KEY TAKEAWAYS
- ฌอน เฉิน (Sean Chen) นักวาดการ์ตูนที่เคยวาด Iron Man, Avenger ลาออกเพื่อมาทำผลงานขายบน Web3 เนื่องจาก Marvel ให้ค่าตอบแทนน้อยเกินไป
- นักวาดการ์ตูนมีประเด็นเรื่องค่าตอบแทนน้อยหลายครั้ง เช่น จิม สตาร์ลินผู้วาดการ์ตูนทานอส เอ็ด บรูเบเกอร์ และ สตีฟ เอ็ปติ้ง ผู้วาด Captain America: The Winter Soldier
- เฉินมองว่า Web3 เป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้านการ์ตูนอย่างแท้จริง และถือเป็นช่องทางที่ทำให้ศิลปินและแฟนคลับเชื่อมโยงถึงกันได้โดยตรง
- อุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ก้าวเข้าสู่ Web3 มากขึ้นเช่นกัน เช่น ช่างภาพ วงการดนตรี ฯลฯ เพราะศิลปินได้รับค่าตอบแทนมากกว่าจากแพลตฟอร์มเดิมหลายเท่า
ทางเลือกของศิลปินสมัยก่อน หากไม่สร้างสรรค์ผลงานออกขายเอง ก็อาจทำงานเป็นนักสร้างสรรค์ในบริษัทและรับค่าตอบแทนตามกำหนด แต่เมื่อ Web3 (เว็บไซต์ที่สร้างบนบล็อกเชน มีจุดเด่นเรื่อง decentralized) ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น มันก็เพิ่มทางเลือกสร้างรายได้แก่ศิลปิน อย่างเช่นเมื่อไม่นานมานี้นักวาดการ์ตูนของ Marvel ที่วาด Iron Man ก็ลาออกมาแล้วสร้างผลงานวางขายเองบน Web3
คำถามที่น่าจับตามองก็คือผลตอบแทนมันแตกต่างกันแค่ไหน และเขามองเห็นโอกาสอย่างไร ทำไมจึงลาออกจากสตูดิโอใหญ่อย่าง Marvel เพื่อมองหาหนทางใหม่ใน Web3
กรณีนี้เราพาไปดูการตัดสินใจของฌอน เฉิน (Sean Chen) นักวาดการ์ตูนที่เคยวาดให้กับสตูดิโอใหญ่ๆ มาแล้วทั้ง Marvel, DC Comics, รวมถึง Valiant ผลงานดังๆ ที่เขาเคยมีส่วนร่วมเช่น Iron Man, Avengers และ Spider-Man
มองดูมันเป็นหน้าที่การงานที่หลายๆ คนใฝ่ฝัน แต่เฉินได้ทิ้งอุตสาหกรรมนั้นไว้ด้านหลัง และมุ่งหน้านำความสามารถของตัวเองไปสร้างสรรค์ผลงานเผยแพร่บน Web3 เหตุผลก็เพราะค่าตอบแทนจากสตูดิโอใหญ่ไม่ได้มากมายอย่างที่หลายคนคิด
ในขณะที่สำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนได้กำไรมากมายจากการขายหนังสือ ซึ่งก็เป็นผลมาจากการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ รวมถึงยังได้รับค่าลิขสิทธิ์จากการแปลงไปเป็นสื่อต่างๆ แต่มีรายได้เพียงน้อยนิดที่ตกมาถึงนักวาด
อันที่จริงนักวาดการ์ตูนก็เป็นการทำงานเพื่อรับค่าจ้างนั่นแหล่ะ แต่ Marvel และ DC ก็มีนโยบายเพื่อจูงใจให้นักวาดเก่งๆ มาทำงานให้ คือจะมีการแบ่งรายได้เพิ่มเติมจากเงินเดือนหากการ์ตูนที่พวกเขาวาดถูกนำไปสร้างเป็นสื่ออื่นๆ สื่อ Guardian รายงานว่า DC มีสัญญาเรื่องนี้ชัดเจน แต่ Marvel หาได้น้อยมาก นักวาดบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีข้อตกลงแบบนี้อยู่
นักวาดการ์ตูนต่อสู้กับปัญหาเรื่องค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรมนี้มาอย่างยาวนาน จิม สตาร์ลิน (Jim Starlin) ผู้วาดการ์ตูนทานอสก็เคยมีประเด็นกับ Marvel หลังจากที่ตัวละครถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์จนประสบความสำเร็จ แต่ให้ค่าตอบแทนสตาร์ลินน้อยเกินไป
เอ็ด บรูเบเกอร์ (Ed Brubaker) และ สตีฟ เอ็ปติ้ง (Steve Epting) ผู้วาด Captain America: The Winter Soldier ก็เคยออกมาบอกว่าหลังหนังเข้าฉาย สิ่งที่เขาได้รับตอบแทนมีเพียงคำว่า “ขอบคุณนะ” จาก Marvel
แหล่งข่าวหลายแหล่งบอกว่าเมื่อตัวละครถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ Marvel จะส่งโน๊ตขอบคุณไปให้นักวาด พร้อมกับคำเชิญให้ไปงานเปิดตัวหนังรอบปฐมทัศน์ และให้เงินตอบแทนจำนวน 5,000 ดอลลาร์ เป็นอันรู้กันว่าได้ให้เงินค่าตอบแทนส่วนนี้แล้ว ซึ่งก็ต้องทำความเข้าใจอีกเล็กน้อยว่าหนัง Marvel ทำงานได้หลายร้อยล้านดอลลาร์ และบางเรื่องสูงถึงพันล้านดอลลาร์
