KEY TAKEAWAYS
- Bank Run คือเหตุการณ์ลูกค้าแห่มาถอนเงินจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น แต่ธนาคารไม่มีเงินสดจำนวนมากพอที่จะให้ถอน จนธนาคารเจ๊ง
- ปกติแล้วธนาคารจะใช้ระบบที่เรียกว่า fractional reserve banking คือหลังจากที่เราฝากเงินไว้กับธนาคารแล้ว ธนาคารจะเก็บเงินสดไว้เพียงเล็กน้อย ที่เหลือธนาคารจะเอาไปลงทุน
- เมื่อลูกค้าแห่กันมาถอนเงินจำนวนมากในคราวเดียว ธนาคารก็จะไม่สามารถหาเงินมาให้ลูกค้าถอนได้ในทันที เนื่องธนาคารมีเงินสดหรือสภาพคล่องไม่เพียงพอ
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อีกฟากหนึ่งของโลกที่สหรัฐฯ ได้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ธนาคารหลายแห่งต้องล่มสลายและประกาศยุติกิจการหรือล้มละลาย หนึ่งในนั้นคือ Silicon Valley Bank ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 16 ของสหรัฐอเมริกา
Silicon Valley Bank ได้ออกมาประกาศว่าขาดทุนจากการขายพันธบัตรไป 1,800 ล้านดอลลาร์ และต้องทำการขายหุ้นเพื่อเพิ่มทุน ทำให้นักลงทุนตกใจ เทขายหุ้นจนราคาล่วงกว่า 60% บรรดาลูกค้ามาเห็นก็เกิด Panic เลยแห่กันถอนเงินออก ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า Bank Run
แล้ว Bank Run คืออะไร?
Bank Run คือเหตุการณ์ลูกค้าแห่มาถอนเงินจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น แต่ธนาคารไม่มีเงินสดจำนวนมากพอที่จะให้ถอน จนธนาคารเจ๊ง
ทีนี้ก็เกิดคำถามต่อว่า ทำไมลูกค้าเอาเงินมาฝาก แต่เวลาจะถอน กลับไม่มีให้ถอน ?
โดยปกติแล้วธนาคารจะใช้ระบบที่เรียกว่า fractional reserve banking คือหลังจากที่เราฝากเงินไว้กับธนาคารแล้ว ธนาคารจะเก็บเงินสดไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่เหลือธนาคารจะเอาไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือการปล่อยสินเชื่อ เพื่อสร้างรายได้
ทีนี้เมื่อลูกค้าแห่กันมาถอนเงินจำนวนมากในคราวเดียว ธนาคารก็จะไม่สามารถหาเงินมาให้ลูกค้าถอนได้ในทันที เนื่องธนาคารมีเงินสดหรือสภาพคล่องไม่เพียงพอ
เช่น ลูกค้า 10 คน ฝากเงินไว้คนละ 100 บาท เป็นเงิน 1000 บาท ธนาคารก็เก็บเป็นเงินสดไว้ 100 บาท และอีก 900 บาทก็เอาไปลงทุน
ทีนี้พอลูกค้ามาถอนเงินคนละ 50 บาท รวมยอด 500 บาท ธนาคารก็ทำการถอนให้ไม่ได้เพราะมีเงินสดให้ถอนแค่ 100 เดียว
สาเหตุที่ทำให้เกิด Bank Run เป็นไปได้หลายอย่าง เช่น ข่าวลือที่ไม่ดีเกี่ยวกับธนาคาร หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย จนทำให้ผู้คนเกิดความไม่มั่นใจ กลัวว่าธนาคารจะล้มละลายแล้วไม่มีเงินให้ถอน เลยไปถอนเงินออกมาไว้ก่อนดีกว่า
วิธีแก้ไขโดยทั่วไปของธนาคารคือ ทำการเพิ่มสภาพคล่องของตัวเอง เช่น ด้วยการขายพันธบัตรรัฐบาล แต่การทำเช่นนี้อาจทำให้ธนาคารเกิดการขาดทุนอย่างหนัก จนอาจจะทำให้ธนาคารต้องล้มละลายเลยทีเดียว
Bank Run อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบธนาคารและเศรษฐกิจในวงกว้าง เขาจึงมีมาตรการป้องกัน เช่น โครงการประกันเงินฝาก ที่จะรับประกันความปลอดภัยให้กับเงินของลูกค้าในจำนวนที่กำหนดเป็นต้น
อย่างทางฝั่งสหรัฐฯ ก็มี Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) ที่รับประกันเงินฝากให้กับบัญชีของลูกค้าธนาคาร สูงสุดไม่เกิดบัญชีละ 250,000 ดอลลาร์
แต่ถ้าคุณฝากเงินไว้ 1,000,000 ดอลลาร์ แล้วเกิดธนาคารล้มละลายขึ้นมา 250,000 ดอลลาร์ คุณไปเอาที่ FDIC แล้วอีก 750,000 ดอลลาร์ คุณก็ต้องไปรอให้คดีความที่ฟ้องร้องกันจบ คุณถึงจะได้เงินคืน ที่ก็ไม่รู้ว่าคดีความจะจบเมื่อไหร่ แถมจบมาจะได้เงินคืนครบหรือเปล่าก็ไม่รู้
ถ้าหากว่าเหตุการณ์ Bank Run ไม่ได้มีการจัดการรับมืออย่างเหมาะสม อาจกลายเป็นสาเหตุที่นำไปสู่วิกฤตทางการเงิน (Financial Crisis) ที่ส่งผลร้ายแรงต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมได้
References: IMF, UOW, Nobelprize, Reuters
Graphic Ideas:
– ผู้ออกแบบ ออกแบบภาพด้วยสไตล์คอลลาจ โดยใช้ภาพธนบัตรสีเขียวเป็นภาพพื้นหลัง เพื่อให้ผู้ชมภาพระลึกถึงภาพจำของปึกธนบัตรได้อย่างรวดเร็ว
– กลางภาพ เป็นภาพผู้คนต่อแถวเพื่อไปธนาคาร แต่กลับพบว่าธนาคารอยู่ในสถานะ Bank Run โดยเป็นการอธิบายถึงสภาวะ Bank Run ของธนาคาร กล่าวคือ เป็นเหตุการณ์ที่ลูกค้าแห่มาถอนเงินจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น แต่ธนาคารไม่มีเงินสดจำนวนมากพอที่จะให้ถอน จนธนาคารต้องปิดตัวลง
– ผู้ออกแบบเลือกใช้สีแดงบนองค์ประกอบภาพอย่างป้าย Bank Run, เครื่องหมายคำถาม และเครื่องหมายตกใจ เพื่อแสดงถึงความร้ายแรงและภาวะวิกฤตของเหตุการณ์นี้