เพื่ออะไรได้บ้าง
ไม่เพียงเรื่องกระรอกน้อยเจ้าปัญญาของ Schickler เท่านั้น ตอนนี้มีอีบุ๊คที่เขียนโดย ChatGPT (ทั้งเขียนทั้งเรื่อง และร่วมเขียนกับมนุษย์) มากกว่า 200 เรื่องเลยทีเดียว
อีกมุมมองคือนักเขียนที่ชื่อ Frank White เขาได้ทำวิดีโอสอนสร้างนิยายความยาว 119 หน้าลงยูทูป “Galactic Pimp: Vol. 1” ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดในกาแล็กซี่อันไกลโพ้น และสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงนั้นที่ต่อสู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของซ่องโสเภณีบนดาวดวงนั้น อีบุ๊คเรื่องนี้วางขายบน Amazon ด้วยราคาเพียง 1 ดอลลาร์ White บอกว่าใครก็ตามที่มีเวลาก็สามารถสร้างนิยายลักษณะนี้ได้ราวๆ 300 เล่มต่อปี (ก็ใช้เวลาสร้างเรื่องละไม่ถึงวันนี่นา)
นอกจากนี้มันยังส่งผลกระทบต่อไปอีกด้วย มีรายงานว่านิตยสาร Clarkesworld ซึ่งเป็นนิตยสารชื่อดังของสหรัฐฯ ที่ตีพิมพ์นวนิยายวิทยาศาสตร์ นิตยสารนี้ดำเนินการมาแล้ว 17 ปีและสร้างผลงานชื่อดังจำนวนมาก แต่ตอนนี้ถึงกับต้องหยุดรับผลงาน เพราะมีนักเขียนใช้ ChatGPT และ AI ตัวอื่นๆ เขียนนิยายแล้วส่งมาให้พิจารณาเยอะมาก ปกติแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2019 ต้นฉบับที่ส่งเข้ามาไม่เคยเกิน 25 เรื่องต่อเดือน บางเดือนไม่มีส่งมาด้วยซ้ำ แต่หลังจากที่ ChatGPT เผยแพร่สู่โลกก็มีผลงานพุ่งขึ้นเยอะมาก โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ นับแค่ถึงกลางเดือนก็เป็นจำนวนกว่า 500 เรื่องแล้ว นีล คลาร์ก (Neil Clarke) ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการของนิตยสารไม่ได้บอกว่าตรวจสอบได้อย่างไรว่าใช้ AI เขียน แต่เขาบอกว่า “มันไม่มีเอกลักษณ์ มันมีแพทเทิร์นที่ชัดเจนมาก”
ทั้งนี้หากใครจะแย้งว่า OpenAI ก็ออกเครื่องมือเพื่อเอามาตรวจจับเนื้อหาที่ AI เขียนแล้วนี่นา แต่ทั้งนี้ก็ต้องบอกว่านักวิจัยบอกว่าเครื่องมือนี้สามารถตรวจจับเนื้อหาที่สร้างโดย AI ได้เพียง 26% เท่านั้นเอง
แล้วอย่างนี้มันจะส่งผลกระทบอย่างไรต่ออาชีพนักเขียนได้บ้าง
ในกรณีที่ค่าตอบแทนน่าดึงดูดใจ และมีการจำกัดจำนวนเรื่องที่นักเขียนสามารถส่งได้ ดังนั้นบางคนอาจจะปลอมตัวตนเพื่อทำให้ส่งผลงานได้เยอะขึ้น เพื่อหวังค่าตอบแทนที่เยอะขึ้น
อีกอย่างคือมันจะปิดกั้นโอกาสของนักเขียนใหม่ที่จะได้ตีพิมพ์ในสื่อที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นใบเบิกทางไปยังอนาคต ยกตัวอย่างเช่นนิตยสาร Clarkesworld ที่ตอนนี้ปิดรับต้นฉบับไปแล้ว นักเขียนก็หมดอีกหนึ่งโอกาสที่จะได้แสดงผลงาน
มันยังเป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย เหตุการณ์เช่นนี้อาจจะส่งผลให้ผู้จัดพิมพ์ต่างๆ มีข้อจำกัดในการรับผลงานเยอะขึ้น ความยากในการพิจารณาต้นฉบับเพิ่มขึ้น ในขณะที่อาจปล่อยให้มีผลงานผ่านการพิจารณาน้อยลง รวมถึงอาจส่งผลต่ออัตราค่าตอบแทนที่น้อยลงด้วย
นักเขียนชื่อ ชีฟ แรมดาส (Shiv Ramdas) แสดงความคิดเห็นว่าการมาถึงของ AI “อาจไม่ส่งผลต่อนักเขียนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วมากนัก แต่สำหรับนักเขียนใหม่ นี่คือวิกฤต” เพราะจะทั้งอัตราการแข่งขันที่สูงขึ้น (แข่งกับทั้งมนุษย์ด้วยกันและ AI ด้วย ผลงานก็เยอะขึ้น) และข้อจำกัดที่เข้มงวดมากขึ้น
แมรี่ ราเซนเบอร์เจอร์ (Mary Rasenberger) ผู้อำนวยการบริหารของกลุ่มนักเขียนใน Authors Guild บอกว่า “นี่คือสิ่งที่เราต้องกังวลจริงๆ หนังสือเหล่านี้จะล้นตลาด และนักเขียนจำนวนมากกำลังตกงาน” ทั้งนี้เธอชี้ให้เห็นด้วยว่าในวงการนี้มีสิ่งที่เรียกว่า ‘Ghostwriting’ มานานแล้ว มันกลายเป็นเรื่องปกติในอุตสาหกรรม แต่นั่นมันเขียนด้วยมนุษย์ แต่การที่จะใช้ AI เป็นผู้ช่วยเขียนนี้จะเปลี่ยนงานเขียนจาก “งานฝีมือ” ไปเป็น “สินค้า” แทน
นี่ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่เหล่า AI รุกคืบเข้ามาในสาขาอาชีพของมนุษย์เท่านั้น ดังนั้นตอนนี้มันจึงอาจจะยังให้ภาพที่ชัดเจนจนสามารถชี้ชัดได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อ AI ค่อยๆ พัฒนาขึ้น มุมมองต่างๆ ก็คงชัดเจนมากกว่านี้
แต่ทั้งนี้สำหรับมนุษย์ สิ่งสำคัญคือต้องปรับตัว การรับเอาเทคโนโลยีมาใช้โดยไม่มีการประยุกต์หรือการปฏิเสธอย่างเด็ดขาดทางใดทางหนึ่งอาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมนัก การหามุมมองที่ดีและนำมาปรับร่วมกับจุดเด่นของตัวเอง นั่นอาจจะทำให้ก้าวเดินในเส้นทางที่ตัวเองเลือกได้อย่างมั่นคงขึ้นก็เป็นได้
References: Financial Times, Fortune, Reuters, Techcrunch