การ์ตูนเหล่านี้สร้างเงินให้ Marvel และ Disney เยอะมาก ซึ่งมันเกิดจากไอเดียของนักวาดที่ทุ่มเทเวลาและความสามารถให้งาน แต่เฉินบอกว่ามีนักวาดหลายคนแก่ตัวไปและแทบไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพราะค่าตอบน้อยเกินไป นอกจากนี้มันยังเป็นหน้าที่ที่ถูกมองข้ามได้โดยง่าย
ในภาพยนตร์ พอหนังจบ End Credit ขึ้น เราจะเห็นว่าหนังให้เครดิตศิลปินผู้ที่ให้กำเนิดตัวละคร สำหรับนักวาดจะไปเป็นส่วนเล็กๆ ซ่อนอยู่ในเครดิตมากมายมหาศาลจนแทบไม่มีใครเห็น พร้อมกับข้อความว่า ‘ขอบคุณเป็นพิเศษ (Special Thanks)’ ซึ่งนักวาดเหล่านี้เปรียบเสมือนผู้สร้างกระดูกและเนื้อหนังให้กับตัวละครที่เราเพิ่งดูไป แต่แทบไม่มีใครรู้จักและให้ความสำคัญ
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากนักวาดบางส่วนจะมองหาหนทางเติบโตทางอื่น
เฉินได้ร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัพบน Web3 ชื่อ 247 Comics เพื่อเผยแพร่งานที่เขาวาดและเขียนเองชื่อ Genesis มันขับเคลื่อนด้วย NFT ซึ่งเฉินและทีมของเขาสร้างตัวละคร NFT ขึ้นมาประมาณ 10,000 ชิ้น (เป็น fractionalized NFT) ซึ่งคนที่เป็นเจ้าของ NFT ก็สามารถเข้าอ่านการ์ตูนได้ล่วงหน้า ความสำเร็จ การได้ไปต่อหรือพอแค่นี้ของซีรีย์ก็จะขึ้นอยู่กับการขาย NFT เหล่านี้ให้นักสะสม
NFT ที่ชื่อ Biplane Bobo ซึ่งสร้างจากตัวละครลิงยักษ์ในการ์ตูนเรื่อง Genesis ขายไปได้มากกว่า 553 ETH (ประมาณ 9 แสนดอลลาร์) ทั้งนี้เฉินบอกว่าเขายังคงห่างไกลจากคำว่าประสบความสำเร็จ เขารู้ดีว่านี่เป็นก้าวที่เสี่ยงมาก แต่ก็มีความสำคัญเช่นกัน เขามองเช่นเดียวกับศิลปิน ผู้สร้างหนัง นักดนตรี ฯลฯ จำนวนหนึ่งที่มองว่า NFT และโทเค็นเป็นสิ่งที่ทำให้แฟนคลับและศิลปินเข้าถึงกันได้โดยตรง แม้ว่าคนส่วนหนึ่งจะรู้จัก NFT จากการเป็นรูปโปรไฟล์ที่ราคาสูงมากและมีประโยชน์น้อย แต่เฉินก็มองว่ามันยังมีเทคโนโลยีเบื้องหลังที่น่าสนใจ ผู้คนไม่ควรมองข้าม และเขายังมอง Web3 ในแง่ดีอยู่
สำหรับเฉินแล้วนี่ถือเป็น “สิ่งที่เปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการ์ตูนอย่างแท้จริง”
มองไปด้านอื่นบ้าง อุตสาหกรรมอื่นก็ทยอยก้าวเข้าสู่ Web3 อย่างต่อเนื่อง ประเด็นหลักคือค่าตอบแทนที่ศิลปินได้รับอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
อย่างวงการช่างภาพ หากช่างภาพฝากรูปขายกับเว็บไซต์ตัวกลางที่เรารู้จักในปัจจุบันอย่าง Getty, Alamy, และ Shutterstock ค่าลิขสิทธิ์ส่วนใหญ่จะตกเป็นของแพลตฟอร์ม (Shutterstock แบ่งค่าลิขสิทธิ์ไป 60-85%, Getty แบ่งไป 60-85% และ Alamy แบ่งไป 50-80%) ส่วนในแพลตฟอร์มขาย NFT อย่าง Opensea เก็บค่าธรรมเนียมเพียง 2.5% เท่านั้น
ส่วนในวงการดนตรีเอง ศิลปินก็ไม่ได้รับส่วนแบ่งจากแพลตฟอร์มตัวกลางเยอะสักเท่าไหร่ อย่าง Apple Music จ่ายเงินให้ศิลปิน 0.01 ดอลลาร์ต่อหนึ่งสตรีม ส่วน Spotify จ่ายให้ศิลปิน 0.003 ดอลลาร์ต่อหนึ่งสตรีม แต่แพลตฟอร์มสตรีมมิงบน Web3 อย่างเช่น Audius จ่ายโทเค็น (สกุล AUDIO) ให้ศิลปินซึ่งแปลงเป็นเงินแล้วมีมูลค่าประมาณ 0.35 ดอลลาร์ต่อสตรีม (มูลค่าอาจเพิ่มขึ้นหรือน้อยลงตามราคาตลาด) จะเห็นได้ว่าศิลปินได้รับค่าตอบแทนจากการสตรีมบนแพลตฟอร์ม Web3 มากกว่าที่ได้รับจากแพลตฟอร์มปกติหลายเท่าทีเดียว
แต่ทั้งนี้ สิ่งที่เราเห็นคือศักยภาพที่กำลังก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง มันอาจจะเพิ่งก่อร่างสร้างมาไม่กี่สิบปี แต่มันก็ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่แน่หรอกว่าในอนาคตอันใกล้ สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นตัวเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอีกหลายอาชีพทีเดียว
References: Theguardian, Decrypt, Hypemoon, Entertostart, Messari